พันธุ์เป็ด พันธุ์ไก่
ไก่เลี้ยงทุกวันนี้เชื่อว่าสืบตระกูลมาจากไก่ ป่าสีแดงของเอเชียใต้ และอินเดีย ซึ่งมีอยู่ใน ประเทศไทยเองด้วย เมื่อคนนำไก่ป่ามาเลี้ยงให้ เชื่อง หรือเลี้ยงได้ในที่คุมขังแล้ว ก็มีผู้นำต่อไป ยังท้องที่ต่างๆ แล้วทำการคัดเลือกผสมพันธุ์ให้ได้ ลักษณะสีสันตามความชอบ จนเกิดเป็นพันธุ์แท้ มากมายหลายพันธุ์ ที่เรียกว่า พันธุ์แท้ หมายถึง พันธุ์ที่ให้ลูกซึ่งมีลักษณะรูปร่างของตัว ขนาดตัว และสีขนเหมือนพ่อแม่เสมอ
พันธุ์เป็ดปัจจุบันก็มีต้นตระกูลมาจากเป็ดป่า ของเอเชียเหมือนกัน หลังจากผ่านฝีมือปรับปรุง คัดเลือกผสมพันธุ์โดยมนุษย์ เราจึงมีเป็ดพันธุ์ทาง และเป็ดพันธุ์แท้เลี้ยงกันทุกวันนี้
กล่าวกันว่า ชาวกรีกโบราณได้เขียนถึงการ เลี้ยงไก่บ้าน อันเป็นเวลานานร่วม ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมาชาวยุโรปในสมัยกลางได้สนใจนิยมเลี้ยงไก่ชน กันแพร่หลาย ไก่ชนนี้ดูจะมีคนนิยมทั้งในเอเชีย และอเมริกากลางด้วย ในรอบ ๑๐๐ ปีนี้ ได้มีพันธุ์ ไก่ซึ่งแบ่งหมวดหมู่ได้ เป็นพันธุ์ไก่อังกฤษ พันธุ์ ไก่เมดิเตอร์เรเนียน พันธุ์ไก่เอเชีย และพันธุ์ไก่ อเมริกา การแบ่งหมวดหมู่อาศัยลักษณะตัวว่า อ้วน ป้อม ตัวลีบ ตัวกลม ลักษณะท่าทางเวลายืนว่า ตัวขนานพื้นหรือเชิด ลักษณะสีของผิวหน้าและ แข้งขาเป็นหลัก นอกจากนี้ก็มีลักษณะหงอน รูปร่าง ต่างๆ ชนิดกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่จัดว่าสวยงามตาม สายตาของผู้ผสมพันธุ์ และอาจแบ่งอย่ากว้างๆ ตามผลิตผล เป็นไก่กระทง ไก่เนื้อ ไก่ไข่ กับ พันธุ์เนื้อและไข่ สำหรับเป็ดก็อาจแบ่งเป็นพันธุ์เนื้อ และพันธุ์ไข่
ปัจจุบัน ลักษณะเศรษฐกิจสำคัญเป็นอันดับ ต้นลักษณะสวยงามจึงถูกละเว้นไป นักพันธุศาสตร์ ได้ใช้ลักษณะเศรษฐกิจต่อไปนี้เป็นข้อตัดสินในการ คัดเลือกไก่หรือเป็ดพันธุ์ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนใน การเลี้ยงไก่และเป็ด เป็นการค้าหรืออุตสาหกรรม คือ
๑. ไข่ดก/ให้ลูกได้มาก
๒. เติบโตเร็ว เนื้อมากตั้งแต่ระยะเริ่มเติบโต
๓. ฟักออกดี
๔. ให้ลูกแข็งแรง เลี้ยงง่าย รอดมาก
๕. ขนงอกเร็วและคลุมเต็มตัว ตั้งแต่อายุ ๒-๔ สัปดาห์
สีขนก็ยังมีความสำคัญ แต่เป็นความสำคัญ ในแนวทางใหม่ สำหรับเป็ดเนื้อหรือไก่เนื้อ ขนสี ขาวมีภาษีดีกว่าขนสีแดงหรือดำ เพราะทำให้ผิว หนังของไก่น่ารับประทาน สวยงาม เกลี้ยงเกลา เนื่องด้วยตอขนสีขาวมองเห็นได้ยาก แต่ตอขนสี แดงหรือดำจะเห็นชัดผู้บริโภครังเกียจ
สีของผิวหนังก็ยังมีความสำคัญทางด้านเอา ใจผู้บริโภค ถ้าตลาดนิยมผิวหนังสีเหลืองในไก่ รับประทาน เขาก็คัดสายพันธุ์ที่มีผิวหนังสีเหลือง และสามารถใช้สารแซนโทรฟิลล์ ซึ่งมีมากในข้าว โพดเหลือง และใบกระถิ่นในอาหารมาเพิ่มเติมสี เหลืองของผิวหนังให้เข้มน่าดูน่าซื้อ แต่ถ้าตลาด ชอบผิวหนังสีขาวเขาก็สามารถคัดสายพันธุ์ที่ให้ผิว หนังสีขาวได้
ระบบการผสมพันธุ์และคัดไก่พันธุ์ ได้ เปลี่ยนจากคตินิยมแต่เดิมสมัยที่มุ่งผสมพันธุ์แท้ เพื่อให้ลูกสืบทอดลักษณะของพันธุ์แต่ละพันธุ์ มา เป็นการผสมพันธุ์และคัดสายพันธุ์ หรือสายเลือด ที่จะให้ลูกซึ่งแข็งแรงเติบโตเร็วดีกว่าพ่อแม่เมื่อผสม ข้ามสายเลือด ทั้งนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากปรากฏ การณ์ธรรมชาติที่ค้นพบในรอบ ๔๐ ปีนี้เองว่า สาย เลือดผสมมีลักษณะความแข็งแรงและการเติบโตสูง กว่าสายพ่อ-แม่ที่เป็นสายเลือดบริสุทธิ์และสามารถ ใช้ลูกผสมจากสายเลือดผสมอีกชั่วหนึ่งเมื่อเลี้ยง เป็นไก่ไข่ หรือไก่กระทงให้มีความสมบูรณ์ ทนทาน และโตเร็ว
หลักการที่กล่าวข้างบนนี้ฟังง่าย แต่ปฏิบัติ ได้ยาก ต้องการผู้เชี่ยวชาญและทุนทรัพย์มากสำหรับ ที่จะค้นหา ทดสอบ และบำรุงรักษาสายเลือด บริสุทธิ์ที่จะนำมาผสมพันธุ์เพื่อให้ผลตามที่การเลี้ยง ไก่เป็นการค้าต้องการ ขณะนี้ทั่วโลกมีบริษัทผสม พันธุ์ไก่ที่สามารถดำเนินการในลักษณะที่กล่าวได้ ประมาณ ๑๐ บริษัท ชื่อของพันธุ์หรือสายพันธุ์ไก่ สมัยใหม่นี้ โดยมากจะใช้ชื่อของบริษัทที่ผสมพันธุ์ ไก่นั้นๆ และด้วยข้อตกลงทางการค้าก็สามารถจัดส่ง ไก่พันธุ์ให้แก่ลูกค้าระดับต่างๆ ได้เกือบทั่วโลก
การเลี้ยงไก่ในประเทศไทยได้ผ่านสมัยที่ เลี้ยงพันธุ์แท้มาเป็นสมัยที่ชี้ชวนให้รู้จักเลี้ยงเพื่อ ผลิตไข่ไก่ และไก่รับประทาน จำหน่ายโดยแพร่ หลาย แล้วข้ามมายังสมัยปัจจุบัน คือ เลี้ยงแบบ ธุรกิจอุตสาหกรรม โดยใช้ระยะเวลาเพียง ๕๐ ปี เศษ นับแต่ พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อ ม.จ. สิทธิพร กฤดากร บิดาแห่งเกษตรแผนใหม่ของไทยได้ทรงนำไก่เศรษฐ กิจจากต่างประเทศ คือ ไก่เลกฮอร์นขาวเพื่อกสิกร ไทยจะได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่เป็นอาชีพสำหรับผลิต อาหารชั้นดีให้ได้ปริมาณมาก พระประสงค์นี้ได้รับ การส่งเสริม แนะนำด้วยการสาธิตควบคู่กับการศึกษา ทดลองของ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ขณะดำรง ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ได้รับการสนับสนุนทั้งในรูปเงินยืมเป็นทุนหมุนเวียน และเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมาดำเนินการเลี้ยงไก่ เริ่ม แต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ จนยุติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งยังผล ให้ทั้งเกษตรกร ตลาด และผู้บริโภคยอมรับไข่ไก่ และไก่กระทงโดยแพร่หลายจนเป็นสินค้าซื้อขายกัน ปีละหลายพันล้านบาท
ปัจจุบัน เราอาจกล่าวได้ว่า การเลี้ยงไก่ ในประเทศไทยได้มาถึงขั้นธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร มีระบบการผลิตลูกไก่ให้ผู้เลี้ยง มีระบบการรับซื้อไข่ และไก่เนื้อเพื่อแปรรูปและจัดจำหน่าย มีระบบการ ลงทุนร่วมโดยใช้สินเชื่อทั้งเงินสดและเป็นอาหาร สัตว์ ระบบเหล่านี้เชื่อมโยงการดำเนินการแต่ละขั้น ตอนให้กระทำตามแผนการตลาดที่กำหนดไว้ล่วงหน้า นับว่าเป็นข้อก้าวหน้ากว่าสินค้าเกษตรอีกหลายๆ อย่าง และควรใช้เป็นบทเรียนในการปรับปรุงระบบ การเกษตรของเราต่อไปข้างหน้าได้ด้วย