Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การตลาดและการส่งออกศิลปหัตถกรรม

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
14,144 Views

  Favorite

คำว่า หัตถ แปลว่า มือ กรรม แปลว่า การกระทำ 

หัตถกรรม อ่านว่า หัด-ถะ-กำ 

แปลว่า การกระทำหรืองานที่ทำด้วยมือ 

ศิลปหัตถกรรม แปลว่า งานที่ทำด้วยมือ มีความสวยงาม ประณีต และแฝงไว้ด้วยความคิดเฉพาะตัว 

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม แปลว่า ชิ้นงานที่จัดทำขึ้นด้วยฝีมือ หรือเครื่องมือที่ถืออยู่ในมือ หรือด้วยเครื่องจักร ที่ใช้มือหรือเท้าเป็นตัวควบคุมให้เดินหรือหยุด

 

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม เป็นผลงานที่คนในหมู่บ้านสร้างขึ้นมา เพื่อประโยชน์ในการใช้สอย ตกแต่ง หรือประดับให้เกิดความสวยงาม มีความสำคัญต่อชีวิต และสังคมของชุมชนไทย เพราะผลงานแต่ละชิ้นในภาคต่างๆ ของประเทศ บอกให้เราทราบถึงชีวิต ความเป็นอยู่ ความคิด ความฝัน หรือความฝังใจของคนในหมู่บ้านนั้นๆ เป็นลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งผู้พบเห็นอาจบอกได้ทันทีว่า ทำมาจากหมู่บ้านใด ภาคใด ของประเทศ เราเรียกลักษณะเฉพาะตัวรวมกันว่า "เอกลักษณ์"ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจะสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ฐานะความเป็นอยู่ของคน ระดับความเจริญรุ่งเรืองของยุคสมัยนั้นๆ รวมทั้งความคิด และแนวในการดำรงชีวิตของผู้คน ในแต่ละยุคแต่ละสมัย

 

ประเทศไทยมีการผลิตงานศิลปหัตถกรรมมาเป็นเวลาช้านาน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีการบันทึกเรื่องราวด้วยตัวหนังสือ มีหลักฐานที่ได้จากการค้นพบ เช่น เครื่องปั้นดินเผา ที่บริเวณถ้ำผี จังหวัดขอนแก่น ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่ที่สุด คือ มีอายุประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปี เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า ณ ที่นั่นมีคนอยู่มาแล้ว ไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นปี

 

ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่ผลิตในประเทศไทย มีอยู่มากมายหลายชนิดด้วยกัน เราทุกคนคงเคยเห็น หรือคุ้นเคยกับสิ่งของเหล่านี้มาแล้ว จนไม่รู้สึกสะดุดตา ไม่ว่าจะไปตลาดหรือเดินทางออกจากบ้าน ไปทำธุระใกล้หรือไกล เรามักจะเห็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมวางหรือแขวนอยู่ทุกหนทุกแห่ง เช่น กระจาดใส่ขนมขาย ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ ดอกไม้ประดิษฐ์ซึ ่งทำจากผ้า กระดาษ หรือเศษวัสดุต่างๆ พัดที่สานจากไม้ไผ่ หรือใบลาน พวงกุญแจ หรือพวงระย้ารูปต่างๆ ทำจากวัสดุพื้นบ้าน ซึ่งหาได้ง่ายๆ เช่น แถบชายทะเลก็จะมีเปลือกหอย หรือเศษปะการัง ทางภาคเหนือก็จะมีไม้สำหรับแกะสลัก หรือทางภาคกลางก็จะมีพืชอย่างอื่น ที่นำมาประดิษฐ์เป็นของใช้ได้ เช่น หญ้า ไม้ไผ่ ผักตบชวา เป็นต้น

 

 

 

ความมุ่งหมาย ในการผลิตชิ้นงานหัตถกรรมในระยะแรก ก็เพียงเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน สำหรับใช้ภายในครอบครัว ต่อมามีการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อแจกจ่ายในหมู่ญาติมิตร และขายไปบ้างพอเป็นค่าเหนื่อย แต่ก็ขายเฉพาะในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ต่อมามีการพัฒนากรรมวิธีการผลิต และดัดแปลงรูปแบบให้แปลกแตกต่างกันออกไป เพื่อนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับปัจจัยอื่นที่สำคัญต่อการดำรงชีพ ภายในท้องถิ่น หรือต่างท้องถิ่น เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น ก็สามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศ ทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่าสูง กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของส่วนรวม และความเป็นอยู่ของประชาชน

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่ผลิตในประเทศไทย มีเป็นจำนวนมากหลายชนิด และมีการผลิตอยู่ทั่วไป ในแต่ละภาคของประเทศไทยจะมีผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ที่มีลักษณะเด่นแตกต่างกันไปดังนี้

๑. ภาคเหนือ 

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีชื่อเสียงในภาคเหนือมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น ร่มทำด้วยกระดาษสา ผลิตภัณฑ์อื่นจากกระดาษสา เครื่องใช้ในบ้านเรือนไม้ เครื่องปั้น ดินเผา ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม และผ้าฝ้าย เครื่องนุ่งห่มพื้นเมือง และเครื่องจักสาน เป็นต้น

๒. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีชื่อเสียงในภาคนี้มีหลายชนิดด้วยกัน เช่น ผ้าทอชนิดต่างๆ จากไหมและฝ้าย ลักษณะเด่นของผ้าคือ ลวดลายของการทอ ได้แก่ ผ้าทอลายขิต และมัดหมี่ เป็นต้น เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ซึ่งแตกต่างกับเครื่องปั้นดินเผาจากภาคเหนือ เพราะเนื้อดินตามธรรมชาติ ที่นำมาใช้ในการผลิต มีธาตุเหล็กผสมอยู่ด้วย จึงมีสีแดงออกดำ นอกจากนี้ยังมีเครื่องจักสานชนิดต่างๆ เช่น กระติบข้าว และหวด

๓. ภาคตะวันออก 

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีชื่อเสียงในภาคนี้ ได้แก่ เสื่อกก และผลิตภัณฑ์จากเสื่อกก เช่น กระเป๋า ที่ใส่ซองจดหมาย ที่ใส่กระดาษชำระและ กระดาษเช็ดหน้า ที่รองแก้ว และที่รองเท้า นอกจากนี้ยังมีเครื่องจักสานชนิดต่างๆ จากไม้ไผ่และหวาย

๔. ภาคกลาง

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่ผลิตในภาคกลางมีอยู่เป็นจำนวนหลายชนิดด้วยกัน เช่น เครื่องจักสานจากไม้ไผ่และหวาย เพชรพลอยเจียระไน เครื่องประดับ อัญมณี เครื่องประดับเทียม เครื่องใช้ในการเดินทาง ทำด้วยหนังแท้ หนังเทียม ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องทองลงหิน และทองเหลือง ตุ๊กตาชนิดต่างๆ กรอบรูป กรอบกระจก เครื่องใช้ในบ้านทำด้วยไม้

๕. ภาคใต้ 

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมในภาคใต้มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น ผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภา เครื่องใช้ และเครื่องประดับถมเงิน และถมทอง ผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ แผ่นหนังแกะสลัก และผลิตภัณฑ์จากเปลือกหอย เป็นต้น

 

ลักษณะการผลิตผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมโดยทั่วไป ทำการผลิต ทั้งในรูปอุตสาหกรรมครัวเรือน และโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการใช้แรงงานฝีมือเป็นจำนวนมาก 

การผลิตสินค้าหัตถกรรม ผู้ผลิตจะต้องมีความรู้ความชำนาญเป็นการเฉพาะ ซึ่งได้มาจากการเรียนรู้ การถ่ายทอดมาจากครูหรือผู้รู้ จึงจะสามารถสร้างชิ้นงานหัตถกรรมได้ประณีตงดงาม

 

การพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องกระทำ และสามารถทำได้ ทั้งในด้านการออกแบบ การคิดค้นหาวัสดุที่แปลกใหม่มาใช้ในขบวนการผลิต และกรรมวิธีการผลิต ตลอดจนการนำเอาเทคนิค และเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาใช้ เป็นต้น 

ตลาดสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าหัตถกรรมแบ่งออกเป็นสองตลาดคือ ตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ

ตลาดในประเทศ 

โดยทั่วไปจะจำหน่ายให้ผู้บริโภคทั่วไป และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยจะมีวางจำหน่ายอยู่ตามร้านขายของที่ระลึก และตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ 

ตลาดต่างประเทศ 

มีสินค้าหัตถกรรมของไทยหลายชนิด ที่สามารถส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศได้อย่างแพร่หลาย เช่น เพชรพลอยเจียระไน เครื่องประดับอัญมณี ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องปั้นดินเผา ผลิตภัณฑ์จากผ้า เครื่องจักสาน เครื่องทองลงหิน และกรอบรูป เป็นต้น

 

ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น

แนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของไทยมีอนาคตสดใส เพราะผู้ผลิตส่งออกของไทย ได้ศึกษาติดตามข้อมูลความต้องการของผู้บริโภค และมีการพัฒนาคุณภาพ และรูปแบบสินค้าอยู่เสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และสามารถขยายการส่งออกได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow