Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลักษณะที่ดีของปลากัด

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
4,581 Views

  Favorite

ลักษณะที่ดีของปลากัด

การดูลักษณะของปลากัดจะพิจารณาใน ๓ ส่วนหลัก คือ สภาพความสมบูรณ์และอาการการแสดงออกลักษณะรูปทรงและลักษณะสี

๑. สภาพความสมบูรณ์และอาการการแสดงออก

       ปลากัดที่ดีต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ไม่มีแผลตามลำตัวและครีบเกล็ดไม่หลุดพอง ครีบไม่ฉีกขาด มีกิริยาอาการกระฉับกระเฉงแผ่พองเมื่อถูกกระตุ้น

๒. ลักษณะรูปทรง

       ก. ลำตัว
       ควรเป็นรูปกระสวยที่ดึงกว้างออกบริเวณครีบท้องหรือตะเกียบส่วนด้านบนลาดลงสู่หัวและหางโดยทุกด้านเรียวเข้าสู่โคนหางความยาวของลำตัวควรเป็น ๓ - ๔ เท่าของความกว้างจากบนลงล่างขนาดของลำตัวจะต้องสมส่วนกับขนาดครีบถ้าเป็นปลากัดหางคู่อาจมีลำตัวกว้างกว่าปลากัดหางเดียว
       ข. ครีบ 
       ควรแผ่สวยงามแผ่นครีบจะต้องเต็มแข็งแรงไม่ชำรุดขอบของแผ่นครีบควรเรียบและไม่ฉีกขาด ยกเว้นปลาที่มีก้านครีบยื่นเลยแผ่นครีบก้านครีบควรจะตรงและขนานหรือแผ่ออกเป็นระเบียบจากฐานครีบที่อยู่ติดลำตัวสู่ขอบนอกของครีบก้านครีบอาจยื่นยาวเลยแผ่นครีบได้ซึ่งในกรณีนี้ทุกครีบควรมีลักษณะเหมือน ๆ กัน
       ครีบหลัง ปลากัดหางเดียวควรมีครีบหลังลักษณะเป็นรูปหยดน้ำฐานกว้างหรือรูปเปลวไฟที่เอนไปทางด้านหลังครีบควรกว้างและเต็มสมบูรณ์ ส่วนปลากัดครีบยาวครีบหลังควรซ้อนทับต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกันกับครีบหาง สำหรับปลากัดครีบสั้นขอบครีบด้านหลังควรสอดรับเป็นแนวเดียวกันกับขอบด้านหลังของครีบก้น นปลากัดหางคู่ครีบหลังจะใหญ่กว่าปลากัดหางเดียวและควรมีลักษณะใกล้เคียงกับครีบก้นมากที่สุดลักษณะครีบที่สมบูรณ์จะเป็นเสมือนเงาในกระจกของครีบก้น
       ครีบหาง เป็นครีบที่มีรูปแบบหลากหลายมากที่สุดรูปแบบทั่วไปสำหรับปลาหางเดียวอาจเป็นหางกลม หางกลมปลายแหลม หางรูปสามเหลี่ยม หางครึ่งวงกลม หางย้วยแบบผ้าม่าน และหางรูปใบโพธิ์ซึ่งปลายย้อยลง หางทุกแบบควรแผ่เต็มสมบูรณ์ได้สัดส่วนควรมีการกระจายของก้านครีบเท่ากันระหว่างส่วนบนและส่วนล่างของเส้นที่ลากผ่านจุดกลางของโคนครีบขอบด้านนอกโค้งได้รูป สำหรับปลาหางเดียวที่มีหางกลม หางกลมปลายแหลม หางรูปสามเหลี่ยม และหางครึ่งวงกลม หางครึ่งบน และครึ่งล่าง ควรเป็นเสมือนเงาในกระจกซึ่งกันและกัน  ส่วนปลาหางเดียวที่มีหางย้วยแบบผ้าม่าน หางควรแผ่ใหญ่สมบูรณ์ปลาหางรูปใบโพธิ์ซึ่งปลายย้อยลงครีบหางควรกว้างขอบครีบควรโค้งได้รูปสวยงามเรียวสู่ส่วนปลายในกรณีของปลาหางคู่ลักษณะหางอาจเป็นลักษณะที่เชื่อมต่อกันจนปลายหางเกือบเป็นเส้นตรงหรือเว้าเล็กน้อยหรือเว้ามากเป็นรูปหัวใจหรือหางแยกที่ซ้อนทับเกยกันหรือหางที่แยกจากกันเต็มที่โดยไม่ซ้อนทับหรือเป็นหางที่เว้าลึกในระดับต่าง ๆ แต่ยังไม่แยกกันเด็ดขาด ลักษณะที่ดีคือหางทั้งสองข้างควรเป็นเสมือนเงาในกระจกซึ่งกันและกัน

 

ปลากัด
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30


       ครีบก้น ลักษณะครีบที่ดีควรมีขอบครีบส่วนหน้าและส่วนหลังขนานกันและค่อย ๆ โค้งไปทางด้านหลัง ขอบด้านหน้าและขอบด้านหลังจะต้องไม่เรียวสอบแหลมเข้าหากัน ในปลากัดครีบยาว ลักษณะครีบก้นที่ดีจะต้องแผ่กว้างคล้ายสี่เหลี่ยมและซ้อนทับเป็นเนื้อเดียวกันกับครีบหาง  ในปลากัดครีบสั้นลักษณะที่ดีจะต้องคล้ายสี่เหลี่ยมที่ด้านหน้าแคบลบมุมโค้งเข้าสู่ตัวปลาและโค้งกว้างออกมาทำมุมแหลมกับขอบด้านหลังบรรจบกันเป็นชายน้ำเรียวแหลมขอบด้านหลังโค้งเข้าเล็กน้อยและควรกว้างประมาณ ๔ เท่าของขอบด้านหน้า
       ครีบท้อง หรือตะเกียบ  หรือทวน ลักษณะที่ดีควรมีลักษณะเหมือนใบมีดที่มีด้านคมอยู่ด้านหลังขอบด้านหน้าโค้งเข้าเล็กน้อย ปลายแหลม ครีบทั้งคู่ควรมีความยาวและขนาดเท่ากัน และไม่ไขว้กัน ครีบจะต้องไม่สั้นหรือกว้างเกินไปและไม่ยาวหรือแคบเกินไป
       ครีบอก ควรเป็นครีบที่สมบูรณ์กว้างและยาว

๓. ลักษณะสี

สีของปลากัดแบ่งตามมาตรฐานได้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ ปลากัดสีเดียว ปลากัดสองสี และปลากัดสีลวดลาย
      ก. ปลากัดสีเดียว
      เป็นปลากัดที่มีสีเดียวทั้งลำตัวและครีบและเป็นสีโทนเดียวกันทั้งหมด ปลากัดสีเดียวแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ ปลากัดสีเดียวสีเข้ม และปลากัดสีเดียวสีอ่อนและอาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ลงไปได้อีกตามรายละเอียดของสี  ปลากัดสีเดียวที่สมบูรณ์จะต้องไม่มีสีอื่นปะปนในส่วนของลำตัวและครีบเลยยกเว้นที่ตาและเหงือก
      ข. ปลากัดสองสี
      ลักษณะที่สำคัญคือลำตัวจะต้องมีสีเดียวและครีบทั้งหมดจะต้องมีสีเดียวเช่นกัน แต่สีของครีบจะต้องต่างกับสีของลำตัว ปลากัดสองสีอาจแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  • ปลากัดสองสีชนิดลำตัวสีเข้ม ปลากัดสองสีชนิดนี้จะมีลำตัวสีเข้มสีใดสีหนึ่ง เช่น สีแดง สีดำ สีน้ำเงิน สีเขียว และครีบก็ต้องเป็นสีเดียว แต่จะเป็นสีที่ต่างกับสีลำตัวโดยอาจเป็นสีเข้มอื่น ๆ หรือเป็นสีอ่อนก็ได้ ลักษณะที่ดีของปลากัดสองสีชนิดลำตัวสีเข้มที่สำคัญคือ ต้องมีสีลำตัวและสีครีบตัดกันอย่างชัดเจนโดยสีลำตัวและสีครีบแยกกันตรงบริเวณที่ครีบต่อกับลำตัว
  • ปลากัดสองสีชนิดลำตัวสีอ่อน เป็นปลากัดที่มีลำตัวสีอ่อนสีใดสีหนึ่งและมีครีบอีกสีหนึ่งที่ต่างจากสีลำตัวอาจเป็นสีอ่อนหรือสีเข้มก็ได้ ลักษณะที่ดีของปลากัดสองสีชนิดลำตัวสีอ่อนที่สำคัญคือ สีลำตัวและสีครีบต้องตัดกันอย่างชัดเจน ครีบสีเข้มจะดีกว่าครีบสีอ่อน สีลำตัว และสีครีบ แยกกันตรงบริเวณส่วนต่อระหว่างครีบและลำตัว

      ค. ปลากัดสีลวดลาย
      เป็นปลากัดที่ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทสีเดียวและประเภทสองสี ประกอบด้วยกลุ่มย่อย ๆ ดังนี้
      ปลากัดลายผีเสื้อ เป็นปลากัดที่มีสีเป็นลวดลายรูปแบบเฉพาะที่บริเวณครีบโดยครีบจะมีสีเป็นแถบ ๆ ขนานกับเส้นวงรอบลำตัว การพิจารณาลักษณะที่ดีของปลากัดลายผีเสื้อจะพิจารณาที่การตัดกันของแถบสีและความคมของขอบสีเป็นหลักไม่ใช่ดูที่สีของลำตัวและครีบเหมือนปลากัดชนิดอื่นทั่ว ๆ ไป ปลากัดที่มีสีของครีบซึ่งแถบสีด้านในเป็นสีเหลืองและแถบด้านนอกเป็นสีเหลืองอ่อนจึงไม่จัดอยู่ในประเภทลายผีเสื้อแนวของแถบสีบนครีบควรลากเป็นรูปไข่รอบตัวปลา ปลากัดลายผีเสื้อแบ่งออกเป็น ๒ ชนิดย่อย คือ
      (๑) ลายผีเสื้อสองแถบสี ครีบประกอบด้วยแถบสีที่ตัดกันชัดเจน ๒ แถบ ลักษณะที่ดีคือ แถบสีทั้งสอง ควรจะมีความกว้างเท่ากันอย่างละครึ่งของความกว้างของครีบ
      (๒) ลายผีเสื้อหลายแถบสี หมายถึงปลากัดลายผีเสื้อที่สีของครีบมีตั้งแต่ ๓ แถบสีขึ้นไป ลักษณะที่ดีคือ ความกว้างของแถบสีแต่ละแถบควรเท่ากับความกว้างของครีบหารด้วยจำนวนแถบสี สีลำตัวและสีครีบแถบแรกที่อยู่ชิดลำตัวอาจเป็นสีเดียว สองสี ลายหินอ่อน หรือหลากสีก็ได้
      ปลากัดลายหินอ่อน เป็นปลากัดในชุดของปลาที่มีสีเป็นลวดลายรูปแบบเฉพาะเช่นเดียวกันโดยครีบจะไม่มีแถบสีและบนลำตัวมีสีอื่นแต้มเป็นลวดลายหินอ่อน ปลากัดลายหินอ่อนแบ่งออกเป็น ๒ ชนิดย่อยคือ
(๑) ลายหินอ่อนธรรมดา ปลากัดชนิดนี้ไม่มีสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีเทาปรากฏในลายหินอ่อน บนครีบก็ไม่ปรากฏสีเหล่านี้เช่นกัน ลำตัวปลามีสีดำเข้มหัวหรือหน้าขาว ลวดลายประกอบด้วยสีดำ สีเนื้อ และสีขาวเท่านั้น
(๒) ลายหินอ่อนสี สีบริเวณหน้าและคางยังคงลักษณะเป็นสีขาว หรือสีเนื้อ แต่ลำตัวและครีบอาจปรากฏสีผสมของสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีเทา ลวดลายที่ลำตัวของปลากัดลายหินอ่อนสีอาจประกอบด้วยสีเหล่านี้ แต่จะต้องมีสีเนื้ออยู่ด้วยลวดลายสีที่ตัดกันอย่างคมชัดเป็นลักษณะที่ดีส่วนลวดลายที่มีเฉพาะสีแดงและสีเขียวถือว่าไม่ดีพอ

      ปลากัดหลากสี เป็นกลุ่มปลากัดที่มีสีตั้งแต่ ๒ สีขึ้นไปที่ไม่จัดอยู่ในประเภทลวดลายที่มีรูปแบบเฉพาะ ลักษณะที่ดีของปลากัดหลากสีคือ แต่ละสีต้องมีการตัดกันที่ชัดเจนโดยสีต่าง ๆ ที่ปรากฏเป็นสีปกติที่พบในปลากัดทั่วไป อย่างไรก็ตามปลากัดที่มีสีแตกต่างเพียงแค่บริเวณหัวหรือปลายครีบท้องไม่จัดอยู่ในกลุ่มนี้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow