ในป่ามีต้นไม้มากมายหลายชนิด หลายพันธุ์ ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในป่ามีทั้งเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อน ซึ่งพอจะแบ่งออกเป็นพวกๆ ได้ ๓ พวก
พวกไม้ยืนต้น ลำต้นสูงตรงตั้งแต่ ๓ เมตรขึ้นไป ได้แก่ ต้นยาง ตะเคียน จำปา และอโศก พวกไม้พุ่ม ลำต้นตรงแต่ค่อนข้างต่ำ และมีกิ่งก้านแตกแขนงมาก ได้แก่ โมกทุ่ง แก้ว กาหลง ลำเจียก ไผ่ชนิดต่างๆ กาฝาก เป็นพืช ซึ่งอาศัยเกาะกินอาหาร ตามต้นไม้ใหญ่ และเกาะอาศัยอยู่เฉยๆ ได้แก่ พวกไทร เป็นต้น พวกไม้เถา ลำต้นจะเลื้อยพาด หรือเกี่ยวพันไปตามต้นไม้ใหญ่ ได้แก่ หมามุ่ย สายหยุด หิรัญญิการ์ อรพิม รสสุคนธุ์ สะบ้า ฯลฯ
นอกจากต้นไม้ใหญ่ยังมีต้นหญ้า ซึ่งเป็นไม้ล้มลุก และเป็นพันธุ์ไม้กลุ่มที่มีลำต้นกลวง มีข้อและปล้องสลับกันอยู่
ในป่ายังมีพืชที่มีลักษณะแปลกๆ และสวยงามอีกมาก เช่น พวกกล้วยไม้ดิน และเห็ด ซึ่งชอบขึ้นอยู่ตามซากต้นไม้และหญ้า ที่ผุเปื่อย ที่เกาะแย่งอาหารกินตามกิ่งก้านต้นไม้อื่น ก็มีฝอยทอง ตามรากพืชชนิดอื่น เช่น ชมพูนุท ดอกดิน กระโถนฤาษี และขนุนดิน พืชบางชนิดมีที่ดักจับแมลง มีน้ำยางเหนียวตามใบ และมีน้ำย่อยก้นถุง สำหรับย่อยแมลงที่ตกลงไป เช่น สาหร่ายข้าวเหนียว หญ้าน้ำค้าง หม้อแกงลิง หรือเขนงนายพราน เป็นต้น
มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์พันธุ์ไม้ป่ามาเป็นเวลาช้านานแล้ว และการใช้ประโยชน์นี้นับวันจะทวีขึ้นตามส่วน ตามความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ ปัจจุบันมนุษย์ได้นำพันธุ์ไม้ป่ามาผลิตเป็นเครื่องใช้ และวัสดุต่างๆ หลายชนิด จึงนับได้ว่าพันธุ์ไม้ป่ามีคุณค่าต่อทางเศรษฐกิจของชาติเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับประเทศไทยเท่าที่พบหลักฐานนั้น ได้มีมนุษย์อยู่อาศัยมาเป็นเวลาช้านาน ก่อนที่คนไทยจะเข้ามาอยู่อย่างน้อยตั้งแต่ยุคหินใหม่เป็นต้นมา มนุษย์สมัยแรกรู้จักนำพันธุ์ไม้ต่างๆ มาใช้ประโยชน์ ตลอดจนนำมาปลูกไว้ใกล้ๆ ที่อยู่อาศัย เพื่อสะดวกในการเก็บหา และบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์ดังกล่าวนี้ แม้ในปัจจุบันก็ยังคงใช้กันอยู่ โดยเฉพาะท้องที่ที่ห่างไกลความเจริญ ประโยชน์ของพันธุ์ไม้ป่าในด้านต่างๆ มีดังนี้
๑. ใช้เป็นอาหาร
๒. ใช้เป็นยารักษาโรค
โดยใช้ส่วนต่างๆ โดยตรงตามตำรับแพทย์แผนโบราณ หรือสกัดสารบางอย่างออกมาทำยาแผนปัจจุบัน
๓. ใช้ทำที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน