Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประติมากรรมไทยสมัยเชียงแสน

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
6,987 Views

  Favorite

ประติมากรรมไทยสมัยเชียงแสน

ประติมากรรมไทยสมัยเชียงแสน เป็นประติมากรรมในดินแดนสุวรรณภูมิที่นับว่าสร้างขึ้นโดยฝีมือช่างไทยเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๒๑ มีปรากฏแพร่หลายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือของไทย แหล่งสำคัญอยู่ที่เมืองเชียงแสน วัสดุที่นำมาสร้างงานประติมากรรมมีทั้งปูนปั้น และโลหะต่างๆ ที่มีค่า จนถึงทองคำบริสุทธิ์ ประติมากรรมเชียงแสน แบ่งได้เป็น ๒ ยุค คือ

 

เชียงแสนยุคแรก 
มีทั้งการสร้างพระพุทธรูป และภาพพระโพธิสัตว์ หรือเทวดาประดับศิลปสถาน พระพุทธรูปโดยส่วนรวม มีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธรูปอินเดีย สมัยราชวงปาละ มีพระวรกายอวบอ้วน พระพักตร์กลมคล้ายผลมะตูม พระขนงโก่ง พระนาสิกโค้งงุ้ม พระโอษฐ์แคบเล็ก พระหนุเป็นปม พระรัศมีเหนือเกตุมาลาเป็นต่อมกลม ไม่นิยมทำไรพระสก เส้นพระสกขมวดเกษาใหญ่ พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้น ตรงปลายมีลักษณะเป็นชายธงม้วนเข้าหากัน เรียกว่า เขี้ยวตะขาบ ส่วนใหญ่นั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย ฐานที่รององค์พระทำเป็นกลีบบัวประดับ มีทั้งบัวคว่ำ บัวหงาย และทำเป็นฐานเป็นเขียง ไม่มีบัวรองรับ ส่วนงานปั้นพระโพธิสัตว์ประดับเจดีย์วัดกู่เต้า และภาพเทวดาประดับหอไตรวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ มีสัดส่วนของร่างกายสะโอดสะอง ใบหน้ายาวรูปไข่ ทรงเครื่องอาภรณ์เช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์ในศิลปะแบบปาละเสนะของอินเดีย หรือแบบศรีวิชัย
 

เชียงแสนยุคหลัง 
มีการสร้างพระพุทธรูปที่มีแบบของลัทธิลังกาวงศ์ จากสุโขทัย เข้ามาปะปนรูปลักษณะ โดยส่วนรวมสะโอดสะองขึ้น ไม่อวบอ้วนบึกบึน พระพักตร์ยาวเป็นรูปไข่มากขึ้น พระรัศมีทำเป็นรูปเปลว พระศกทำเป็นเส้นละเอียด และมีไรพระศกเป็นเส้นบางๆ ชายสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี พระพุทธรูปโดยส่วนรวมนั่งขัดสมาธิราบ พระพุทธรูปที่นับว่าสวยที่สุด และถือเป็นแบบอย่างของพระพุทธรูปยุคนี้คือ พระพุทธสิหิงค์ ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ พระพุทธรูปเชียงแสนนี้มักหล่อด้วยโลหะทองคำ และสำริด

พระศากยสิงห์ พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย
พระศากยสิงห์ พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน ประดิษฐานที่พระระเบียง วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow