บทบาทหน้าที่ของพราหมณ์ต่อราชสำนักสยาม
ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง สมัยสุโขทัย เป็นหลักฐานเก่าแก่ชิ้นหนึ่งที่เป็นประจักษ์พยาน ถึงบทบาท ของพราหมณ์ในสังคมไทย ที่มีมาช้านานแล้ว โดยได้จารึกเรื่องราวการประดิษฐานเทวรูป พระอิศวร พระนารายณ์ พระคเณศ ในเทวาลัยมหาเกษตร ที่วัดป่ามะม่วง มีคำกล่าวถึงบทบาทของ "พราหมณ์" ซึ่งทำหน้าที่เป็นอาจารย์ในสมัยนั้น ดังนี้
พร่ำสอนพระวินัย พระอภิธรรมโดยโลกาจารย์กฤตยา เป็นต้น โดยพราหมณ์ ดาบส สมเด็จ บพิตร ทรประกาศ เพทศาสตราคม หลักความยุติธรรมทั้งหลาย เป็นต้น โชฺยติศาสตร์ กล่าวคือ ดาราศาสตร์ เป็นต้น คือ ปี เดือน สุริยคราส จันทรคราส พระองค์อาจรู้ซึ่งเศษ
ข้อความจากจารึกข้างต้นทำให้เห็นว่า นอกจากหลักธรรมในศาสนาพราหมณ์แล้ว พราหมณ์ราชสำนักยังมีหน้าที่ในการสอนศิลปศาสตร์ให้แก่ชนชั้นสูง รวมถึงการให้ความเห็นเกี่ยวกับอรรถคดีความต่างๆ ด้วย ต่อมา ในสมัยอยุธยา พราหมณ์มีบทบาทต่อพระราชสำนักเพิ่มขึ้น มีการกำหนดหน้าที่ของพราหมณ์อย่างชัดเจน ดังปรากฏอยู่ในกฎหมายศักดินาที่กล่าวถึงหน้าที่ของพราหมณ์ ๓ ฝ่าย คือ พราหมณ์โหรดาจารย์ มีหน้าที่ในเรื่องการประกอบพระราชพิธีต่างๆ ทั่วไป พราหมณ์ปุโรหิต มีหน้าที่ในเรื่องเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี และพราหมณ์พฤฒิบาศ มีหน้าที่ในการทำพิธีเกี่ยวกับช้าง ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยกเว้นฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิต
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากหน้าที่ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในสมัยอยุธยา พราหมณ์ราชสำนักยังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับหน้าที่เป็นผู้พิจารณาชี้ตัวบทกฎหมายในคดีต่างๆ เนื่องจากเป็นผู้ที่รอบรู้เชี่ยวชาญคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ แต่จะไม่มีอำนาจในการบังคับคดี พราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลหลวง มีทั้งสิ้น ๑๒ คน โดยมีพระราชครูปุโรหิต และพระมหาราชครูมหิธร เป็นหัวหน้า และด้วยเหตุที่พราหมณ์ในสมัยนี้มีบทบาทข้างต้นจึงทำให้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า"ธรรมาธิกรณ์" คือ ผู้รักษาความยุติธรรม
นอกจากนี้ พราหมณ์ยังมีหน้าที่ในการถวายพระอักษรแด่พระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อให้ทรงมีความรู้ศิลปศาสตร์แขนงต่างๆ อีกทั้งมีหน้าที่ในการแต่งตำราต่างๆ และวรรณคดี เช่น วรรณคดีเรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์ สำนวนพระมหาราชครู หนังสือจินดามณี ต้นแบบตำราเรียนภาษาไทย ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้พระโหราธิบดี (พราหมณ์) แต่งขึ้น เพื่อใช้สอนมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ต่อมา เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น บรรดาแบบแผนตำราต่างๆ ก็ได้ถูกเผาทำลายและสูญหายเป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สืบหาพราหมณ์และตำราพิธีการต่างๆ จากหัวเมืองปักษ์ใต้ นำขึ้นมายังพระนคร เพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีสำหรับพระองค์และสำหรับพระราชอาณาจักร ตำราเหล่านี้มีทั้งอักษรไทย และอักษรคฤนถ์ (อักษรของพวกอินเดียใต้ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพราหมณ์ เมืองนครศรีธรรมราช บางครั้งเรียกว่า อักษรเฉียงพราหมณ์) ส่วนภาษานั้นใช้ทั้งภาษาไทย สันสกฤต และทมิฬ ตำราพราหมณ์ที่ได้มาจากการสืบหาในครั้งนั้น เช่น ตำราพระราชพิธีขึ้นบรมหงส์ พระราชพิธีตรีปวาย เวทบูชาเทวรูปต่างๆ ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง พระอวิสูตร์ นมัสการแปดทิศ ไหว้พระสยัมภะฤษี บูชามุไรยโบสถ์ใหญ่ บูชาโหมกูณฑ์ และตรวจน้ำ
ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า พราหมณ์ราชสำนักในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นผู้มีส่วนสำคัญ ในการกำหนดพระราชประเพณี รวมทั้งวางรากฐานและสร้างแบบแผนการปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ แบบแผนในพระราชสำนักไทย และการประกอบพระราชพิธีต่างๆ ในพระราชสำนักด้วย จนถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกกรมพิธีพราหมณ์ ในกระทรวงวัง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ส่งผลให้บทบาทของพราหมณ์ราชสำนักลดลงด้วย
ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังคงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พราหมณ์ราชสำนักประกอบพระราชพิธี สำหรับพระองค์ และประเทศชาติต่อไป โดยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะข้าราชการขึ้นตรงต่อสำนักพระราชวัง และปฏิบัติศาสนกิจที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์สืบต่อมา