ประติมากรรมไทย
เมื่อเราไปวัด เรามักจะเข้าไปไหว้พระในโบสถ์ ปกติในโบสถ์จะมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่เป็นพระประธาน ๑ องค์ พระพุทธรูปนี้ เป็นรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า ลักษณะจะไม่เหมือนองค์จริงทุกอย่าง เพราะคนสร้าง สร้างขึ้นจากอุดมคติ ความรู้สึก ความเชื่อ และความศรัทธา โดยใช้ความสามารถทางด้านศิลปะเข้าไปช่วย ทำให้ผู้ดูรู้สึกว่า มีความงดงาม น่านับถือ น่าศรัทธา
พระพุทธรูป เป็นผลงานทางศิลปะชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ประติมากรรม ประติมากรรมเป็นงานศิลปะที่เกิดจากการปั้น หล่อ แกะสลัก ฉลุ หรือดุน นอกจากพระพุทธรูป ซึ่งเป็นประติมากรรมรูปคนแล้ว ยังมีประติมากรรมรูปสัญลักษณ์ ซึ่งสร้างขึ้น เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงความเชื่อทางศาสนา เช่น งานปั้น หรืองานแกะสลักรูปดอกบัว เป็นเครื่องหมายของการประสูติ ของพระพุทธเจ้า ใบเสมา ซึ่งหล่อด้วยปูน แกะสลักด้วยไม้หรือหิน ซึ่งติดตั้งอยู่รอบพระอุโบสถ ก็เป็นเครื่องหมายแสดงขอบเขตของโบสถ์ ซึ่งถือว่า เป็นแดนบริสุทธิ์ พระเครื่ององค์เล็กๆ ก็นับเป็นประติมากรรมรูปสัญลักษณ์ ที่เป็นเครื่องหมาย แทนองค์พระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน
บรรพบุรุษของไทยได้สร้างผลงานทางประติมากรรมขึ้นมาจำนวนมาก ผลงานเหล่านี้เป็นหลักฐานที่สะท้อนความเชื่อ และวัฒนธรรมของคนไทยมาแต่ในอดีต แสดงให้เห็นความสามารถทางศิลปะ ของคนไทย ที่สามารถสร้างผลงานอันงดงามละเอียดประณีต และมีแบบอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวไทยควรภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เราควรช่วยกันดูแลรักษา และทำนุบำรุงผลงานทางประติมากรรมของไทย ให้อยู่ในสภาพที่ดีต่อไป
ประติมากรรมเป็นผลงานทางศิลปะที่มีรูปทรง ๓ มิติ คือ มีความสูง ความกว้าง และความนูนหรือลึก เกิดขึ้นจากการปั้น หล่อ แกะสลัก ฉลุ หรือดุน ตั้งแต่โบราณมา บรรพบุรุษของไทยได้สร้างผลงานทางประติมากรรมขึ้น เพื่อแสดงออกถึงจินตนาการ ความรู้สึก ความเชื่อ และความต้องการ ที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งเป็นการแสดงออกของความสามารถทางด้านศิลปะ อันเป็นสุนทรียภาพของตนด้วย
การสร้างประติมากรรมนี้ ผู้สร้างจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบทางศิลปะหลายประการ เพื่อช่วยให้ผลงานมีความงดงาม และสามารถสร้างความรู้สึกต่างๆ ให้เกิดขึ้นแก่ผู้ชม เช่น การใช้เส้นที่คดโค้งหรืออ่อนช้อย ความกลมกลึง ความมันวาว ความนูนและความเรียบเกลี้ยงของพื้นผิว สามารถกระตุ้นความรู้สึกละเอียดอ่อนของผู้ชม สื่อให้รู้ถึงความอิ่มเอิบ และความสมบูรณ์พูนสุข แสงและเงาที่สะท้อนได้ฉาก และมุมที่พอเหมาะ ช่วยสร้างบรรยากาศให้ได้ความรู้สึกที่ต้องการ การสร้างและจัดงานประติมากรรมให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม เช่น เหมาะกับขนาดของสถานที่ ฐานที่ตั้ง และวัสดุอื่นๆ สามารถช่วยให้ประติมากรรมนั้นดูเด่น เป็นสง่า น่าเคารพ และน่านับถือ นอกจากนั้นการเลือกใช้วัสดุ และเทคนิคการประดับตกแต่งที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้เกิดความวิจิตรงดงาม เพิ่มคุณค่างานประติมากรรมไทยขึ้นด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การสร้างงานประติมากรรมแต่ละชิ้น ต้องใช้ความสามารถของช่างทางด้านศิลปะอย่างมาก
ประติมากรรมรูปเคารพ ที่คนไทยสร้างขึ้น เพื่อเคารพบูชา มักทำเป็นรูปคน เช่น เทวรูป พระพุทธรูป หรือรูปสัญลักษณ์ เช่น ใบเสมา ธรรมจักร และกวางหมอบ และรอยพระพุทธบาท ประติมากรรมรูปคนถือเป็นประติมากรรมที่สำคัญที่สุด เพราะสะท้อนความเชื่อ และความผูกพันระหว่างสังคมไทยกับพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง มีมานานก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ จนถึงปัจจุบัน
ประติมากรรมตกแต่ง เป็นประติมากรรมที่ใช้ตกแต่งศิลปสถาน และศิลปวัตถุต่างๆ ให้เกิดคุณค่าทางความงาม และวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น ที่เราพบมาก ได้แก่ การแกะสลักลวดลายต่างๆ ลงบนสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ตู้ โต๊ะ ตั่ง เตียง ถ้วย ชาม ฯลฯ และการประดับสถานที่ต่างๆ เช่น โบสถ์ วิหาร ปราสาทราชวัง ด้วยลายปูนปั้น และรูปปั้นต่างๆ ประติมากรรมของไทย นอกจากจะสะท้อนแบบแผนทางวัฒนธรรมแล้ว ยังสะท้อนความเชื่อต่างๆ อีกด้วย เช่น รูปหล่อโลหะสัตว์หิมพานต์ต่างๆ ในวัด นับว่าสะท้อนความเชื่อทางพุทธศาสนาในเรื่องไตรภูมิ นอกจากนั้นประติมากรรมบางอย่าง มีวัตถุประสงค์ที่จะเล่าเรื่อง หรือเหตุการณ์ต่างๆ ให้ผู้ชมได้ทราบด้วย เช่น ประติมากรรมแกะสลักแผ่นหินอ่อน เรื่องรามเกียรติ์ ประดับพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประติมากรรมปูนปั้น เรื่องทศชาติ ประดับหน้าพระอุโบสถวัดไลย์ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
ประติมากรรมอีกประเภทหนึ่ง เป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้น เพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น การสลักดุนภาชนะเครื่องใช้ขนาดเล็ก ด้วยลวดลายต่างๆ การแกะสลักเครื่องดนตรี การนำกระดาษสามาสร้างเป็นหัวโขน การนำดินมาปั้นเป็นเครื่องเล่นต่างๆ เช่น ตุ๊กตา ตัวหมากรุก หรือนำวัสดุต่างๆ มาประดิษฐ์เป็นเครื่องตกแต่งชั่วคราว เช่น การสลักผักผลไม้ การสลักหยวกกล้วย และการสลักเทียนพรรษา เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าประติมากรรมเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า และประโยชน์หลายด้านบรรพบุรุษของไทยได้ริเริ่ม และวางแผนงานประติมากรรมของไทยมานานแล้ว เนื่องจากประติมากรรมของไทยได้ผ่านการหล่อหลอม และผสมผสานทางวัฒนธรรมมาอย่างชาญฉลาด ไทยจึงยังคงสามารถรักษารูปแบบ ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยได้อย่างเด่นชัด ในระยะหลังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา ความเจริญของประเทศทางตะวันตกได้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ งานศิลปะมิได้สร้างขึ้นเพียงเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น แต่สามารถสร้างขึ้น เพื่อสาธารณประโยชน์ด้วย ดังนั้น การสร้างอนุสาวรีย์ การทำรูปปั้น และเหรียญตราต่าง ๆ จึงได้เกิดขึ้น บุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อวงการศิลปกรรมไทยสมัยใหม่ทุกสาขาคือ ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ศิลปินผู้ปั้นรูปอนุสาวรีย์สำคัญๆ ของชาติจำนวนมาก เช่น พระบรมรูปรัชกาลที่ ๑ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๖ เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ งานศิลปกรรม ซึ่งแต่เดิมอยู่ในความดูแลของราชสำนัก ก็ได้เปลี่ยนไปอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ จัดให้มีการเรียนการสอนทางด้านศิลปกรรมสาขาต่างๆ ปัจจุบันงานประติมากรรมของไทยได้เข้าสู่ยุคของศิลปะร่วมสมัย ซึ่งศิลปินมีอิสรภาพทั้งทางด้านความคิด เนื้อหาสาระ เทคนิค และรูปแบบการแสดงออก สุดแท้แต่จินตนาการ และความสามารถของศิลปินผู้สร้าง
ประติมากรรมเป็นผลงานศิลปกรรมที่เป็น รูปทรง ๓ มิติ ประกอบจากความสูง ความกว้าง และความนูน หรือความลึก รูปทรงนี้มีปริมาตรที่จับต้องได้ และกินระวางเนื้อที่ในอากาศ ต่างจากรูปทรงปริมาตรทางจิตรกรรมที่แสดงบนพื้นเรียบ เป็นปริมาตรที่ลวงตา ประติมากรรมเกิดขึ้นจากกรรมวิธีการสร้างสรรค์แบบต่างๆ เช่น การปั้นและหล่อ การแกะสลัก การฉลุหรือดุน ประติมากรรมทั่วไปมี ๓ แบบคือ ประติมากรรมแบบลอยตัว สามารถดูได้โดยรอบ ประติมากรรมนูน มีพื้นรองรับ สามารถดูได้เฉพาะด้านหน้าและด้านเฉียงเท่านั้น และประติมากรรมแบบเจาะลึกลงไปในพื้น
ประติมากรรมไทยเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษ โดยประติมากรของไทยที่สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อรับใช้สังคม ตอบสนองความเชื่อสร้างความภูมิใจ ความพึงพอใจ และค่านิยมแห่งชาติภูมิของไทย ประติมากรรมไทยส่วนใหญ่ เน้นเนื้อหาทางศาสนา มักปรากฏอยู่ตามวัดและวัง มีขนาดตั้งแต่เล็กที่สุด เช่น พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง จนถึงขนาดใหญ่ที่สุด เช่น พระอัจนะ หรือพระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่กลางแปลง มีทั้งประติมากรรมตกแต่ง ซึ่งตกแต่งศิลปวัตถุ ศิลปสถาน เพื่อเสริมคุณค่าแก่ศิลปวัตถุ หรือสถานที่นั้น จนถึงประติมากรรมบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นประติมากรรมที่มีคุณค่า และคุณสมบัติเฉพาะสมบูรณ์ด้วยตัวของประติมากรรมเอง เมื่อพิจารณาภาพรวมของประติมากรรมไทย อาจแบ่งประติมากรรมออกเป็น ๓ ประเภทคือ ประติมากรรมรูปเคารพ ประติมากรรมตกแต่ง และประติมากรรมเพื่อประโยชน์ใช้สอย