การฟักไข่
การฟัก อีกแบบหนึ่ง ที่เราสร้างเครื่องมือขึ้นมา เพื่อให้ความร้อนสำหรับฟักไข่ เลียนแบบแม่ไก่ เรียกว่า ตู้ฟักไข่ ตู้ฟักไข่ที่สร้างขึ้นนี้ สามารถจะทำให้เชื้อในไข่เจริญเติบโตเป็นลูกไก่ได้ สามารถรักษาความชื้นในอากาศให้พอเหมาะกับความต้องการของไข่ฟัก สามารถถ่ายเทอากาศภายในเพื่อให้การหาย ใจของลูกไก่ที่กำลังเติบโตในไข่เป็นไปโดยเรียบร้อย ไม่บกพร่อง ความร้อนในตู้ฟักอาจได้มาจากไฟตะเกียงน้ำมันก๊าด ต้มน้ำให้ร้อนและใช้ท่อทองแดง พาน้ำร้อนไหลวนเวียน ทำให้ตู้อุ่น และเชื้อไข่เจริญเติบโตได้ หรืออาจจะใช้ความร้อนจากลวดร้อนไฟ ฟ้าก็ได้ผลเท่ากัน ปัจจุบันตู้ฟักไข่ส่วนมากใช้ไฟฟ้า ด้วยเหตุผลที่ว่า การควบคุมความร้อนให้ได้ระดับคง ที่ได้ผลดี กระทำได้ง่าย นอกจากความร้อนเราก็ได้ เพิ่มเครื่องให้ความชื้นอีกด้วย เครื่องให้ความชื้น อย่างง่ายที่สุดเป็นถาดแบนๆ ใส่ทรายและใส่น้ำร้อนลงไป เมื่อน้ำร้อนระเหยเป็นไอน้ำ ก็จะทำให้อากาศ ภายในตู้ฟักชื้นมากชื้นน้อยได้ แล้วแต่ว่าเราใช้ถาด กว้างหรือแคบเพียงใด และให้น้ำร้อนบ่อยเพียงใด สำหรับเครื่องที่ใช้ไฟฟ้า และสามารถฟักไข่ได้มาก เป็นจำนวนพันฟองขึ้นไป นิยมใช้เครื่องปั่นความเร็วสูง เพื่อเปลี่ยนน้ำให้เป็นละออง แล้วผสมกับ อากาศร้อนก็จะได้ไอน้ำและได้ความชื้นสูงตามต้องการ ผู้ใช้เครื่องสามารถจะตั้งได้ว่า ต้องการความชื้น ในอากาศภายในตู้ฟักมีสูงเพียงใด วัดความชื้นสูง หรือต่ำเป็นความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งมีหน่วยเป็นร้อยละ ของความชื้นสูงสุดที่อากาศ ณ อุณหภูมิจะอุ้มไอน้ำ ไว้ได้
รายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาฟักของไข่ ชนิดต่างๆ มีดังนี้
ชนิดสัตว์ปีก | วัน |
เป็ด ไก่งวง นกยูง | ๒๘ |
เป็ดมัสโควี | ๓๓-๓๗ |
ห่าน | ๓๐-๓๒ |
ไก่ | ๒๑ |
ไก่ต๊อก | ๒๖-๒๘ |
นกกระทาญี่ปุ่น | ๑๗-๑๙ |
นกกระทาอเมริกัน | ๒๑-๒๓ |
ไก่ฟ้า | ๒๔-๒๕ |
นกกระจอกเทศ | ๔๒ |
นกพิราบ | ๑๖-๒๐ |
สำหรับตู้ฟักที่มีพัดลมหรือใบกวนลมกระจายกระแสลมไหลเวียนภายในตู้ โดยมากจะแนะนำให้ใช้ดังตารางข้างล่างนี้
ระดับของอุณหภูมิที่เกี่ยวข้องกับไข่นี้ มีเกือบทุกระยะ อาจเขียนแสดงเป็นภาพได้ดังนี้
ภาพความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิกับไข่
ในการฟักไข่ มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการกลับไข่ ตามหลักวิชา ไข่ที่เข้าตู้ฟักไข่ จะต้องได้รับการกลับอย่างน้อยวันละ ๓ ครั้ง อย่างมากอาจจะถึงวันละ ๔๘ ครั้งก็ได้ นับตั้งแต่วันที่สองที่เข้าตู้ฟักจนกระทั่งถึงวันที่ ๑๘ คืออีก ๓ วัน ลูกไก่จะออกจากไข่ จึงจะหยุดกลับไข่ สำหรับไข่สัตว์ปีกอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ควรหยุดกลับไข่ ๓-๔ วัน ก่อนถึงกำหนดออกจากไข่ เหตุผลในการกลับไข่นี้ มีอยู่ว่า เมื่อเชื้อของพ่อไก่ผสมกับไข่ของแม่ไก่เป็นเชื้อของตัวอ่อน ซึ่งจะเจริญเติบโตได้ต่อไปแล้ว เชื้อลูกไก่ หรือเชื้อตัวอ่อนนี้ จะอยู่ที่จุดหนึ่งของผนังหุ้มไข่แดง บ้างก็เรียกเชื้อนี้ว่า จุดกำเนิด จุดกำเนิดนี้จะพยายามลอยขึ้นด้านบนอยู่เสมอ ฉะนั้น ไม่ว่าจะวางไข่อย่างใด ไข่แดงจะค่อยๆ หมุนตัว เพื่อให้จุดกำเนิดอยู่ด้านบนสุด ในระยะฟักตอนต้น ไข่ขาวยังข้นอยู่ ไข่แดงลอยอยู่ท่ามกลางไข่ขาว และไข่ขาวจะป้องกันมิให้ไข่แดงลอยขึ้นมาชิดเปลือกไข่ แต่เมื่อฟักไปได้หลายๆ วัน ไข่ขาวแปรสภาพ และมีน้อยลง จุดกำเนิดซึ่งเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนก็ยังลอยขึ้นข้างบน และสามารถจะลอยเข้าชิดเปลือกไข่ทุกขณะ หากปล่อยทิ้งไว้ให้ชิดเกินไป ตัวอ่อนไก่จะติดเยื่อเปลือกไข่ เป็นสาเหตุให้เชื้อตายได้ วิธีแก้เราเรียนโดยสังเกตจากแม่ไก่ว่า แม่ไก่จะใช้เท้าของมันขยับไข่ ที่มันฟักอยู่ให้กลิ้งไปกลิ้งมาโดยทั่วกันอย่างน้อยวันละ ๕ หน เพื่อให้โอกาสเชื้อหรือตัวอ่อน ที่กำลังเจริญเติบโตได้เคลื่อนไปมา ไม่ลอยเข้าไปติดเยื่อเปลือกไข่ ฉะนั้น เมื่อเราฟักไข่ในตู้ฟัก ก็อาจจะใช้มือหมุนกลับไข่จากข้างบนให้ลงไปอยู่ข้างล่าง หรือว่า ถ้าตู้ฟักวางไข่โดยตั้งทางด้านป้านขึ้น ก็ให้เปลี่ยนมุมตั้ง จะได้ผลเท่ากัน
มีปัญหาข้อหนึ่งที่ชอบถามกัน คือว่า ลูกไก่เกิดจากไข่ขาว หรือไข่แดง คำตอบอาจจะตอบสั้นๆ ไม่ได้ ตามที่เราทราบแล้วเมื่อตอนต้นว่า เชื้อลูกไก่ หรือจุดกำเนิดมิใช่ไข่แดง และก็ไม่ใช่ไข่ขาว แต่อยู่ที่ผนังหุ้มไข่แดง จุดกำเนิดนี้ เมื่อเจริญเติบโตเป็นเชื้อลูกไก่ก็ได้อาศัยอาหารซึ่งย่อยมาจากไข่แดง และไข่ขาวด้วย มาสร้างตัวของมันเอง ฉะนั้นอวัยวะต่างๆ เนื้อหนัง กระดูก ขนจึงมาจากไข่แดง และไข่ขาว นอกจากนั้นการสร้างกระดูกต้องใช้ธาตุ แคลเซียม และฟอสฟอรัส ซึ่งในไข่ขาว และไข่แดง มีน้อยมาก เชื้อลูกไก่ต้องเอาแร่ธาตุนี้มาจากเปลือกไข่ ฉะนั้นถ้าเราช่างสังเกตจะเห็นว่า เปลือกไข่ก่อนฟักนั้นค่อนข้างจะหนาและแข็งแรง แต่เมื่อลูกไก่ฟักออกจากไข่ เปลือกไข่ที่เหลืออยู่แม้จะไม่บางลง แต่กรอบเปราะ และมีน้ำหนักหายไป
ลูกไก่เมื่อแรกฟักออก ตัวจะเปียกแล้วจึง ค่อยๆ แห้ง เมื่อแห้งแล้วขนจะฟูอ่อนนุ่ม และดู สวยน่ารักน่าลูบคลำ แต่บางครั้งเราอาจจะเห็นลูกไก่บางรุ่นที่ขนไม่ฟู ดูเหมือนกับว่ามีอะไรเคลือบตัว ทำให้ตัวลีบ และลูกไก่มักมีน้ำหนักค่อนข้างเบา สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้น คือ ความชื้นของ อากาศภายในตู้ฟักต่ำเกินไป ทำให้น้ำภายในไข่ ระเหยออกมากในขณะฟัก จึงได้ลูกไก่ตัวเล็กและ ขนไม่ฟู อาการเช่นนี้มักเกิดขึ้นง่ายในระหว่างฤดู หนาว ซึ่งเป็นฤดูที่อากาศมีความชื้นต่ำ และถ้าผู้ฟักไข่เป็นผู้มีความระแวดระวัง ก็แก้ไขได้ โดยคอย เพิ่มความชื้นในตู้ฟักให้สูงพอดีกับความต้องการ แต่การเพิ่มความชื้นจนเกินต้องการ ก็มีผลเสีย เพราะ น้ำภายในไข่ฟักระเหยออกได้น้อย มีน้ำเหลืออยู่ในฟองไข่มาก กลับจะเป็นอันตรายแก่ลูกไก่