Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ธรรมชาติของปลากัด

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
2,168 Views

  Favorite

ธรรมชาติของปลากัด

       ปลาป่า หรือ ปลาลูกทุ่ง ที่พบในธรรมชาติตามท้องนา หนองบึง เป็นปลากัดขนาดเล็กที่ไม่มีลักษณะเด่นสะดุดตา ปลาป่าขนาดใหญ่ที่สุดมีขนาดไม่เกิน ๕ เซนติเมตร ในสภาพปกติสีอาจเป็นสีน้ำตาล สีเทาหม่น หรือสีเขียวและอาจมีแถบสีดำจาง ๆ พาดอยู่ตามความยาวของลำตัวก็ได้ ปลาป่าอาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ระหว่างพรรณไม้น้ำในที่ตื้นความพิเศษของปลากัดอยู่ที่ความเป็นนักสู้โดยธรรมชาติ เมื่อพบปลาตัวอื่นจะเข้าต่อสู้กันทันทีและปลากัดตัวผู้สามารถเปลี่ยนสีให้งดงามเมื่อถูกกระตุ้นในสภาวะตื่นตัว ครีบทุกครีบจะแผ่กางออกเต็มที่แผ่นหุ้มเหงือกขยายพองตัวออกพร้อมกับมีสีน้ำเงินหรือสีแดงปรากฏขึ้นชัดเจนในโทนสีต่าง ๆ ทำให้ดูสง่าสวยงาม  ปลากัดเป็นปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจอยู่ที่โพรงเหงือกทั้งสองข้างทำให้สามารถใช้ออกซิเจนได้โดยตรงจากอากาศจึงดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างทนทานในที่ที่มีออกซิเจนต่ำโดยการขึ้นมาฮุบอากาศที่ผิวน้ำเป็นระยะ ๆ ในฤดูแล้ง ถ้าน้ำในแหล่งน้ำแห้งลงปลากัดอาจจะเข้าไปอาศัยอยู่ในรูปูนาตามขอบหนอง ชายบึง ริมคู และร่องรางน้ำตื้น ๆ เมื่อน้ำเริ่มลดไปจนตลอดหน้าแล้งปูก็จะขุดรูลึกตามระดับน้ำลงไปเรื่อย ๆ พอต้นฤดูฝนปลาจะกลับออกมาแพร่พันธุ์ใหม่และกระจายออกไปหากินตามที่มีหญ้ารก ๆ ในเขตน้ำตื้นปลากัดเป็นปลาที่ชอบน้ำตื้นจึงไม่พบตามแม่น้ำลำคลอง หนอง บึงที่มีน้ำลึก ปลากัดเป็นปลาที่มีอายุสั้นส่วนใหญ่จะมีอายุไม่เกิน ๒ ปี

 

ปลากัดตัวผู้เป็นนักสู้โดยธรรมชาติ
ปลากัดตัวผู้เป็นนักสู้โดยธรรมชาติ เมื่ออยู่ในสภาพเตรียมต่อสู้จะแผ่ครีบ แผ่นหุ้มเหงือก และเปล่งสี ทำให้ดูสง่าสวยงาม


       ในการผสมพันธุ์วางไข่ปลากัดจะก่อหวอดหรือสร้างรังขึ้นมาก่อนโดยปลากัดตัวผู้เป็นผู้สร้างดูแลไข่และลูกอ่อน รังเป็นหวอดที่ก่อขึ้นจากฟองอากาศที่ฮุบเข้าไปผสมกับเมือกในปากแล้วนำมาพ่นเป็นหวอดบริเวณผิวน้ำเพื่อเป็นที่สำหรับฟองไข่และลูกอ่อนเกาะติดปลาตัวผู้จะเลือกทำหวอดให้เกาะติดอยู่กับใบไม้หรือพรรณไม้น้ำ หลังจากที่เกี้ยวพาราสีจนตัวเมียยินยอมแล้วตัวผู้จะทำการรัดตัวเมียซึ่งจะปล่อยไข่ออกมาตัวผู้ก็จะปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสมกันภายนอกไข่จะถูกปล่อยออกมาเป็นชุด ๆ และจมลงสู่พื้นอย่างช้า ๆ พ่อปลาจะใช้ปากฮุบฟองไข่แล้วนำไปพ่นไว้ที่ฟองหวอดจนกว่าไข่จะหมดซึ่งอาจใช้เวลานับชั่วโมง  หลังจากนั้นพ่อปลาจะเป็นผู้ทำหน้าที่เฝ้าระวังไข่และลูกอ่อนในการผสมพันธุ์แต่ละครั้งแม่ปลาจะวางไข่ประมาณ ๒๐๐ - ๗๐๐ ฟอง ลูกปลาที่เพิ่งฟักออกเป็นตัวจะพักอยู่ภายใต้หวอดจนกว่าอาหารในถุงอาหารที่ติดตัวมาด้วยจะถูกใช้หมดและครีบได้พัฒนาอย่างสมบูรณ์ หากมีลูกปลาพลัดออกจากหวอดพ่อปลาจะทำหน้าที่พาลูกกลับมาไว้ที่หวอดดังเดิมและคอยเสริมหวอดด้วยการพ่นฟองอากาศใหม่อยู่เรื่อย ๆ ในระยะนี้พ่อปลาจะคอยดูแลลูกทั้งวันโดยไม่มีการพักผ่อนนอกจากจะต้องซ่อมแซมหวอดและคอยดูแลลูกปลาที่พลัดตกจากหวอดแล้วพ่อปลายังต้องเฝ้าระวังศัตรูที่จะเข้ามากินลูกอ่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ปลาที่จะต้องถูกขับไล่ให้ไปอยู่ห่าง ๆ เนื่องจากชอบกินลูกของตัวเอง  ๑ เดือนหลังจากวางไข่ปลาตัวเมียก็พร้อมที่จะสร้างไข่ชุดใหม่ในระยะเวลา

๑ ปี ปลาตัวเมีย ๑ ตัว สามารถให้ไข่ได้ประมาณ ๒,๕๐๐ - ๕,๐๐๐ ฟอง หรือมากกว่านั้น  ในธรรมชาติการต่อสู้กันของปลากัดมักไม่จริงจังนักส่วนมากเพียงแต่แผ่พองครีบหางขู่กันเพื่อแย่งถิ่นบางตัวเห็นท่าไม่ดีก็อาจเลี่ยงไปโดยไม่ต่อสู้กันเลยก็มีแต่บางคู่ก็ต่อสู้กันอย่างจริงจังปลาตัวผู้ตัวใดที่ยึดชัยภูมิที่เหมาะได้ก็จะก่อหวอดไว้แล้วพองตัวเปล่งสีเกี้ยวตัวเมียที่ผ่านไปมาเพื่อผสมพันธุ์วางไข่

 

ลีลาและชั้นเชิงในขณะต่อสู้
ลีลาและชั้นเชิงในขณะต่อสู้

 

ลีลาและชั้นเชิงในขณะต่อสู้
ลีลาและชั้นเชิงในขณะต่อสู้


       ปลาป่านั้นเมื่อนำมากัดกันจะไม่อดทนมากนักระยะเวลาการต่อสู้ของปลาพวกนี้ส่วนใหญ่ไม่เกิน ๑๕ - ๒๐ นาที แต่ปลาลูกหม้อที่มีการคัดสายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องสามารถต่อสู้ได้นานนับชั่วโมง บางคู่อาจจะกัดกันข้ามวันข้ามคืน แต่โดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลาอย่างต่ำประมาณ ๓ ชั่วโมง ปลากัดสามารถต่อสู้อย่างต่อเนื่องได้นานโดยไม่ต้องพักอาจมีการคั่นเวลาเพียงโผล่ขึ้นมาฮุบอากาศที่ผิวน้ำในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เมื่ออยู่ในสภาพเตรียมต่อสู้ปลาจะมีการแผ่ครีบปิดเหงือกและเปล่งสีเต็มที่หันหัวไปในทางเดียวกันโดยตัวใดตัวหนึ่งอยู่เยื้องไปทางด้านหลังเล็กน้อย ปลาจะอยู่ในท่านี้ในระยะเวลาสั้น ๆ เป็นวินาทีหรือหลายนาทีแล้วจะเริ่มเข้ากัดโจมตีอย่างรวดเร็วอาวุธหลักที่ใช้ทำร้ายศัตรูคือฟัน การโจมตีจะต่อเนื่องรุนแรงโดยมีระยะเวลาพักสั้น ๆ ที่ปลาจะแยกตัวออกมาอยู่ในท่าเตรียมพร้อม แล้วเข้าต่อสู้กันอีก จุดหลักสำหรับการโจมตี คือ ครีบก้น ครีบหาง และครีบหลัง ส่วนครีบอกและตะเกียบนั้นมักไม่ได้รับความสนใจมากนัก  เมื่อการต่อสู้ผ่านไปเรื่อย ๆ ครีบเหล่านี้จะถูกกัดขาดวิ่นไป จนบางครั้งเหลือแต่โคนของก้านครีบซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการว่ายน้ำและการควบคุมทิศทางลดลงจุดอื่นที่เป็นเป้าโจมตีของปลา คือ ด้านข้างลำตัว การกัดบริเวณนี้อย่างรวดเร็วอาจทำให้เกล็ดร่วงหลุด แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำให้ถึงกับเป็นแผลบาดเจ็บยกเว้นบริเวณเหงือกที่บางครั้งอาจถูกกัดขาดเป็นแผล การพัฒนาสายพันธุ์ในระยะหลัง ๆ ทำให้ได้ปลากัดที่ฉลาดรู้จักเลือกที่กัดเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้สามารถกัดเฉพาะที่ที่เป็นจุดสำคัญ ๆ ทั้งกัดได้แม่นยำและหนักหน่วง

 

การต่อสู้ในท่า "ติดบิด"
การต่อสู้ในท่า "ติดบิด"


       เมื่อปลาที่ถูกโจมตีซึ่ง ๆ หน้าไม่สามารถหลบหลีกได้ทันจะประสานปากเข้ากัดรับและหันส่วนหัวเข้ากัดกันล็อกขากรรไกรแน่น ท่านี้นักเลงปลา เรียกว่า "ติดบิด" ปลาจะปล่อยตัวตามยาวทำให้ส่วนที่เหลือของลำตัวหมุนบิดเป็นเกลียวจนจมลงพื้นและคงอยู่ท่านี้ประมาณ ๑๐ - ๒๐ วินาที จึงแยกจากกันแล้วขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อฮุบอากาศ จากนั้นกลับมาต่อสู้กันใหม่ในท่าเดิมในช่วงที่ขึ้นฮุบอากาศจะไม่มีปลาตัวไหนถูกลอบกัดในการต่อสู้บางครั้งปลาอาจจะติดบิดถึง ๒๐ ครั้ง จึงมีการแพ้การชนะ การแพ้ชนะของปลากัดส่วนใหญ่เกิดจากการยอมแพ้เพราะเหนื่อยและสูญเสียความอดทนมากกว่าพ่ายแพ้จากการบาดเจ็บ เมื่อปลากัดยอมแพ้ไม่ต้องการต่อสู้จะว่ายน้ำหนีหรือหันด้านหางเข้าหาเมื่อคู่ต่อสู้เข้าโจมตี
       จากบันทึกของนาย เอช. เอ็ม. สมิท (H.M. Smith) ที่ปรึกษาทางด้านสัตว์น้ำของประเทศไทยในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งได้ชมการกัดปลามากกว่า ๑๐๐ ครั้ง ยืนยันว่าการกัดปลาไม่โหดร้ายป่าเถื่อนสยดสยองเหมือนดังที่เข้าใจกัน แต่เป็นการต่อสู้ที่เร้าใจเต็มไปด้วยศิลปะและความงามในลีลาการเคลื่อนไหวที่สง่างาม คล่องแคล่ว เฉียบแหลม และอดทน เมื่อสิ้นสุดการต่อสู้อันยืดเยื้อปลาทั้งคู่อาจอยู่ในสภาพไม่น่ามองเนื่องจากครีบถูกกัดขาดวิ่นหรือเกล็ดหลุด แต่ภายในเวลาประมาณ ๒ - ๓ สัปดาห์ ก็สามารถงอกกลับมาเป็นปกติใหม่จนไม่พบร่องรอยของการบาดเจ็บ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow