เป็นเครื่องช่วยนับวัน และ จัดระเบียบหน่วยเวลาหน่วยเหล่านี้โดยทั่วไปมาจากวงรอบทางดาราศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอในธรรมชาติ
ภาพลายเส้นแผ่นหินสลักแสดงปฏิทินของชนเผ่าแอซเท็ก (Aztec) ในทวีปอเมริกาเหนือที่ขอบวงเป็นตัวเลขในระบบนับเต็มยี่สิบแทนระบบนับเต็มสิบแผ่นหินนี้ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดี เมืองเม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก
วัน มาจากการหมุนของโลกรอบแกน ใน ๒๔ชั่วโมง เดือน มาจากการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ไปรอบโลก สัปดาห์ อาจมาจากดวงจันทร์ แต่ ปี มาจากการเคลื่อนที่ของโลกไปรอบดวงอาทิตย์ การวัดเวลานานของรอบต่าง ๆ ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายแต่การจัดระเบียบให้มีระบบวัดเวลาเป็นเรื่องต้องใช้ความคิดกันมาทุกยุคทุกสมัยแม้แต่ในเวลานี้เราก็ยังไม่มีปฏิทินที่แม่นยำแท้ทีเดียวปฏิทินที่เรามีใช้อยู่เวลานี้เป็นแต่เพียงดีพอสำหรับความต้องการของเรา
ได้มีการแก้ไขปฏิทินกันหลายครั้งเป็นเพราะรอบดาราศาสตร์ซึ่งใช้กำหนดวัน เดือน ปี ไม่ได้ จังหวะลงตัว ปี นับจากการที่โลกเคลื่อนที่ไปรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบนานประมาณ ๓๖๕ ๑/๔ วัน เดือน นับจากเวลาที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ไปรอบโลกหนึ่งรอบนานประมาณ ๒๙ ๑/๒ วันเศษ ดังนั้นปีหนึ่งจึงไม่เท่ากับ ๑๒ เดือน ซึ่งแบ่งไว้ให้เท่า ๆ กัน แต่ไปเท่ากับประมาณ ๑๒ ๑/๓ เดือนต่อมาไม่นานเดือนที่นับจากดวงจันทร์ และ ปีที่นับจากดวงอาทิตย์ก็มีการเหลื่อมล้ำกันปฏิทินซึ่งให้เดือนหนึ่งเท่ากับ ๓๐ วัน จึงต้องมีการแก้เป็นครั้งคราวเปรียบได้กับมีรถ ๒ คัน คันหนึ่งเป็นรถวิ่งช้า อีกคันหนึ่งเป็นรถวิ่งเร็ว วิ่งไปตาม ทางกลมทั้ง ๒ คัน รถช้าจะทำเวลาได้หนึ่งรอบ (หนึ่ง ปี) รถเร็วจะไปได้ ๑๒.๓๗ รอบ (เดือนของดวงจันทร์) รถเร็วจะผ่านรถช้าที่จุดต่าง ๆ ที่รอบทางนั้น เมื่อ รถช้าแล่นไปได้ ๑๙ รอบ รถเร็วจะผ่านรถช้าเกือบจะเป็นจุดเดียวกันเมื่อเวลาเริ่มออกรถพร้อม ๆ กันแล้วรอบของการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ก็จะตั้งต้นใหม่
ในสมัยบาบิโลเนีย (Babylonia) ประมาณ ๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวบาบิลอน (Babylonian) ได้ประดิษฐ์ปฏิทินอาศัยหลักคาบเวลาระหว่างดวงจันทร์วันเพ็ญ เฉลี่ยนาน ๒๙ ๑/๒ วัน และ แบ่งปีออกเป็น ๑๒ เดือน ทางจันทรคตินานรวม ๓๕๔ วัน ซึ่งสั้นกว่าสุริยคติประมาณ ๑๑ วัน ต่อมาอีกไม่นาน พิธีซึ่งเขากำหนดไว้ เช่น พิธีที่เกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวข้าวก็ตกในฤดูที่ไม่ตรงพระจึงได้แก้ไขปฏิทินโดยเพิ่มจำนวนวันหรือเดือนขึ้นให้ตรงกับวงรอบทางดาราศาสตร์เพื่อให้ตรงกับธรรมชาติขั้นแรกเพิ่มจำนวนเดือนขึ้นตามแต่พระจะเห็นชอบแล้วภายหลังเพิ่ม ๗ เดือน แบ่งกระจายในคาบ ๑๙ ปี เพื่อให้เดือน และ ปีได้ครบรอบธรรมชาติ
หน่วยเวลาตามสุริยคติซึ่งนับเป็นวันแบ่งย่อยออกเป็นชั่วโมง และ วินาที วัดความนานของเวลาเป็นวัน ๆ สำหรับเวลานานกว่าวันย่อมต้องมีการเกี่ยวข้องกับฤดูกาลเมื่อฤดูกาลกำหนดโดยตำแหน่งแกนโลกนับเนื่องจากดวงอาทิตย์ และ ดวงอาทิตย์ก็กำหนดตำแหน่งที่ของจักรราศีเมษ (vernal equinox) หน่วยเวลานานที่ใช้จึงเป็นปีซึ่งเป็นอันตรภาคเวลาระหว่างเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ถึงจุดตั้งต้นจักรราศีเมษได้บรรจบครบรอบปีชนิดนี้นาน ๓๖๕.๒๔๑๙ วัน เวลาสุริยคติปานกลางยังมีเศษทศนิยมต่อไปอีกมากมายหลายตัวกำหนดค่าเป็นจำนวนเลขลงตัวพอดีไม่ได้เป็นเหตุให้การวัดหน่วยเวลา ยุ่งยากกว่าการวัดอื่น ๆ เช่น ระยะยาว น้ำหนัก หรือค่า ของหน่วยใหญ่ ๆ ซึ่งนิยามกำหนดไว้แน่นอนว่ามีจำนวนเล็กกว่าเท่าใด เช่น ๑ ฟุตมี ๑๒ นิ้ว และ ๑ บาท มี ๑๐๐ สตางค์
เวลาสุริยคติปานกลางเป็นเวลากำหนดจากดวงอาทิตย์สมมุติขึ้นให้เคลื่อนที่ไปตามเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้าด้วยความเร็วเชิงมุมซึ่งกำหนดให้เท่ากับที่ดวงอาทิตย์ปรากฏเคลื่อนที่ไปตามสุริยวิถี (ecliptic) ถึงรอบที่ราศีเมษพร้อมกันปฏิทินที่ใช้กันในประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนามีชื่อว่า ปฏิทินเกรกอเรียน ได้ชื่อจากสันตะปาปาเกรกอรีที่ ๑๓ (Gregory XIII) เป็นปฏิทินทางการของนิกายโรมันคาทอลิก ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๕๘๒ ปฏิทินนี้ใช้แทนปฏิทินจูเลียน (Julian calendar) ซึ่งจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ได้นำมาใช้ที่กรุงโรมเป็นครั้งแรก
ในสมัยแรก ๆ ของกรุงโรมชาวโรมันใช้ปฏิทินนับเนื่องจากดวงจันทร์ปีหนึ่งมี ๑๐ เดือน ใช้เพิ่มวันขึ้นตามความเหมาะสมให้ตรงกับฤดูกาลเป็นครั้งคราวถึงแม้ว่าในศตวรรษที่ ๘ ก่อนคริสต์ศักราช ได้เปลี่ยนให้ปีหนึ่งมี ๑๒ เดือน ชื่อเดือน ๔ เดือนสุดท้ายยังคงใช้กันต่อมาจนบัดนี้คือ กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม ซึ่งมีความหมายในภาษาละตินเป็นเดือนที่ ๗, ๘, ๙ และ ๑๐ ตามลำดับ
|
|
ต่อมาในสมัยจูเลียส ซีซาร์ ซึ่งเป็นนักการเมือง นักประวัติศาสตร์ และ แม่ทัพผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และ มีอำนาจ ปรากฏว่า ปฏิทินโรมันอยู่ในสภาพยุ่งเหยิงคลาดเคลื่อนกับฤดูกาลกว่าสองเดือนโดยการแนะนำของนักดาราศาสตร์กรีก-อียิปต์ ชื่อ โซซิเจเนส (So- sigenes) จูเลียส ซีซาร์จึงได้สั่งเปลี่ยนแปลงปฏิทิน ให้ปีที่ ๔๖ ก่อนคริสต์ศักราชมี ๔๔๕ วัน และ เพิ่ม วัน ๒๓ วัน ที่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ และ เพิ่มวัน ๖๗ วันระหว่างเดือนพฤศจิกายน และ ธันวาคม จึงนับเป็นปีที่มีความสับสน นอกจากนี้ จูเลียส ซีซาร์ ยังสั่งให้เพิ่มวันในเดือนกุมภาพันธ์ทุกสี่ปีให้เป็นปีที่ ๓๖๖ วัน ซึ่งเราเรียกกันว่า ปีอธิกสุรทิน ทั้งนี้เพื่อให้คงสภาพตามฤดูกาลไปได้นานการเปลี่ยนตามเกณฑ์จะเหมาะสมดีถ้าปีตามศัพท์นิยามมี ๓๖๔.๒๕ วัน ซึ่งใน ๔ ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น ๑ วันพอดีแต่ตามความเป็นจริงปีหนึ่งนานน้อยกว่า ๓๖๕.๒๕ เกือบ .๐๐๘ ของวัน ดังนั้นในหนึ่งพันปีปฏิทินจูเลียนจะคลาดเคลื่อนไปเกือบ ๘ วัน |