Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความเป็นมาของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
7,170 Views

  Favorite

ความเป็นมาของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในประเทศไทยนั้นมีเป็นจำนวนมาก อาจแบ่งกว้างๆ ได้เป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรก  คือ เทวสถานที่สร้างขึ้นก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมักเป็นเทวสถานในสมัยโบราณจำพวกปราสาทหินต่างๆ เป็นเทวสถานร้าง ปัจจุบันเป็นโบราณสถานที่ค่อนข้างทรุดโทรมและอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ กลุ่มที่ ๒ คือ เทวสถานในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นเทวสถานที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ และยังคงใช้การมาจนถึงปัจจุบัน

กลุ่มแรก เทวสถานที่สร้างขึ้นก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ ในดินแดนประเทศไทยนั้น มีการสร้างกันมาหลายยุคสมัย ทั้งในอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรขอม อาณาจักรทวารวดี และอาณาจักรศรีวิชัย เป็นยุคสมัยที่ศาสนาพราหมณ์มีความเจริญรุ่งเรืองในดินแดนประเทศไทยพร้อมๆ กับความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา จึงมีการสร้างเทวสถานประจำเมืองสำคัญๆ ทั่วพระราชอาณาจักร  อาทิ กรุงศรีอยุธยา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองลพบุรี เมืองเพชรบุรี เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในกิจการของพราหมณ์ และพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อสร้างความชอบธรรมและอำนาจ ในฐานะที่ทรงมีสถานะเป็น สมมติเทพ

วัดวิษณุ ตั้งอยู่ที่เขตยานนาวา กรุงเทพฯ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ในรัชกาลที่ ๖
วัดวิษณุ ตั้งอยู่ที่เขตยานนาวา กรุงเทพฯ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ในรัชกาลที่ ๖

 

คติการสร้างเทวสถานในสมัยโบราณเป็นการสร้าง เพื่อเป็นพระราชอุทิศ ถวายแด่พระเป็นเจ้าของพราหมณ์ ประหนึ่งเป็นที่ประทับของเทพเจ้า  หากเป็นพราหมณ์ในลัทธิไศวนิกาย ก็มักอุทิศถวาย "พระอิศวร" แต่หากเป็นพราหมณ์ในลัทธิไวษณพนิกาย ก็อุทิศถวาย "พระวิษณุ"  ซึ่งเทวสถานในลัทธิไศวนิกายจะพบในดินแดนประเทศไทยมากกว่าลัทธิไวษณพนิกาย เช่น การสร้างปราสาทเขาพระวิหาร หรือเทวสถานศรีศิขเรศวร ที่พระเจ้าแผ่นดินของอาณาจักรขอมทรงสร้างสำหรับเป็นพระราชอุทิศถวายแด่ศรีศิขเรศวร หรือผู้เป็นใหญ่แห่งภูเขา คือ พระศิวะ และทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์กิจการของเทวสถานสืบต่อกันมา ดังปรากฏจากข้อความในจารึกปราสาทเขาพระวิหาร ๒ ด้านที่ ๒ ความว่า

... ภควัตบาทกัมรเตงอัญดคุรุศรีทิวากรบัณฑิต ถวายแก่กัมรเตงชคตศรีศิขรีศวร มีเครื่องประดับต่างๆ เช่น เกือกทอง มงกุฎ กุณฑล สายสร้อย กำไลมือ สร้อยคอ สายรัด เข็มขัด กำไลเท้า รองเท้า (รองเท้าแตะ) และพร้อมทั้งรัตนะต่างๆซึ่งพระบาทกัมรเตงอัญศรีสุริยวรมันเทวะ ทรงถวายเป็นไทยทาน ในพระโอกาสที่ทรงทำพระทิกษา รวมทั้งถวายม่านทองซึ่งเขียนลวดลายเป็นรูปดอกบัว และประดับประดาด้วยรัตนะต่างๆ ปูพื้นพระปราสาททั้งหมด...(ถวาย)รัตนะ พาน ถ้วยกระโถน ช้าง ม้า ธง ชุมสาย ฉัตร (ร่มขาว) คนโท... กุนติกา หม้อกระทะ ...มีจำนวนนับไม่หมด ...

นอกจากนี้ ยังมีเทวสถานสำคัญที่สถาปนาขึ้นในสมัยอยุธยา คือ เทวสถาน ในเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ที่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ มีหอพระนารายณ์ และหอพระอิศวร ใช้เป็นเทวสถานสำหรับการประกอบพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัย
อยุธยา แต่เทวสถานเดิมชำรุดไปหมดแล้ว อาคารเทวสถานที่ปรากฏทุกวันนี้เป็นอาคารที่กรมศิลปากรบูรณะขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ด้านใต้มีเสาชิงช้า ซึ่งใช้ในพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวายของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช แต่สร้างขึ้นใหม่แทนของเก่า โดยจำลองแบบมาจากเสาชิงช้าในกรุงเทพฯ แต่มีขนาดเล็กกว่า พิธีนี้เพิ่งเลิกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ 

เทวสถานโบสถ์เทพมณเฑียร อยู่ใกล้เสาชิงช้า เป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมของศาสนิกชนพราหมณ์ฮินดู
เทวสถานโบสถ์เทพมณเฑียร อยู่ใกล้เสาชิงช้า เป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมของศาสนิกชนพราหมณ์ฮินดู

 

กลุ่มที่ ๒ เทวสถานในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่รู้จักกันดี คือ  เทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนคร อยู่ใกล้กับวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร สร้างเมื่อต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใน พ.ศ. ๒๓๒๗ เหตุที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างบริเวณนี้มีหลักฐานปรากฏในหนังสือ "จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีและพระราชวิจารณ์ในรัชกาลที่ ๕" ใจความว่า วัดสุทัศนเทพวราราม นี้กำหนดว่าเป็นกึ่งกลางพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเทวสถานและเสาชิงช้าลง ณ ที่นั้นตามโบราณ
ราชประเพณีของการสร้างพระนคร เทวสถานแห่งนี้ถือเป็นเทวสถานสำคัญ และเป็นสถานที่สำหรับการประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์ราชสำนัก นอกจากนี้ในกรุงเทพฯ ยังมีเทวสถานอื่นๆ อีก ซึ่งส่วนมากเป็นการสร้างโดยชาวอินเดียที่พำนักอยู่ในประเทศไทย และพราหมณ์ที่ดูแลเทวสถานก็มักเป็นพราหมณ์ซึ่งเป็นชาวอินเดีย  เทวสถานเหล่านี้ ได้แก่ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาสนิกชนพราหมณ์ และพ่อค้าต่างๆ ที่มาจากทางตอนใต้ของประเทศอินเดียและพำนักอยู่ในประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดสร้างศาลาเล็กๆ ที่บริเวณถนนสีลม สำหรับเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระแม่อุมาเทวีไว้เคารพบูชา ต่อมา เมื่อศาสนิกชนพราหมณ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงได้ไปสร้าง วัดวิษณุ อีกแห่งหนึ่ง อยู่ที่เขตยานนาวา ใน พ.ศ. ๒๔๖๔  วัดแห่งนี้ศาสนิกชนพราหมณ์อุตตรประเทศได้ร่วมกันสร้างขึ้น ในบริเวณวัดวิษณุมีโบสถ์ย่อย คือ โบสถ์พระแม่ทุรคา โบสถ์ศิวลึงค์ และโบสถ์พระศิวนาฏราช นอกจากนี้ศาสนิกชนชาวปัญจาบ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ ผู้นับถือศาสนาซิกข์ และผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู ได้ใช้บ้านหลังหนึ่งบริเวณหลังวังบูรพาเป็นสถานที่ร่วมกันเมื่อประกอบศาสนกิจ เมื่อคนมีจำนวนมากขึ้นจึงแยกกัน โดยศาสนิกชนพราหมณ์ฮินดูได้สร้าง "สมาคมฮินดูสภา" ที่บริเวณใกล้เสาชิงช้า มีเทวสถานชื่อว่า โบสถ์เทพมณเฑียร ต่อมา ชาวอินเดียได้รวมตัวกันจัดตั้งสถาบันขึ้นพร้อมกับสมาคมฮินดูสภา เรียกว่า "สมาคมฮินดูสมาช" เป็นพราหมณ์ฮินดูที่ถือธรรมะเป็นศาสดา ไม่บูชานับถือรูปเคารพใดๆ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow