Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลักษณะเฉพาะของเพลงพื้นบ้าน

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
10,574 Views

  Favorite

ลักษณะเฉพาะของเพลงพื้นบ้าน

เพลงพื้นบ้านเป็นบทร้อยกรองท้องถิ่นที่จดจำสืบต่อกันมา และนำมาร้อง มาขับลำ เพื่อความบันเทิง เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ ที่แพร่หลายในกลุ่มชาวบ้าน มีลักษณะเฉพาะที่สรุปได้ดังนี้

๑. เพลงพื้นบ้านเป็นงานของกลุ่มชาวบ้านสืบทอดจากปากสู่ปาก อาศัยการฟังและจำ ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร คนในกลุ่มสังคมเดียวกันมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบทเพลง ชาวบ้านร่วมร้องด้วยกัน หรือร้องโต้ตอบ หรือเป็นลูกคู่ หรืออย่างน้อย ก็เคยฟังและรู้จักเนื้อเพลง

๒. เพลงพื้นบ้านเป็นเพลงที่ไม่มีกำเนิดแน่นอน เนื่องจากสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน จนไม่อาจหาต้นตอที่แน่ชัดได้ว่า มีมาตั้งแต่สมัยใด หรือใครเป็นผู้แต่ง

๓. เพลงพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องและทำนองไม่ตายตัว เนื้อร้องหรือบทเพลง สามารถขยายให้ยาวไปเรื่อยๆ หรือตัดทอนให้สั้นได้ แล้วแต่ความต้องการของผู้ร้อง หรือตามสถานการณ์ จึงพบเสมอว่า เพลงพื้นบ้านแม้ว่าเป็นชื่อเดียวกัน แต่มีเนื้อร้องแตกต่างกันไป ซึ่งอาจเกิดจากผู้ร้องในแต่ละท้องถิ่น และระยะเวลาที่สืบทอดมา เช่น เพลงกล่อมเด็กที่ชื่อว่า เพลงเจ้าขุนทอง เป็นเพลงที่แพร่หลายมาก และเป็นเพลงที่มีสำนวนหลากหลายมากเพลงหนึ่งด้วย

เพลง เจ้าขุนทอง สำนวนที่แพร่หลายมาก

    วัดเอ๋ยวัดโบสถ์    ตาลโตนดเจ็ดต้น
ขุนทองไปปล้น    ป่านฉะนี้ไม่เห็นมา
คดข้าวใส่ห่อ      ถ่อเรือไปหา
เขาก็ร่ำลือมา      ว่าขุนทองตายแล้ว
เหลือแต่กระดูกแก้ว     เมียรักจะไปปลง
ขุนศรีถือฉัตร      ยกกระบัตรถือธง
ถือท้ายเรือหงส์    ปลงศพเจ้าขุนทอง

เพลง ขุนทอง สำนวนนางชุ่ม บัวทอง ชาวบ้านอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

   ตาลเอย    ตาลโตนดอยู่เจ็ดต้น
นายทองไปปล้น     ป่านฉะนี้ไม่เห็นมาคด
ข้าวใส่ห่อ        ถ่อเรือไปหา    
ลือเล่าไปมา       ว่าขุนทองตายแล้ว
เหลือแต่กระดูกลูกแก้ว    แผ้วไว้กลางดง
นายศรีถือฉัตร      ยกกระบัตรถือธง
ถือท้ายเรือหงส์     ปลงศพเจ้าขุนทอง
เรือก็ล่มจมคว่ำ    ปากน้ำแม่กลอง

ส่วนทำนองเพลงพื้นบ้านนั้น ไม่มีการบันทึกโน้ตดนตรีไว้ จึงไม่มีทำนองใดที่ถูกต้องที่สุด และพบว่า เพลงพื้นบ้านแม้ชนิดเดียวกัน ก็มีลีลาการร้องทำนองแตกออกไปได้หลายทาง

๔. เพลงพื้นบ้านมีลักษณะคำประพันธ์ร้อยกรองที่จัดจังหวะคำและสัมผัสง่ายๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ดังเช่นรูปแบบของเพลงพื้นบ้านภาคกลาง นิยมคำกลอนที่ลงท้ายด้วยสระเสียงเดียวกันไปเรื่อยๆ เป็นสัมผัสคล้องจองกันที่เสียงสระ ไม่ใช่รูปสระ ที่นักวิชาการเรียกว่า "กลอนหัวเดียว" แต่พ่อเพลงแม่เพลง (ผู้ร้องเพลงพื้นบ้านฝ่ายชาย-ฝ่ายหญิง) นิยมเรียกว่า กลอนไล กลอนลา กลอนลี 

ตัวอย่าง กลอนไล 

กลอนไลเป็นที่นิยมเพราะหาคำได้มาก คือ คำสุดท้ายของวรรคหลังลงท้ายด้วยเสียงสระไอทุกคำ และใช้รูปสระได้ทั้ง ไอ ใอ อาย

ธรรมเนียมออกป่า    ละก็ต้องชมนก    ว่าธรรมเนียมเขารก    ละก็ต้องชมไม้
ก็นั่นยี่โถกระถิน    ซ่อนกลิ่นมีถม    ก็โน่นแน่ะลั่นทม    อยู่ในเมืองไทย
ต้นทองสองต้น    ก็ขึ้นอยู่ริมทาง    ก็ลอบเข้าถากเข้าถาง    ว่าจะปลูกไปขาย
ทั้งใต้ต้นกระท้อน      มีทั้งดงกระทือ    พี่ขี้เกียจจะถือ    ทั้งแม่จะถอนเอาไป
โน่นแน่ะต้นกระเบา    ขึ้นอยู่ที่คันบ่อ    ต้นบัวรูบ๋อ    มันอยู่ในบ่อหนึ่งใบ
อุ๊ยในบ่อมีบอน      จะตัดแบกไปบ้าน    แกงกินเสียให้บาน     เชียวนะตะไท
(เพลงฉ่อย  สำนวนนายเผื่อน  โพธิ์ภักตร์)

ตัวอย่าง กลอนลา (กลอนลา คือ คำสุดท้ายของวรรคหลังลงท้ายด้วยเสียงสระอาทุกคำ)

จะยกบายศรีขึ้นสี่มุม   
ลูกจะไหว้พระภูมิที่นา
ไหว้ทั้งแม่ข้าวเจ้า ทั้งแม่ข้าวเหนียว    
เสียแหละ เมื่อลูกนี้เที่ยวกันมา
ลูกจะไหว้แม่โพสพ   
สิบนิ้วนอบนบ  นั่งหน้า
ขอให้มาเป็นมงคล มาสวมบนเกศา    
กันแต่เมื่อเวลานี้เอย
(เพลงเรือ  สำนวนนางบัวผัน จันทร์ศรี)

ตัวอย่าง กลอนลี (กลอนลี คือ คำสุดท้ายของวรรคหลังลงท้ายด้วยเสียงสระอีทุกคำ)

     เอิงเอย ถ้อยคำร่ำไข ว่ากันในกลอนลี
ไอ้เกียนก็หักลงคาห้วย    เรียกน้องมาช่วยพี่ที
ขอปูนสักเต้า    จะทาข้อเพลากันเสียให้ดี
ฉันอั้นอ้นจนใจ    จะทำยังไงกันขาพี่
ฉันไม่ใช่คนสุพรรณ    ทั้งมีดทั้งขวานแม่ก็ไม่มี                                
(เพลงเต้นกำ  สำนวนนางบัวผัน  จันทร์ศรี)

กลอนที่นิยมใช้กันมากในเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ได้แก่ กลอนไล กลอนลา กลอนลี ตามชื่อที่พ่อเพลงแม่เพลงเรียก นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกลอน เช่น กลอนลัน กลอนลัว กลอนลูด กลอนติ๊ด กลอนแชะ สุดแล้วแต่ผู้ร้องจะคิดประดิษฐ์ขึ้นมา เพลงพื้นบ้านของภาคอื่นๆ ก็มีลักษณะคำประพันธ์คล้ายกับภาคกลาง คือ มีการลงเสียงสัมผัสท้ายวรรคเช่นเดียวกับกลอนหัวเดียว โดยให้ความสำคัญกับเสียง และจังหวะการร้อง มากกว่าความเคร่งครัดในจำนวนคำและสัมผัส

๕. จำนวนคำและสัมผัสไม่กำหนดแน่นอนตายตัว กลอนเพลงพื้นบ้านเกิดจากการร้อยคำ ๖ - ๑๐ คำเข้าด้วยกันในแต่ละวรรค จำนวนคำจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจังหวะของเสียงที่ลงและผู้ร้องเป็นสำคัญ ฉะนั้นเพลงพื้นบ้านทุกประเภท จึงมีลักษณะคำประพันธ์คล้ายกัน หรืออาจใช้กลอนบทเดียวกันแต่ร้องหลายทำนอง จะพบว่า พ่อเพลงแม่เพลงในภาคกลาง ใช้กลอนชุดเดียวกัน แต่ร้องได้ทั้งเพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงระบำบ้านนา หรือเพลงฉ่อย 

๖. เพลงพื้นบ้านส่วนใหญ่มีความเรียบง่ายในถ้อยคำ การร้องและการแสดงออก แต่แฝงด้วยความคมคาย เลือกใช้คำ สำนวนโวหาร และความเปรียบง่ายๆ ที่ชาวบ้านใช้โดยทั่วไป ไม่มีศัพท์ยากที่ต้องแปล ถ้าเปรียบเทียบสัญลักษณ์อย่างไร ก็สามารถแปลความหมายได้โดยง่าย เช่น

      จะเสี่ยงสัตย์อธิษฐาน         ขอให้เป็นพยาน จะคลาดไป
ถ้าน้องเป็นน้ำ  ตัวพี่จะตามเป็นปลา    มันจะได้เย็นอุรา  พี่ชาย
ถ้าน้องเป็นข้าว  พี่จะขอเป็นเคียว        พี่จะได้ตามไปเกี่ยว  ฉาดไป
ถ้าน้องเป็นไม้  พี่จะขอเป็นนก        จะได้ชื่นอก  ชื่นใจ
      เหลืองเอยใบยอ         หอมช่อมะเขือเปราะ
รักกันให้มั่น                  เหมือนเชือกขันชะเนาะ
สามปีสี่เดือน                  ขออย่าให้เลื่อนสักเปลาะ
รักน้องให้มั่นเหมาะใจเอย
(เพลงเรือ  สำนวนหลวงพ่อพร้อม  อินทร์วิไล)

    พิษฐานเอย    มือหนึ่งถือพาน พานดอกคัดเค้า
ขอให้สระของเรามีปลา    ขอให้นาของเรามีข้าว
มีทั้งบ้านทั้งเรือน        มีทั้งเพื่อนร่วมเหย้า
พิษฐานวานไหว้        ขอให้ได้ดังใจข้าคิด                                
(เพลงพิษฐาน ของชาวนครสวรรค์)

ส่วนความเรียบง่ายในการแสดงออกจะเห็นว่า ชาวบ้านร้องและเล่นเพลงพื้นบ้าน โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย สิ่งที่ช่วยให้เพลงไพเราะ นอกจากขึ้นอยู่กับการใช้ถ้อยคำแล้ว ก็คือการปรบมือหรือการใช้เครื่องประกอบจังหวะง่ายๆ  ได้แก่ กรับ ฉิ่ง และกลอง หรืออาจไม่ได้ใช้เครื่องดนตรีชนิดใดเลย นอกจากเสียงเอื้อนให้เกิดบรรยากาศและอารมณ์เท่านั้น บางทีก็นำอุปกรณ์ที่ใช้ทำกิจกรรมอยู่นั้น มาประกอบการร้องรำ เช่น เพลงเกี่ยวข้าว ก็ใช้รวงข้าวและเคียวซึ่งถืออยู่มาประกอบ สิ่งสำคัญสำหรับเพลงที่ร้องกันหลายๆ คน คือ การอาศัยเสียงร้องรับ ร้องกระทุ้งของลูกคู่ ซึ่งจะช่วยให้เพลงนั้น สนุกสนานครื้นเครงยิ่งขึ้น

๗. เน้นความสนุกสนานเป็นหลัก ซึ่งจะแสดงออกมาในรูปของการใช้คำสองแง่สองง่าม หรือคำที่เรียกว่า "กลอนแดง"เป็นภาษาของชาวเพลงภาคกลาง หมายถึง กลอนที่มีคำกล่าวถึงอวัยวะเพศ และพฤติกรรมทางเพศอย่างตรงไปตรงมา หรือบางครั้ง ก็ใช้คำผวนแทน คำเหล่านี้ปกติถือว่าเป็นคำหยาบ แต่เมื่อนำมาใช้ในพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิม ที่ปรากฏในกลุ่มชน ซึ่งประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม และกสิกรรม ถือว่าเป็นการช่วยเพิ่มผลผลิต ส่งผลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์

ตัวอย่าง กลอนแดง

หญิง :    พี่เอ๋ยพี่มาถึง พี่จะมาพึ่งของรัก       แม่หนูยังหนัก  น้ำใจ
    ไอ้ตรงแอ่งที่ในห่อผ้า           พี่เอ๋ยแกอย่าได้หมาย
    พี่พึ่งเงินจะกอง                    พี่พึ่งทองจะให้
    พี่จะพึ่งอีแปะ               จนใจน้องแกะไม่ไหว (เอ่ชา)
ชาย :     ทำไมกับเงินกับทอง           สมบัติเป็นของนอกกาย
    พี่จะพึ่งหนังมาหุ้มเนื้อ           จะได้ติดเป็นเยื่อเป็นใย (เอ่ชา)                                
(เพลงฉ่อย  ของโรงพิมพ์วัดเกาะ)

เนื้อหาของเพลงแม้แต่ตอนที่ร้องรำพันถึงความทุกข์หรือความผิดหวัง ก็ยังใช้ถ้อยคำที่ออกไปในทางสนุกสนาน มากกว่าจะให้คนฟังเกิดความรู้สึกเศร้าใจ  ดังตัวอย่างเพลงเรือ ในบทชิงชู้ ซึ่งพ่อเพลงร้องเป็นผัวที่ถูกเกณฑ์ไปทัพ กลับมาถึงบ้าน เมียหนีไปแล้ว

    พอถึงบ้านเห็นสะพานแหงนเถ่อ        ข้าก็ร้องเอ้อเฮอ  ใจหาย
เงียบไปทั้งไก่ เงียบไปทั้งกา            อีกทั้งหมูทั้งหมา มันให้น่าสงสัย
สะอึกสะอื้นฉันเลยขึ้นกระได        ผู้คนไปไหนกันเอย
พิศดูเหย้าเรือนไปเหมือนอย่างบ้านตาเถร        เสาดั้งโอนเอนอย่างกะเรือนผีตาย
เหย้าเรือนเคหาเหมือนป่าช้าผีอยู่        มันไม่มีคนมีผู้  หรืออย่างไร
ทั้งฟากก็ตก ปีกนกก็หัก            รอยคนมาชักเอาไปใหม่ๆ
แปลานปั้นลมไม้ข่มหัวกลอน        อีกทั้งฝากระดอนออกไป
พี่มาสงสัย เอ๊ะในใจของกู            ว่าไอ้ไม้เสียบหนู มันไปเข้ารูของใคร
พิศดูครอบครัวมันให้ชั่วลามก        ดูมันสกปรก ไม่ค่อยหาย
หม้อข้าวก็กลิ้ง หม้อแกงรึก็กลิ้ง        ฝาละมีตีฉิ่งกันอยู่ที่ข้างครัวไฟ
ไอ้ครกกะบากมันก็เล่นละคร            ไอ้สากกะเบือก็นอน เป็นไข้
หอน้อยห้องในมีแต่ขี้ไก่ขี้เป็ด            มันไม่มีคนเขาเช็ดหรือยังไง                        
(เพลงเรือ สำนวนหลวงพ่อพร้อม  อินทร์วิไล)

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow