มนุษย์ทุกคนล้วนเกิด แก่ เจ็บ ตาย การเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาตั้งแต่เราเกิดมาจนแก่เฒ่าและตายไป ในสมัยโบราณคนไทยได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาหรือบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นโดยการลองผิดลองถูกอาจเริ่มต้นจากการบีบนวดบริเวณที่เจ็บปวดตามร่างกายแล้วสามารถทำให้ผ่อนคลายหรือหายจากความเจ็บปวดได้หรือโดยการสังเกตผลจากการกินพืช ส่วนของพืช ผัก ผลไม้บางชนิด ตลอดจนสัตว์หรือส่วนของสัตว์ซึ่งทำให้บรรเทาหรือหายจากความเจ็บป่วยได้ ประสบการณ์เหล่านี้ค่อย ๆ ถูกสะสมไว้แล้วถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งจนมาถึงปัจจุบัน ความรู้ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เมื่อได้ผ่านการรวบรวม วิเคราะห์ สรุป และจัดให้เป็นระบบหรือเป็นหมวดหมู่กลายเป็นระบบการแพทย์แบบดั้งเดิมของคนไทยซึ่งในสมัยก่อนเรียกกันว่า การแพทย์แผนโบราณ แต่ปัจจุบันนิยมเรียกเป็น การแพทย์แผนไทย
วิถีชีวิตของคนไทยในสมัยโบราณหรือแม้กระทั่งในสังคมชนบทยุคปัจจุบันบางแห่งล้วนเกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทยโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ สมาชิกในครอบครัวหนึ่ง ๆ อาจผูกพันกับการแพทย์แผนไทยตั้งแต่แรกเกิด ไม่ว่าจะเป็นการคลอดกับหมอตำแยซึ่งเป็นสมาชิกในชุมชนที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำคลอดรวมทั้งการดูแลสุขภาพของมารดาและทารกหลังคลอดซึ่งมีข้อพึงปฏิบัติ ข้อห้ามหรือข้อพึงระวังสำหรับทั้งมารดาและเด็ก เช่น การให้มารดานอนใกล้ไฟในระยะหลังคลอดใหม่ ๆ ที่เรียกกันว่า การอยู่ไฟ เมื่อเด็กเริ่มเติบโตขึ้นมีการเจ็บป่วยก็มักดูแลรักษาด้วยการต้มยาหรือฝนยาให้กิน การกวาดลิ้นด้วยยารวมถึงการระวังไม่ให้กินอาหารบางอย่างบางประเภทในระหว่างเจ็บป่วยความรู้เหล่านี้ได้รับการเรียนรู้และปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต้องทำงานในท้องไร่ท้องนาก็มักมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ปวดเอว ปวดหลัง เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ หากอาการไม่รุนแรงมากนักก็มีการดูแลรักษากันเองโดยหมอที่อยู่ในชุมชนนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการนวดเพื่อให้ผ่อนคลายจากความเมื่อยล้าหรือการนวดโดยหมอนวดเพื่อบำบัดรักษาโรคหรืออาการบางอย่างโดยเฉพาะ เช่น ปวดเอวหรือการประคบด้วยลูกประคบสมุนไพรเพื่อให้ผ่อนคลายจากความปวดเมื่อยรวมทั้งการใช้ยาสมุนไพรหรือการรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นสิ่งเหล่านี้ล้วนจัดเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยทั้งสิ้น
การแพทย์แผนไทยเป็นระบบการแพทย์แบบดั้งเดิมของไทย เดิมเคยเรียกว่า การแพทย์แผนโบราณ เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยในการบำบัดความเจ็บป่วยที่ได้สร้างสมจากการลองผิดลองถูกผสมผสานกับความรู้ทางการแพทย์ร่วมสมัยที่ได้รับจากชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่อดีตเรื่อยมาร่วมกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ในพระไตรปิฎกแห่งพระพุทธศาสนาหล่อหลอมจนกลายเป็นระบบการแพทย์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตัวอย่างเช่น ความรู้ในการบริหารร่างกายแก้ปวดเมื่อยหรือแก้โรคบางอย่างผสมผสานกับศาสตร์โยคะของอินเดียหล่อหลอมและประยุกต์ เป็นศาสตร์ที่เรียกว่า ฤๅษีดัดตน หรือการประยุกต์เอาสมุนไพรตัวยาดี ๆ ของต่างชาติที่ไม่มีในราชอาณาจักรไทยมาใช้ในตำรับยาไทยจนปัจจุบันแทบจะไม่รู้ว่าสมุนไพรชนิดใดเป็นของไทยชนิดใดเป็นของต่างชาติ เช่น ยาดำ (จากแอฟริกา) มหาหิงคุ์ (จากเปอร์เซีย) เทียนเยาวพานี (จากอินเดีย) โกฐเชียง (จากจีน)
หลักฐานเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยที่ยังคงเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบันที่สำคัญ ได้แก่ กฎหมายตราสามดวงที่ตราขึ้นในพ.ศ. ๑๙๙๘ ระบุศักดินาของข้าราชการพลเรือนที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับโดยแบ่งเป็นกรมต่าง ๆ หลายกรม เช่น กรมแพทยา กรมหมอยา กรมหมอกุมาร กรมหมอนวด กรมหมอยาตา กรมหมอวรรณโรค โรงพระโอสถ แต่ละกรมมีเจ้ากรมและตำแหน่งข้าราชการระดับอื่น ๆ ลดหลั่นกันไป หลักฐานสำคัญอีกเล่มหนึ่งคือตำราพระโอสถพระนารายณ์ซึ่งสืบทอดมาถึงปัจจุบันได้อย่างเกือบสมบูรณ์จะมีคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ในการคัดลอกชื่อสมุนไพรหรือคำราชาศัพท์บางคำที่ผิดเพี้ยนไปบ้างเท่านั้น ตำราเล่มนี้น่าจะรวบรวมขึ้นในราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. ๒๒๕๑ - ๒๒๗๕) หรืออย่างช้าก็ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕- ๒๓๐๑) ได้สรุปหลักวิชาการแพทย์แผนไทยและบอกตำรับยาแก้โรคที่เคยนำไปปรุงถวายพระเจ้าแผ่นดินแล้วหลายขนาน นอกจากนี้ยังมีศิลาจารึกตำรายาที่วัดราชโอรสาราม (ในรัชกาลที่ ๒) ศิลาจารึก ตำรายาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ในรัชกาลที่ ๓) และตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งหลักฐานเอกสารและศิลาจารึกเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยที่เป็นต้นแบบสืบทอดกันอยู่ในปัจจุบัน
แพทย์แผนไทยตั้งแต่สมัยโบราณให้ความเคารพนับถือ "ฤๅษีทั้ง ๘" และ "หมอชีวกโกมารภัจจ์" เป็นปฐมครูในบ้านมักปั้นรูปฤๅษีตนหนึ่งไว้บูชาในฐานะครูแพทย์แต่มิได้หมายเฉพาะเจาะจงว่าเป็นฤๅษีตนใดตนหนึ่งเท่านั้น ส่วนหมอชีวกโกมารภัจจ์นั้นเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร (พระราชาแห่งแคว้นมคธ) และเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ผู้เป็นพุทธสาวกทั้งหลาย ประวัติของหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นเรื่องราวประวัติการแพทย์สมัยพุทธกาลที่ยังคงทิ้งร่องรอยอย่างมีชีวิตชีวาในพระไตรปิฎก แพทย์แผนไทยยกย่องและนับถือหมอชีวกโกมาร ภัจจ์เป็นครูแพทย์จึงมักจัดทำเป็นรูปเคารพไว้สำหรับสักการบูชาเช่นเดียวกับรูปภาพฤๅษี การแพทย์แผนไทยเป็นศาสตร์แห่งภูมิปัญญาสาขาใหญ่สาขาหนึ่ง อาจแบ่งออกเป็น ๔ แขนง ได้แก่ เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การผดุงครรภ์ไทย และการนวดไทย
เป็นหมวดวิชาความรู้เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย และบำบัดโรค รวมถึงการป้องกันโรคด้วยวิธีการแบบแผนไทย ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแพทย์แผนไทยต้องมีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของโรครู้จักชื่อโรค รู้จักยาสำหรับแก้โรคและรู้ว่ายาใดสำหรับแก้โรคใด ในทางการแพทย์แผนไทยเชื่อว่าสาเหตุของโรค (หรือสมุฏฐานของโรค) ที่สำคัญนั้น คือ ความผิดปกติของธาตุทั้ง ๔ อันเป็นองค์ประกอบเบื้องต้นของร่างกาย ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ นอกจากนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและช่วงเวลาในแต่ละวันรวมทั้งอายุหรือวัยที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดจนที่เกิดและที่อยู่ที่อาศัยเมื่อแพทย์รู้สาเหตุของโรคก็จะปรุงยาสำหรับบำบัดโรคได้ถูกต้อง
หรือเภสัชกรรมแผนโบราณเป็นหมวดวิชาเกี่ยวกับการทำยาด้วยวิธีการแบบแผนไทย หมอแผนไทยจะปรุงยาที่มีคุณภาพดีใช้รักษาผู้ป่วยหรือบำบัดโรคได้ผลต้องมีหลักความรู้ ๔ ประการ ได้แก่ รู้จักเภสัชวัตถุ (ตัวยาสมุนไพรนานาชนิดทั้งที่ได้จากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ) รู้จักสรรพคุณเภสัช (รสและฤทธิ์ของตัวยาแต่ละชนิด) รู้จักคณาเภสัช (กลุ่มหรือหมู่ยาที่แพทย์แผนไทยจัดแบ่งไว้เป็นพวก ๆ เพื่อให้สะดวกในการตั้งตำรับยา) และรู้จักหลักเภสัชกรรม (วิธีการปรุงยาแบบโบราณ)
หรือการผดุงครรภ์แผนโบราณเป็นหมวดวิชาความรู้เกี่ยวกับการดูแลมารดาและทารกตั้งแต่ระยะเริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอด ดังนั้นแพทย์ผดุงครรภ์แผนโบราณ (หมอตำแย) มีหน้าที่ให้คำแนะนำ ดูแล บำบัด และป้องกันอาการต่าง ๆ ของผู้หญิงตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนครบกำหนดคลอดมีหน้าที่ทำคลอดตลอดจนดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอดและทารกแรกเกิดด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย ความโดดเด่นของหลักวิชาการผดุงครรภ์ไทยประการหนึ่งก็คือการดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอด เช่น การอยู่ไฟ การทับหม้อเกลือ การนั่งถ่าน การอาบสมุนไพร การอบสมุนไพร
หรือหัตถเวชกรรมไทยเป็นหมวดวิชาการแพทย์แผนไทยที่เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด และป้องกันโรค รวมถึงการส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพด้วยวิธีการกด การคลึง การบีบ การดัด การดึง การประคบ และการอบ ทั้งนี้ตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยนั้นร่างกายคนเราประกอบด้วย "เส้น" หรือ "เอ็น" หรือ "เส้นเอ็น" จำนวนมากโดยมีเส้นหลัก ๑๐ เส้น ซึ่งสำคัญกว่าเส้นอื่น ๆ เรียก เส้นสิบหรือเส้นประธานสิบ ภายในเส้นเหล่านี้เป็นทางไหลเวียนของ "เลือด" และ "ลม" ซึ่งในภาวะปกติจะไหลเวียนอย่างสมดุล หากมีการอุดกั้นหรือขัดขวางการไหลเวียนของเลือดและลมดังกล่าวก็จะทำให้เกิดความเจ็บป่วยหรือมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น ปวดเมื่อย มึนงง ท้องอืดเฟ้อ แพทย์แผนไทยก็จะบำบัดความเจ็บป่วยหรืออาการต่าง ๆ ด้วยการใช้ยาหรือด้วยการนวดตามจุดและเส้นที่เกี่ยวข้องเพื่อกระตุ้นให้เลือดและลมไหลเวียนเป็นปกติ
การนวดไทยอาจแบ่งตามวัตถุประสงค์ได้เป็น ๒ ประเภท คือ การนวดเพื่อผ่อนคลายเป็นการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและการนวดเพื่อบำบัดรักษาเป็นการนวดเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะในการบำบัดโรคหรือรักษาผู้ป่วย เช่น นวดแก้สะบักจม นวดแก้คอเคล็ด นอกจากนี้การนวดไทยยังอาจมีลีลาวิธีการนวดแตกต่างกันไป ๒ แบบ คือ การนวดแบบราชสำนัก และการนวดแบบเชลยศักดิ์ แต่เดิมการนวดแบบราชสำนักเป็นการนวดถวายพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงในราชสำนักจึงเน้นที่จรรยามารยาทในการนวด ปัจจุบันการนวดแบบนี้ใช้สำหรับบำบัดโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูกส่วนการนวดแบบเชลยศักดิ์หรือแบบทั่วไปนั้นเป็นการนวดแบบสามัญชนมีแบบแผนการนวดตามวัฒนธรรมท้องถิ่นประกอบกับประสบการณ์ที่สั่งสมของครูนวด การถ่ายทอดศาสตร์การนวดไทยแบบนี้เดิมมักสอนและเรียนกันตามบ้านครูนวดแต่ปัจจุบันมีการเรียนการสอนกันทั่วไปตามสถาบันการศึกษาหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย ทุกวันนี้การแพทย์แผนไทยได้กลับมาเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยมากขึ้นและมีบทบาทสำคัญที่อาจเป็นทั้งการแพทย์หลักในชนบทห่างไกลและเป็นการแพทย์เสริมหรือการแพทย์ทางเลือกในเมือง ผู้ประกอบวิชา ชีพการแพทย์แผนไทยจำเป็นต้องสอบเพื่อรับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพจากกระทรวงสาธารณสุขเสียก่อนจึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย