Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปลากัด

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
23,345 Views

  Favorite

ปลากัด

      เป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่นิยมเพาะเลี้ยงกันมานานทั้งเพื่อความสวยงามและเพื่อเป็นเกมกีฬาการกัดปลาเช่นเดียวกับการชนไก่ ปลากัดเลี้ยงง่ายไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มากไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย และเนื่องจากมีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษจึงอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำนิ่งที่มีออกซิเจนต่ำได้ ปลากัดไทยมีลักษณะสวยงามดูจากสี รูปร่าง และกิริยาอาการ สีของปลากัดมีทั้งที่เป็นสีเดียวสีผสมและลวดลายต่าง ๆ ปลากัดตัวผู้จะสร้างรังหรือหวอดคอยดูแลไข่และตัวอ่อน การสร้างหวอดกระทำโดยการฮุบเอาอากาศเข้าไปแล้วพ่นน้ำเป็นฟองลอยอยู่บริเวณผิวน้ำหลังจากสร้างหวอดเสร็จแล้ว 

 

ปลากัด

 

       ปลากัดตัวผู้และปลากัดตัวเมียจะผสมพันธุ์กันโดยปลากัดตัวเมียจะถูกปลากัดตัวผู้รัดและปล่อยไข่ออกมาเป็นชุด ๆ ให้ปลาตัวผู้ฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมไข่ที่มีน้ำเชื้อผสมแล้วจะจมลงสู่เบื้องล่างอย่าง

ช้า ๆ ปลาตัวผู้จะว่ายไปอมไข่ไว้แล้วนำไปพ่นติดที่หวอดทำเช่นนี้จนตัวเมียวางไข่หมดซึ่งใช้เวลา ๑ - ๖ ชั่วโมง หลังจากนั้นปลาตัวผู้จะคอยดูแลไข่ซึ่งจะฟักออกเป็นตัวในเวลาประมาณ ๓๖ ชั่วโมง ส่วนปลาตัวเมียจะถูกปลาตัวผู้ไล่ให้ออกห่างพ้นไปจากหวอดเพื่อมิให้กินไข่ปลาและลูกปลา

 

ปลากัด

 

       การต่อสู้กันของปลากัดมีหลายวิธี เช่น หันหัวไปทางเดียวกันและโจมตีกัดกันโดยใช้ฟันกัดบริเวณครีบ จนครีบขาดวิ่นไปเรื่อย ๆ และกัดต่อที่ด้านข้างลำตัวหรืออาจโจมตีกันซึ่ง ๆ หน้า โดยใช้ปากกัดประสานกันเพื่อล็อกขากรรไกรอาจจะกัดในท่านี้ประมาณ ๒๐ ครั้ง จนรู้แพ้รู้ชนะกันไป

 

 

 

       นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาแล้วการชนไก่และการกัดปลาเป็นเกมกีฬาและการพนันที่ได้รับความนิยมมากในหมู่คนไทย โดยเฉพาะเกมกีฬากัดปลามักนิยมใช้ปลากัดซึ่งเป็นปลาที่มีความอดทนสูงในการต่อสู้รวมทั้งมีลีลาและชั้นเชิงในการต่อสู้ที่ตื่นเต้นน่าดูและน่าชมมาก นอกจากนั้นปลากัดยังเป็นปลาที่มีสีสันและครีบหางที่สวยงามจึงมีผู้นิยมเลี้ยงปลากัดเป็นปลาสวยงามด้วยทำให้ปลากัดไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

 

ลักษณะปลากัดที่ดูดี
ลักษณะปลากัดที่ดีดูได้จากท่าทาง สีลำตัว รูปแบบ และสีของครีบ

 

       ลักษณะของปลากัดที่ดีดูจากลักษณะท่าทาง สีลำตัว ลักษณะรูปแบบและสีของครีบ ลักษณะครีบของปลากัดมีทั้งครีบที่มีอันเดียว ได้แก่ ครีบหาง ครีบหลัง และครีบก้น ส่วนครีบที่มี ๒ ครีบเป็นครีบคู่ ได้แก่ ครีบท้องและครีบอกซึ่งอยู่ติดบริเวณเหงือก ครีบหางมีสีสันและลักษณะรูปแบบที่หลากหลายมาก เช่น เป็นรูปครึ่งวงกลม สามเหลี่ยม หรือรูปใบโพธิ์ ส่วนสีที่ลำตัวและหางมีทั้งสีเดียว สองสีหรือมีหลากสีหากเป็นสีเดียวจะมีทั้งสีเข้มและสีอ่อนนอกจากนี้ยังอาจเป็นสีลวดลายคล้ายลายผีเสื้อหรือลายหินอ่อนด้วยก็ได้

 

ปลากัดตัวผู้สร้างหวอด เพื่อเตรียมผสมพันธุ์
ปลากัดตัวผู้สร้างหวอด เพื่อเตรียมผสมพันธุ์

 

       คนไทยเลี้ยงปลากัดกันอย่างแพร่หลายในทุกภาคของประเทศรวมทั้งมีการคัดสรรพันธุ์ทำให้ปลากัดเกิดสีสันและลักษณะหางที่สวยงามแปลกตา  จนปัจจุบันกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมมากชนิดหนึ่งทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ  ปลากัดมีหลายสายพันธุ์สายพันธุ์ที่นิยมเพาะเลี้ยงกันมากและได้ถูกปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้ปลาที่กัดเก่งและได้ปลากัดที่มีลักษณะสวยงามเป็นปลากัดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens ซึ่งพบในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสานบางส่วน และภาคใต้ตอนบน ปลากัดสายพันธุ์นี้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่สามารถสร้างลักษณะสีและครีบได้มากมาย เนื่องจากมีลักษณะทางพันธุกรรมที่แปรผันได้มากอยู่ก่อนแล้วจึงมียีนที่ควบคุมลักษณะต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน เมื่อมีการผสมพันธุ์ระหว่างปลากัดจึงมีโอกาสที่ยีนซึ่งควบคุมลักษณะต่าง ๆ ที่แฝงอยู่สามารถแสดงลักษณะออกมาให้เห็น ปลากัดสายพันธุ์อื่นที่นิยมเลี้ยงเพื่อนำมากัดกันชนิดหนึ่งเป็นปลากัดพื้นเมืองภาคใต้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta imbellis อีกชนิดหนึ่งเป็นปลากัดพื้นเมืองภาคอีสาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta smaragdina ในปัจจุบันได้มีการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง Betta imbellis และ Betta splendens เพื่อให้ได้ปลากัดลูกผสมที่เป็นปลาสวยงามซึ่งมีลักษณะใหม่ ๆ

 

ไข่ที่ผสมแล้วจมลงสู่เบื้องล่าง
ไข่ที่ผสมแล้วจมลงสู่เบื้องล่าง

 

       ลักษณะพิเศษของปลากัดคือ ปลากัดตัวผู้จะเป็นผู้สร้างรังสำหรับการวางไข่และดูแลตัวอ่อนโดยการฮุบเอาอากาศเข้าไปแล้วพ่นฟองอากาศที่ผสมกับเมือกในปากเห็นเป็นฟองบริเวณผิวน้ำ เรียกว่า หวอด สำหรับให้ไข่ปลาและตัวอ่อนมาเกาะติดฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม - กันยายน ปลากัดมีการผสมพันธุ์กันภายนอกโดยเริ่มจากปลากัดตัวผู้จะเข้ารัดตัวปลากัดตัวเมียให้ปล่อยไข่ออกมาเป็นชุด ๆ ขณะเดียวกันปลาตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมไข่จะค่อย ๆ จมลงสู่เบื้องล่างปลาตัวผู้จะว่ายตามลงไปและใช้ปากดูดอมไข่ไว้แล้วว่ายขึ้นไปพ่นให้ติดไว้ที่หวอดการรัดแต่ละครั้งจะทิ้งช่วง ๑ - ๘ นาที ทำซ้ำเช่นนี้จนตัวเมียวางไข่หมด หลังจากนั้ ปลาตัวผู้จะคอยดูแลไข่และลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัว ในระหว่างนั้นปลาตัวผู้จะคอยไล่ตัวเมียไม่ให้เข้ามาใกล้หวอดเพราะปลาตัวเมียอาจกินไข่หรือลูกปลาได้  ปลากัดเป็นปลาที่มีความอดทนในการต่อสู้เป็นระยะเวลานาน ๆ การต่อสู้มีชั้นเชิงและศิลปะโดยเฉลี่ยใช้เวลา ประมาณ ๑ ชั่วโมงขึ้นไปโดยไม่มีการพัก จะพักก็เพียงการโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาฮุบอากาศในระหว่างการต่อสู้จะมีการแผ่ครีบของเหงือกและเปล่งสีเต็มที่ คู่ต่อสู้หันหัวไปในทางเดียวกันโดยตัวใดตัวหนึ่งอยู่เยื้องไปทางด้านหลังเล็กน้อยปลาจะอยู่ในท่านี้ช่วงเวลาสั้น ๆ อาวุธหลักที่ใช้ทำร้ายศัตรูคือ ฟัน จุดหลักในการโจมตีคือ ครีบก้น ครีบหาง และครีบหลัง ส่วนครีบอกและครีบท้องนั้นไม่เป็นที่สนใจนัก บางทีถูกกัดครีบจนขาดวิ่นและยังถูกกัดต่อที่บริเวณข้างลำตัวจนเป็นแผลบางครั้งมีการโจมตีกันซึ่ง ๆ หน้าโดยปลากัดจะประสานปากเข้ากัดหันส่วนหัวเข้ากัดล็อกขากรรไกรทำการกัดแบบที่เรียกว่า "ติดบิด" โดยอยู่ในท่านี้ประมาณ ๑๐ - ๒๐ วินาที จึงแยกจากกันขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อฮุบอากาศและกลับมาต่อสู้กันอีก บางครั้งในการกัดปลาอาจจะมีการติดบิดถึง ๒๐ ครั้ง จึงจะรู้แพ้รู้ชนะได้

 

ปลากัด


 
       ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดให้มีลักษณะครีบและสีสันสวยงามแปลกตาทั้งที่เป็นสีเดียว สองสี และหลายสี กับได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดให้ได้ปลากัดขนาดใหญ่ที่มีความยาวของลำตัว ๓ - ๔ นิ้ว ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก ปัจจุบันปลากัดได้ถูกพัฒนาจนได้ครีบหางที่มีลักษณะสวยงามหลายรูปแบบ เช่น หางมงกุฎ หางสามเหลี่ยม หางพระจันทร์ครึ่งซีก มีทั้งครีบสั้นและครีบยาวและมีสีสันหลากหลายตั้งแต่สีอ่อน เช่น สีมุก สีเหลือง สีชมพู สีส้ม และสีเข้ม เช่น สีแดง สีน้ำเงิน สีดำ รูปแบบของสีก็มีทั้งสีเดียว สองสี หลายสี และที่เป็นลวดลาย  ในการผสมปลากัดให้ได้สีที่ต้องการนั้นจะต้องศึกษาการถ่ายทอดพันธุกรรมของสีและคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่สามารถให้ลักษณะสีที่ต้องการนำมาผสมคัดพันธุ์จนกว่าจะได้ลักษณะตามที่คาดหวัง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow