"ก.เอ๋ย ก.ไก่ ข.ไข่มาหา---" ใครๆ ก็รู้ว่าไข่มาจากไหน แม่ไก่ออกไข่ไก่ แม่เป็ดออกไข่เป็ด
แม่เป็ด แม่ไก่ และแม่นกทั้งหลายออกไข่ก่อน ออกไข่ก่อนแล้วจึงฟัก ไข่ให้เป็นตัว ถ้าเป็นไข่ที่มีเชื้อ แม่ไก่ก็ฟักให้เป็นลูกเจี๊ยบออกมา ในเวลา ๒๑ วัน แต่แม่เป็ดฟักไข่เป็ดต้องรอนาน ๒๘ วัน ลูกเป็ดจึงจะออกจากไข่
เป็ด ไก่ มีปีกเหมือนนก เพราะ เป็ด ไก่ ก็เป็นนกเหมือนกัน แต่ เป็ด ไก่ ที่เราเลี้ยงบินไม่เก่ง มันชอบเดินมากกว่าชอบบิน จึงมีขาแข็งแรง กล้ามเนื้อขาล่ำสัน
เป็ดว่ายน้ำเก่ง เพราะง่ามเท้ามีแผ่นหนัง ใช้แทนพาย ขนเป็ดมีน้ำมัน ทำให้ตัวลอยน้ำได้ ชอบไซ้หาอาหารที่อยู่ในน้ำ ส่วนไก่นั้น ไม่ชอบน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็น ชอบเดินคุ้ยเขี่ยหาอาหารกินตามพื้นดิน
ทั้ง เป็ด ไก่ และนก เราเรียกรวมกันว่า สัตว์ปีก สัตว์ปีก มีปีก ๒ ปีก ขา ๒ ขา มีขนปกคลุมตัว แข้งมีเกล็ด คอยาว ปากมันแข็งจึงไม่ต้อง มีฟัน ขนของมันมีสีต่างๆ กัน ที่สีสันสวยงามน่ารักก็มี ที่สีพื้นๆ ไม่สวยก็มี โบราณท่านจึงมีคำพังเพยว่า "ไก่งามเพราะขน"
เราใช้ไข่เป็ด ไข่ไก่เป็นอาหาร ไข่นกอย่างอื่นก็ใช้รับประทานได้ ไข่นกพิราบ ไข่นกกระทา มีผู้ชอบรับประทานมากเหมือนกัน จึงมีผู้เลี้ยงเช่นเดียวกับเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ แต่เลี้ยงจำนวนน้อยกว่ากัน
เนื้อเป็ด เนื้อไก่ ก็เป็นอาหารที่เราชอบรับประทาน ห่าน ไก่ งวง และ นกพิราบ ก็เช่นเดียวกัน จึงมีคนนิยมเลี้ยงบ้างเหมือนกัน
เราเลี้ยง เป็ด ไก่ ก็ต้องรัก เป็ด ไก่ ดูแลให้อาหารมัน ดูแลให้มันอยู่โดยปลอดภัย ไม่ร้อน หรือไม่หนาวเกินไป ป้องกันไม่ให้ศัตรูรบกวน เป็ด ไก่ จึงจะโตเร็ว แข็งแรง และไข่ให้เรา
อาหารของมัน คือ ข้าวเปลือก ปลา หอย ตัวปลวก ไส้เดือน ผักสด เราอาจหารำข้าว ปลายข้าว คลุกกับปลาบด และผักสับละเอียดให้มันก็ได้ หรือจะใช้ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง ให้มันกินแทนข้าวเปลือกบ้างก็ใช้ได้ดี ถั่วเหลือง ถั่วลิสงที่สกัดน้ำมันพืชออกแล้วเหลือเป็นกากถั่ว ก็ใช้แทนปลาและเนื้อได้ ใบกระถินตากแห้งแล้ว บดให้ป่น ก็ใช้แทนผักสดได้ผลดีเหมือนกัน
เราสร้างคอกหรือเล้าให้ เป็ด ไก่ ได้อาศัยนอนช่วยกันฝน กันลม และป้องกันศัตรูมิให้เข้ามาทำร้ายมัน ศัตรูของเป็ด ไก่ ที่พบบ่อยๆ คือ สุนัข แมว พังพอน เหยี่ยว กา งู และขโมย
เป็ด ไก่ ก็เจ็บไข้ได้เหมือนกัน เราจึงต้องใช้ยารักษาในบางครั้ง เวลาเลี้ยงจำนวนมาก เขามักใช้ยาป้องกันมากกว่าคอยรักษา เช่นเดียวกับที่เราฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์
มีสัตว์ปีกหลายชนิดที่คนเลี้ยงไว้ดู เพื่อความเพลิดเพลิน เช่น นกแก้ว นกขุนทอง นกหงส์หยก ไก่ต๊อก เป็นต้น มีบางชนิดที่เราเลี้ยง เพื่อหวังใช้เป็นอาหาร เช่น ไก่ เป็ด ห่าน ไก่งวง นกพิราบ นกกระทา มนุษย์รู้จักเลี้ยงเป็ดและไก่มาแต่สมัยโบราณ เราได้ใช้ไข่และเนื้อเป็นอาหาร ใช้มูลทำปุ๋ย เพื่อปลูกพืชผักและไม้ผลให้ได้ผลดี ใช้ขนทำเครื่องประดับ ทำไส้หมอนแทนนุ่น ทำลูกขนไก่สำหรับใช้เล่นกีฬาประเภทหนึ่งก็ได้ มีผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอีกประเภทหนึ่ง คือ ผู้เลี้ยงไก่ชน ซึ่งเลี้ยง เพื่อความเพลิดเพลิน ปนกับผลประโยชน์อย่างอื่นอันจะไม่กล่าวถึงในทีนี้
ในการศึกษาทดลอง เรามักใช้ไก่เป็นตัวแทนของสัตว์ปีก ไก่เดินสองขาคล้ายคน อวัยวะที่น่าจะเป็นแขน เปลี่ยนรูปเป็นปีก เพื่อช่วยให้บินได้ ไก่ที่เราเห็น บินไม่ได้ทุกตัว พวกไก่แจ้ ไก่ป่า หรือไก่อูยังบินเก่งอยู่ แต่มีไก่ที่เราเลี้ยงและผสมพันธุ์ เพื่อใช้เป็นอาหารคนโดยเฉพาะ มีขนาดตัวโตกว่า มีเนื้อมากกว่า ไข่เก่งกว่า แต่บินไม่เก่ง หรือได้เพียงเล็กน้อย ลักษณะปีกไก่นั้น แตกต่างไปจากปีกค้างคาว คือ มีขนที่เรียกว่า เป็นขนนก ขนนี้แตกต่างจากขนที่ปกคลุมตัวเรา เพราะมีก้านแข็ง และมีขนเป็นแผง 2 ข้าง ปีกไก่ซึ่งประกอบด้วยขนปีกหลายเส้นเข้าแถวเรียงกัน สามารถทำหน้าที่เป็นใบต้านลม หรือกวักลมให้เกิดแรงยก ทำให้บินได้ ส่วนขนปกคลุมตามลำตัว มีก้านไม่แข็งเหมือนขนปีก ขนชนิดนี้ทำหน้าที่เหมือนเสื้อผ้าชั้นดี กันหนาวกันลมได้ดีมาก
ขนที่ปกคลุมส่วนต่างๆ ของลำตัว มีลักษณะแตกต่างกันบ้างตามลักษณะหน้าที่ บางส่วนไม่มีขนปกคลุมเลย ได้แก่หน้าที่ หงอน จะงอยปาก และที่แข้ง ไก่บางพันธุ์ก็มีขนที่แข้ง แต่เป็นขนประดับมากกว่าปกคลุม ถ้าดูใกล้ๆ จะเห็นว่า ที่หน้าแข้งมีเกล็ด ซึ่งแข็งคล้ายๆ กับเล็บของคนเราปกคลุมอยู่ เกล็ดนี้ทำหน้าที่ปกป้องเช่นเดียวกับรองเท้าบู๊ตที่เราสวมใส่ ไก่มีนิ้วเท่าคล้ายเราเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่มีน้อยกว่า ๑ นิ้ว คือ มีเพียง ๔ นิ้ว และแยกอยู่ข้างหน้า ๓ นิ้ว ข้างหลัง ๑ นิ้ว เพื่อที่จะใช้เกาะกิ่งไม้หรือคอนนอนได้มั่นคง นอกจากใช้เกาะ หรือใช้เดินแล้ว นิ้วเท้าจัดว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการเลี้ยงชีพ กล่าวคือ ไก่ เมื่ออยู่ตามธรรมชาติต้องพึ่งนิ้วคุ้ยเขี่ยหาอาหารกิน ฉะนั้นจึงเรียกนิ้วเท้าไก่เป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพอันสำคัญ รวมกับปาก
จะงอยปากไก่ประกอบด้วยวัตถุแข็งคล้ายเล็บ เช่นเดียวกับเกล็ดที่หน้าแข้งของมัน จะงอยปากมี 2 ส่วน ส่วนบนครอบส่วนล่าง จะงอยปากนี้งอกได้เช่นเดียวกับเล็ก เรามักไม่เห็นว่ามันมีปากยาวเกินสมควร ด้วยเหตุที่เมื่อไก่คุ้ยเขี่ยหาอาหาร หรือจิกกินอาหาร จะงอยปากของมันจะครูดไปกับพื้นดิน หรือรางอาหาร ทำให้สึกกร่อนไปเรื่อยๆ แต่เนื่องจาก การสึกกร่อนนี้เป็นไปเท่าๆ กับการงอก เราจึงไม่สังเกตว่า ปากมันยาวขึ้นมาแต่อย่างใด แต่ถ้าไก่ที่เลี้ยงในที่จำกัด ไม่ต้องคุ้ยหาอาหารเอง มีอาหารใส่รางให้กินโดยสมบูรณ์ บ่อยครั้งเรามักจะเห็นว่าจะงอยปากสึกช้า เลยดูยาวเกินไป ต้องช่วยตัดให้ก็มี
ไก่มีจมูกเหมือนกัน สำหรับใช้หายใจ บางครั้งไก่ก็หายใจทางปากด้วย ยิ่งเวลาอากาศร้อน หายใจทางจมูกไม่ทัน ก็ต้องอ้าปากช่วยหายใจ เหตุเนื่องจาก ไก่ไม่มีต่อมเหงื่อบนผิวหนัง จมูกไก่นี้ใช้ดมกลิ่นได้ดี แต่ไม่สนใจกับกลิ่นหอม หรือกลิ่นเหม็น ตามความรู้สึกของคน ไก่รู้กลิ่นอาหารใหม่ หรืออาหารเก่าได้เก่ง จึงมักเลือกอาหาร ไก่จะรู้สึกรำคาญกลิ่นที่แรงแสบจมูก เช่น กลิ่นควันไฟ หรือกลิ่นกรดน้ำส้ม เป็นต้น ไก่มีตา ๒ ตา ตาไก่สามารถจะมองเห็นสีต่างๆ ได้ดี มันสามารถจะแยกจิกกินเมล็ดข้าวโพดเหลือง ซึ่งปนอยู่ในอาหารเก่ง แต่เวลาไก่มองอะไรไกลๆ ให้ชัด มักจะต้องเอียงคอมอง ใช้ตามองเพียงข้างเดียว ซึ่งผิดกับคน ไก่มีหู ๒ ข้าง แต่ไม่มีใบหูอย่างที่เรามี มันอาศัยขนที่งอกเป็นกลุ่มรอบๆ หูไปจนถึงเยื่อหูตอนใน ทำหน้าที่คล้ายใบหู และได้ผลดีเช่นกัน ไก่มีประสาทรสที่ปลายลิ้น ไก่เล็กมีรสสัมผัสดีกว่าไก่ใหญ่ แต่ไม่มีรสสัมผัสทางรสหวาน
ถ้าเราดูหางไก่จะเห็นว่า หางไก่นั้นสวยเพราะขน โดยธรรมชาติขนหางไก่ของตัวผู้มีความยาว และมีสีสดสวยมากกว่าหางตัวเมีย แต่ถ้าถอนขนออกเสียแล้ว หางไก่มีความยาวไม่มาก ต้องเรียกว่า สั้นจู๋ และไม่มีข้อแตกต่างกันมากนักระหว่างไก่ตัวผู้กับไก่ตัวเมีย ที่ตรงเกือบสุดปลายหาง จะมีปุ่มอยู่ปุ่มหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ต่อมน้ำมัน เป็นอวัยวะที่ผลิตน้ำมัน สำหรับตกแต่งขนให้เป็นเงาสวยงาม ไก่จะใช้จะงอยปากไซ้น้ำมันที่ต่อม แล้วไปไซ้ขนอีกทีหนึ่ง สำหรับเป็ดหรือสัตว์ปีกอย่างอื่นที่จำเป็นต้องว่ายน้ำ น้ำมันจากต่อมนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด คือ จะช่วยทำให้ขนสามารถกันน้ำได้ชั่วระยะหนึ่ง การที่เป็ดหรือนกน้ำอย่างอื่นลอยน้ำอยู่ ก็เพราะขนที่หุ้มตัวมีน้ำมัน และกันไม่ให้น้ำเข้า จึงทำให้ลอยตัวอยู่ได้ ถ้าหากในน้ำมีสารบางอย่าง เช่น ผงซักฟอกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสามารถจะละลายไขมันออกจากขน และทำให้น้ำซึมเข้าไปในขนได้ เป็ดหรือนกน้ำเหล่านั้น ก็จะจมน้ำตายได้เหมือนกัน
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ขนหางของไก่ตัวผู้มักจะยาวกว่าไก่ตัวเมีย เมื่อดูขนในส่วนอื่นของตัว เช่น ที่ขนสร้อย ที่สร้อยคอ และสร้อยหาง ก็จะแยกแบ่งเพศเช่นเดียวกัน ขนสร้อยคอ และสร้อยหางของตัวผู้ยาวกว่า และสวยกว่าของตัวเมีย ในทำนองเดียวกันเป็ดตัวผู้ก็สวยกว่าตัวเมีย มีแถบรอบคอ ปลายขนหางงอน ขนเป็นมันกว่า ส่วนขนที่ตัวไม่สู้จะผิดกันมากนัก เพราะมีหน้าที่ปกคลุมตัวให้อบอุ่นแทนเสื้อผ้าอย่างเดียว เคยมีผู้คิดว่า ถ้าเราสามารถผสมพันธุ์ไก่ไม่ให้มีขนได้ คงจะช่วยทุ่นเวลาในการถอนขนไก่มากทีเดียว ข้อคิดนี้เป็นความจริง แต่มีข้อเสียมากกว่าข้อดี กล่าวคือ นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองผสมพันธุ์ และได้ไก่ซึ่งไม่มีขนโดยธรรมชาติ ปรากฎว่า ต้องเลี้ยงไก่เหล่านี้ในห้อง ซึ่งอบอุ่นพอสมควร จึงจะเจริญเติบโต และสบายดี ถ้าถูกอากาศเย็นจัดหน่อย ก็อาจจะป่วยตายได้ง่ายๆ นอกจากนั้น ไก่ไม่มีขน ยังต้องกินอาหารจำนวนมากกว่าธรรมดา ด้วยเหตุที่ว่า ต้องใช้อาหารไปทำความร้อนเพิ่มในตัว เพื่อให้ตัวอุ่นตามปกติ และเมื่อไม่มีขนปกคลุมแทนเสื้อผ้าก็สูญเสียความร้อนมาก หรือเรียกว่า ขี้หนาวนั่นเอง ฉะนั้น มันต้องกินข้าวเผื่อเป็นพิเศษ สำหรับจะแก้หนาว เมื่อไก่ไม่มีขนต้องกินอาหารมากกว่าไก่ที่มีขนกว่าเท่าตัว ถ้าเลี้ยงไว้ดูเล่นเป็นของแปลกก็ดีอยู่ ถ้าเลี้ยงไว้ เพื่อเอาไข่หรือเนื้อคงจะไม่ดีแน่
เนื้อไก่ เป็ด ห่าน ไก่งวง ที่ใช้เป็นอาหารของคนได้จากกล้ามเนื้ออกและขาเป็นสำคัญ ข้อนี้แตกต่างจากเนื้อสุกรและโคอยู่บ้าง เพราะรากฐานทางวิวัฒนาการ ทำให้สัตว์ปีกมีโครงสร้างแตกต่างจากสัตว์สี่เท้า
สัตว์ปีกมีสันกระดูกยื่นจากกระดูกอก ทำให้เป็นกระดูกชิ้นโตที่สุดของร่างกาย กระดูกนี้ทำหน้าที่เป็นฐานยึดของกล้ามเนื้ออก ซึ่งมีหน้าที่ให้พลังแก่ปีกสำหรับบิน ด้วยหน้าที่นี้กล้ามเนื้ออกจึงเป็นกล้ามเนื้อสำคัญของสัตว์ปีก และนักพันธุศาสตร์ได้อาศัยพื้นฐานนี้ผสมและคัดเลือกพันธุ์ให้ได้ ไก่ เป็ด ห่าน ไก่งวง ซึ่งมีกล้ามเนื้ออกขนาดใหญ่ แม้สัตว์เหล่านี้เกือบจะลืมวิธีบินแล้วก็ตาม
มีลักษณะเด่นของสัตว์ปีกอีกประการหนึ่ง คือ กระดูกเชิงกรานนั้นประสานกับกระดูกหลังเป็นโครงชิ้นเดียวกัน น้ำหนักเบา แต่แข็งแรง โดยไม่ต้องอาศัยกล้ามเนื้อสันเป็นเครื่องยึดโยง ลักษณะนี้ก็ได้จากวิวัฒนาการ เพื่อการบินเช่นกัน ผลลัพธ์คือ สัตว์ปีกมีกล้ามเนื้อสันเป็นเพียงก้อนกลมๆ เล็กๆ ไม่ต้องทำงานใด แต่มีกล้ามเนื้อขาขนาดใหญ่สำหรับวิ่ง ๒ เท้าให้คล่องแคล่ว และว่องไว กับได้ใช้คุ้ยเขี่ยหาอาหาร ทั้งใช้ขาในการป้องกันตัวอีกด้วย
ดังนั้นในการคัดเลือกพันธุ์ นักพันธุศาสตร์ จึงสามารถเลือกเฟ้นลักษณะ หรือขนาดของกล้าม เนื้อโคนขา (หรือเรียกสะโพกก็ได้) และกล้ามเนื้อ น่องได้เป็นพิเศษ ส่วนที่แข้งซึ่งเป็นช่วงที่ ๓ ของ ขานั้นมีแต่กระดูก เอ็น และหนัง แข้งไก่นี้เปรียบได้กับกระดูกเท้าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมกันอยู่ เป็นกระดูก ๒ ชิ้น ส่วนที่นิ้วเท้านั้น เปรียบได้กับกระดูกนิ้วของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ลักษณะที่เติบโตเร็วก็ดี ลักษณะไข่ดกก็ดี แม้กระทั่งลักษณะของส่วนต่างๆ ของร่างกายก็ดี เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยของนักพันธุศาสตร์ หรือนักผสมพันธุ์สัตว์ปีก จะคัดเลือกผสมพันธุ์ให้ได้ลักษณะดี เด่นต่างๆ ได้ไม่ยากนัก
สมัยนี้มีศัพท์ใหม่อีกคำหนึ่ง คือ คำว่าสัตว์ ปีกเศรษฐกิจ หมายถึง สัตว์ปีกที่คนเราเลี้ยงเอาเนื้อ เอาไข่มาเป็นอาหารสำคัญ เป็นสินค้า และเป็น อาชีพสำคัญ
ในการขายเนื้อไก่ควรแยกประเภทไก่ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจและซื้อได้ถูกต้อง ตามความประสงค์ วิธีหนึ่งที่นิยมเป็นสากลแบ่งแยกประเภทดังนี้
๑. ไก่กระทง ทั้งเพศเมียและเพศผู้ อายุ ไม่เกิน ๑๖ สัปดาห์ แต่ที่ซื้อขายได้ขนาด ๑.๕ กก. ส่วนมากอายุไม่เกิน ๘ สัปดาห์ ไก่กระทงที่ใช้ย่าง ขายกันสมัยนี้อายุประมาณ ๕ สัปดาห์
๒. ไก่หนุ่มสาว อายุไม่เกิน ๘ เดือน
๓. ไก่ตอน เพศผู้อายุไม่เกิน ๑๐ เดือน และมีไก่ตอนที่เป็นเพศเมีย ได้แก่ ไก่กระทงซึ่งขุน ให้อ้วนขายได้ภายในอายุก่อน ๕ ๑/๒ เดือน โดยไม่ ต้องทำการตอนแต่อย่างใด
๔. ไก่แกง ทั้งสองเพศอายุเกิน ๑๐ เดือน โดยมากจะมีอายุ ๑๘-๒๔ เดือน คือ หลังจากเลิก ใช้เป็นไก่ไข่ หรือไก่พันธุ์แล้ว
ไก่ที่ผ่านโรงงานเชือดไก่แล้ว จะถูกถอนขน และทำความสะอาดเบื้องต้น ประมาณได้ว่าน้ำหนัก จะลดหายไปร้อยละ ๑๐ และเมื่อตกแต่งตัดหัว ขา เครื่องในแล้วก็จะลดไปอีกร้อยละ ๒๐ เป็นน้ำหนัก เหลือประมาณร้อยละ ๗๐ ตัวเลขนี้อาจแตกต่างกันไปบ้าง ถ้าไก่มีอายุแตกต่างกัน
คุณภาพของเนื้อ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับอายุ และการเลี้ยงดูก่อนส่งมาตลาด คือถือเป็นหลักกลาง ได้ว่า ไก่อายุน้อย เนื้อนุ่ม และเปื่อยง่ายกว่าไก่อายุมาก ไก่ที่ขุนด้วยอาหารที่มีแป้งและไขมันสูงจะมี ไขมันในเนื้อมาก ทำให้เนื้อนุ่มกว่าไก่ที่ไม่ได้ขุน นอกจากนี้แล้ว คุณภาพยังขึ้นอยู่กับกรรมวิธีรักษา คุณภาพภายหลังที่เชือดแล้ว ซากไก่มีอุณหภูมิใน ตัวค่อนข้างสูงถึง ๔๐ องศาเซลเซียส หากทิ้งไว้ให้ ค่อยลดลงเอง ก็เท่ากับเปิดทางให้จุลินทรีย์หลายๆ ชนิดได้เจริญขยายตัว ทำลายคุณภาพลงอย่างรวดเร็ว จึงควรเร่งลดอุณหภูมินี้ โดยการแช่ซากไก่ในน้ำปน น้ำแข็ง อุณหภูมิ ๐-๑ องศาเซลเซียส ใช้เวลาตั้ง แต่ ๓-๒๔ ชั่วโมง เป็นการถอนความร้อนในตัว การถอนความร้อนนี้ นับว่าจำเป็นแก่การเก็บไก่สด ไม่ว่าจะเก็บในตู้เย็น เพื่อใช้ในระยะสั้น หรือเก็บแช่ แข็งเพื่อใช้ในระยะยาวก็ตาม
ไก่กินอาหารอะไรบ้าง โดยทั่วไปเราก็มักจะเห็นว่า ไก่ชอบกินข้าวเปลือก ข้าวสาร นอกจากนั้นก็คงจะเคยได้ยินว่า เมล็ดธัญพืช หรือเมล็ดพืชหลายๆ อย่าง เป็นอาหารไก่อาหารเป็ดได้ทั้งสิ้น ยังมีอาหารประเภทหนึ่งนอกเหนือจากอาหารแป้ง ซึ่งได้จากเมล็ดพืช หรือเมล็ดข้าวที่ว่าไว้แล้ว คือ อาหารโปรตีน ซึ่งต้องมาจากเนื้อสัตว์ เนื้อปลา หอย เหล่านี้ ไก่ชอบกินตัวปลวก เมื่อคุ้ยเขี่ยหาอาหารเอง ไก่จะหากินแมลง ไส้เดือน เพื่อให้ได้อาหารโปรตีน หาไม่แล้วการเติบโตจะไม่เป็นไปตามปกติ เป็ดชอบไซ้หาอาหารกินในน้ำ เพื่อหาปลาและหอย ซึ่งเป็นอาหารโปรตีนของมัน
เมื่อไก่กลืนอาหารลงไป จะตกถึงกระเพาะที่หนึ่ง ซึ่งคนเราไม่มี เรียกว่า "กระเพาะพัก" อยู่ที่ต้นคอ อาหารจะพักอยู่ที่นี่ชั่วคราว ก่อนที่จะลงกระเพาะจริง เพื่อทำการย่อยให้เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ถัดไปเป็นกระเพาะที่สามหลังกระเพาะจริง
เรียกกันว่า กึ๋น ถ้าท่านสังเกตจะเห็นว่า กึ๋นนี้มีผนังหนา และมักจะมีก้อนกรวดเล็กๆ อยู่เป็นจำนวนพอสมควร ธรรมชาติสร้างกึ๋นไว้ให้ เพื่อจะได้ช่วยบดอาหารซึ่งเป็นเมล็ดข้าว เมล็ดข้าวโพด เหล่านี้มีเปลือกแข็ง และย่อยอย่างปกติด้วยน้ำย่อยในกระเพาะจริงไม่ได้ จะต้องหาโม่มาโม่เสียก่อนส่งไปลำไส้ กึ๋นนี้แหละทำหน้าที่โม่แทนการบดเคี้ยวในปาก เพราะไก่ไม่มีฟัน และก้อนกรวดเม็ดทรายซึ่งอยู่ภายในกึ๋น ก็เป็นเครื่องช่วยบดให้ได้ผลด้วย ดังนั้นเราจะเห็นว่า สัตว์ปีกที่กินเมล็ดข้าว กินอาหารค่อนข้างหยาบมากจะมีกึ๋นที่แข็งแรง และมีขนาดค่อนข้างโต ถ้าไก่เลี้ยงที่กินเฉพาะอาหารอ่อน อาหารป่น หรือสัตว์ปีกที่กินอาหารเนื้อเป็นประจำ ขนาดกึ๋นจะค่อนข้างเล็ก เพราะไม่จำเป็นต้องใช้งานมาก
ถัดจากกึ๋นก็เป็นลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ ซึ่งไก่บ้านทั่วๆ ไปจะมีลำไส้ยาวประมาณสองเท่าครึ่งของความยาวจากหัวจรดหาง ความยาวของลำไส้ไก่นี้ เมื่อเทียบกับสัตว์อื่นนับว่า น่าสนใจ เราใช้วิธีเทียบโดยคิดว่า ยาวเป็นกี่เท่าของตัว สัตว์ที่กินอาหารจำพวกหญ้า เช่น แพะ แกะ วัว ควาย ลำไส้ยาวเป็นหลายเท่าของตัวมัน คนมีลำไส้ยาวปานกลาง แต่ลำไส้ของไก่ค่อนข้างสั้น เพียงสองเท่าครึ่งของตัว ลักษณะลำไส้สั้นนี้แสดงว่า ไก่จำเป็นต้องกินอาหารค่อนข้างดี คือ มีแป้งมาก มีโปรตีนดี เพราะอาหารมีเวลาอยู่ในลำไส้ไม่นานนัก จำเป็นต้องรีบย่อย และดูดซึมเอาไปใช้ประโยชน์โดยรวดเร็ว ข้อนี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เป็ดไก่โตเร็วได้
ที่ลำไส้ใหญ่ตอนปลายจะมีลักษณะเหมือนกับของสัตว์เลื้อยคลาน กล่าวคือ ก่อนที่จะถึงทวารหนักจะเป็นที่รวมของท่อปัสสาวะ และท่อไข่ หรือท่ออวัยวะสืบพันธุ์ ข้อนี้แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งปัสสาวะและไข่จะมีทางออกจากร่างกายทางเดียว คือ ผ่านทางทวารหนัก เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีคำถามขึ้นว่า ถ้าปัสสาวะออกมาพร้อมกับอุจจาระแล้ว ทำไมโดยมาก เราจึงเห็นมูลไก่เป็นก้อน ไม่เหลวเป็นน้ำ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะที่ปลายลำไส้ใหญ่ หรือที่เรียกว่า ส้วงทวารหนักนั้น ผนังโดยรอบมีความสามารถเป็นพิเศษในการดูดซึมน้ำจากปัสสาวะคืนเข้าสู่ร่างกาย แล้วทิ้งกรดยูริก คือ ของแข็งที่ละลาย มาในปัสสาวะให้หยอดไว้เป็นก้อนสีขาวๆ บนมูลไก่ ปรากฏการณ์เช่นนี้ อาจเนื่องจาก ความจำเป็นที่ไก่และสัตว์ปีกส่วนใหญ่ ไม่สู้มีโอกาสได้ดื่มน้ำมากนัก โดยปกติถ้าแม่ไก่กินอาหารแห้งป่นวันละ ๑๐๐ กรัม ก็มีความต้องการกินน้ำวันละ ๒๐๐ กรัม หรือ ๒๐๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร จึงจะอยู่สบาย และให้ไข่ตามสมควร อัตรานี้นับว่าน้อยเมื่อเทียบกับสัตว์อื่น หรือเทียบกับตัวเราเอง ซึ่งรับประทานอาหารที่มีน้ำปนอยู่ด้วยในอัตราสูงอยู่แล้ว แต่ถ้าด้วยเหตุบังเอิญ แม่ไก่ได้กินน้ำไม่ถึงวันละ ๒๐๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร แม่ไก่ก็ยังจะอยู่ได้โดยไม่ตาย แต่จะบอกเจ้าของไห้รู้ว่า ได้น้ำไม่พอกินโดยการหยุดไข่ หรือถึงกับผลัดขน ถ้าเป็นไก่เล็กก็อาจจะโตช้าไป ฉะนั้นผู้เลี้ยงจึงต้องระวังตลอดเวลา
|
|
อาหารที่กิน |
น้ำ |
||
อาหารต่อ ๑วัน |
ภาชนะอาหารควรยาว |
ลิตรต่อ |
ภาชนะน้ำควรยาว |
||
ไก่
|
๐-๒ ๐-๒ |
๑.๕ ๑.๘ |
๒.๔๔ ๔.๘๘ |
๓.๘ ๓.๘ |
๐.๖๑ ๐.๙๑ |
หมายเหตุ
๑. ตัวเลขในตารางนี้เป็นเกณฑ์อย่างต่ำ ผู้เลี้ยงควรหมั่นสังเกตและเพิ่มเติม อีกให้เพียงพอตลอดเวลา เช่น ใน ตอนบ่ายหรือเวลาที่อากาศร้อนหรือ ระยะไก่เติบโตเร็ว
๒. ความยาวของภาชนะเป็นความยาว รวม ตามปกติแต่ละภาชนะยาวประ- มาณ ๕๐ เซนติเมตร สำหรับไก่เล็ก และ ๑.๐๐-๑.๕๐ เมตร สำหรับไก่ใหญ่ ๓. ปัจจุบันใช้รางน้ำมีลิ้นบังคับอัตโนมัติ และที่ให้อาหารแบบถังแขวน ซึ่งมี ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เลื่อน ระดับให้เหมาะกับอายุไก่ได้สะดวก