แผ่นที่ คือ รูปภาพซึ่งช่วยให้เรารู้ว่าพื้นผิวของโลกมีลักษณะเป็นอย่างไรแผนที่ช่วยให้เรารู้ที่ตั้งของประเทศรู้ที่ตั้งของจังหวัดรู้ตำแหน่งของภูเขารู้ที่เกิดของแม่น้ำรู้เส้นทางของถนนรู้ตำแหน่งของสะพานรู้ขนาดของอำเภอและตำบลรู้ลักษณะของฝั่งทะเลและอื่น ๆ อีกมากดังนั้นแผนที่จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักเดินทางและคนทุกคน
• แผนที่อาจทำขึ้นได้สองแบบ ได้แก่ แผนที่ลายเส้นกับแผนที่รูปถ่ายถ้าเราใช้แผนที่สองแบบนี้ประกอบกันก็จะสามารถเข้าใจถึงลักษณะและที่ตั้งของบริเวณที่ต้องการได้อย่างถูกต้องชัดเจน
• แผนที่ลายเส้นนั้นแสดงรายละเอียดต่าง ๆ บนพื้นผิวโลกด้วยเส้น เช่น ตามลักษณะของฝั่งทะเลของเกาะของทิวเขาและของแม่น้ำส่วนแผนที่รูปถ่ายนั้นแสดงลักษณะต่าง ๆ ด้วยภาพถ่ายทางอากาศเป็นภาพมองกว้าง ๆ จากที่สูงอย่างนกทำขึ้นจากภาพถ่ายจากเครื่องบินซึ่งถ่ายลงมาตรง ๆ ตามแนวดิ่ง
• การทำแผนที่เป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยากเนื่องจากโลกของเรามีสัณฐานกลมและมีขนาดกว้างใหญ่มากจึงเป็นการยากที่จะกำหนดจุดใดจุดหนึ่งหรือบริเวณใดบริเวณหนึ่งให้ถูกต้องแน่นอนลงไปบนแผนที่ซึ่งเป็นกระดาษแบนราบได้แต่เนื่องจากแผนที่ของแต่ละประเทศเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นดังนั้นทุกประเทศจึงต้องจัดทำแผนที่ประเทศของตนเองขึ้นไว้
• ประเทศไทยเริ่มทำแผนที่ของประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๘ คือ เมื่อประมาณร้อยปีมาแล้วแผนที่ซึ่งทำขึ้นในระยะต้น ๆ เป็นแผนที่ลายเส้นของบริเวณถนนเจริญกรุงบริเวณพระบรมมหาราชวังและแผนที่บริเวณปากอ่าวไทย เพื่อใช้ในการเดินเรือและใช้เป็นแนวป้องกันทางทะเล
• ต่อมากรมแผนที่ทหารได้ทำการสำรวจและทำแผนที่ภายในประเทศขึ้นในบริเวณที่ยังมิได้เคยมีการทำแผนที่มาก่อนและภายหลังได้ใช้วิธีถ่ายรูปทางอากาศเพื่อนำมาทำแผนที่ได้ทั้งหมดทั่วประเทศ
• ในปัจจุบันกรมแผนที่ทหารได้สำรวจทางพื้นดินและสำรวจทางอากาศเพื่อทำแผนที่พื้นดินภายในประเทศขึ้นหลายชนิดและหลายมาตราส่วน ที่สำคัญคือแผนที่มูลฐานมาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ครอบคลุมทั่วประเทศรวม ๘๓๐ ระวางสำหรับใช้ในกิจการทหารและการพัฒนาประเทศ
• ได้มีหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐนำแผนที่มูลฐานและรูปถ่ายทางอากาศไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างมากมาย ได้แก่ การเลือกหาแนวทางสร้างถนนสายใหม่ การตัดถนนเข้าหมู่บ้านที่จะพัฒนา การสำรวจดินเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด การอนุรักษ์ดินและน้ำ การศึกษาสภาพความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ การแสดงขอบเขตป่าการวางแผนจัดการป่าไม้อุทยานแห่งชาติ รวมทั้งทำแผนที่แสดงต้นน้ำลำธาร การทำแผนที่ธรณีวิทยาเพื่อนำไปหาแหล่งแร่แหล่งน้ำ การวางแผนพัฒนาท้องถิ่นทั่วประเทศ การสร้างเขื่อนสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การสร้างหมู่บ้านอพยพให้ราษฎร การวางสายไฟฟ้าแรงสูงและสถานีไฟฟ้าย่อย การวางข่ายโทรศัพท์ทางไกลทั่วประเทศ
• นอกจากนั้นยังได้นำแผนที่และรูปถ่ายไปใช้ในการศึกษาวิจัยทางด้านธรณีวิทยา การผังเมือง การสำรวจหาแหล่งชุมชน ศึกษาวางแผนและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนศึกษาวิจัยชุมชนโบราณอีกด้วยนับได้ว่าแผนที่เป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์มาก
ในบรรดาผู้ใช้แผนที่เพื่อการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นผู้ที่ใช้แผนที่มากที่สุด พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องถิ่นทั่วทุกหนทุกแห่งของประเทศเพื่อวางโครงการช่วยเหลือราษฎรให้พ้นจากความทุกข์ยาก โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงสนพระทัยมากที่สุด ได้แก่ การจัดหาแหล่งน้ำให้แก่ราษฎร ในการนี้พระองค์จะทรงใช้แผนที่ด้วยทุกครั้งเมื่อจะทรงวางแผนงาน แผนที่ซึ่งทรงใช้เป็นแผนที่ที่ทรงทำขึ้นเองด้วยพระหัตถ์โดยเพิ่มเติมรายละเอียดลงในแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร
_________________________________________________________________________________________
แผนที่ คือ แบบจำลองที่เขียนย่อลักษณะภูมิประเทศบนพื้นผิวโลกแสดงถึงแม่น้ำ ภูเขา ทะเลสาบ เส้นทางและรายละเอียดอื่นที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติหรือจากมนุษย์สร้างขึ้น มีมาตราส่วนของแผนที่ต่าง ๆ ตามชนิดของแผนที่นั้นแผนที่มีอยู่หลายชนิด เช่น แผนที่เฉพาะวิชา แผนที่แอตลาส แผนที่ภูมิประเทศ แผนที่รูปถ่าย แผนที่ตัวเมือง แผนที่เส้นทางและอื่น ๆ อีก ตามความต้องการของผู้ใช้มาตราส่วนของแผนที่ขึ้นอยู่กับชนิดของแผนที่ เช่น แผนที่เพื่องานวิศวกรรมมีมาตราส่วนใหญ่มากตั้งแต่ ๑:๒๐๐ จนถึง ๑:๑,๐๐๐ แผนที่ภูมิประเทศมีมาตราส่วน ๑:๒๕,๐๐๐ ๑:๕๐,๐๐๐ หรือแผนที่ตัวเมือง ๑:๑๒,๕๐๐ เป็นต้น
• แผนที่ที่เราเคยเห็นส่วนมากเป็นแผนที่ลายเส้นมีรูปร่างเป็นเส้นแสดงเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้อ่านแผนที่สามารถเข้าใจได้ แผนที่อีกชนิดหนึ่งคือแผนที่รูปถ่ายซึ่งรายละเอียดที่ปรากฏบนแผนที่นั้นเป็นภาพภูมิประเทศที่ถ่ายจากกล้องถ่ายรูปทางอากาศมีเส้นกริดชื่อและการเขียนเส้นเน้นลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ เช่น ถนน ทางน้ำ บนรูปถ่ายนั้น ๆ ทั้งยังมีข้อความตรงชายขอบระวางอธิบายให้ผู้ใช้แผนที่ได้เข้าใจอีกด้วยแผนที่รูปถ่ายมีอยู่ ๒ ชนิดคือแผนที่รูปถ่าย (Photo map) และแผนที่พิกโต (Picto map) การผลิตแผนที่รูปถ่ายทำได้โดยการขยายรูปถ่ายทางอากาศที่ได้ดัดแก้ให้เป็นรูปถ่ายแนวดิ่งจริงตามมาตราส่วนที่ต้องการแล้วใส่ค่ากริดที่ถูกต้องใส่ชื่อตำบลหมู่บ้าน ทางน้ำและเน้นรายละเอียดที่สำคัญ โดยการลงหมึกบนแผ่นฟิล์มก่อนการอัดเป็นแผนที่รูปถ่าย รวมทั้งใส่รายละเอียดชายขอบระวางด้วย
• ส่วนการผลิตแผนที่พิกโตมีวิธีการที่ซับซ้อนหลายขั้นตอนตามกรรมวิธีถ่ายรูปแล้วใส่ค่ากริดชื่อเหมือนกับที่ได้ดำเนินการกับแผนที่รูปถ่ายคำว่า PICTO MAP นี้ได้มาจาก คำว่า Photographic Image Conversion by Tonal Marking Process
• ประโยชน์ของแผนที่รูปถ่ายคือ การนำไปใช้เสริมกับแผนที่ลายเส้น ไม่ว่าจะเป็นแผนที่ภูมิประเทศหรือแผนที่ตัวเมือง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถอ่านรายละเอียดของแผนที่ได้ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น
เมื่อหลายพันปีมาแล้วมนุษย์เชื่อว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้มีลักษณะแบบเป็นแผ่นและมีทะเลล้อมรอบผู้คนในสมัยนั้นจึงเขียนแผนที่ลงบนแผ่นหนังที่ใช้เขียนหนังสือบางครั้งก็ใช้แผ่นพาพิรุส (papyrus) หรือเขียนลงบนแท่งดินเหนียวเผาไฟปัจจุบันนี้เรารู้แล้วว่าโลกกลมและหมุนรอบแกนตัวเองดังนั้นเราจึงสามารถอธิบายลักษณะของโลกทั้งหมดลงบนลูกโลกได้เราแบ่งลูกโลกออกเป็นส่วน ๆ เส้นที่ปรากฏบนลูกโลกนั้นเป็นเส้นที่มีความสำคัญทั้งสิ้น ทำให้ผู้ใช้แผนที่ไม่ว่าจะอยู่บนบกในทะเลหรือบนท้องฟ้าสามารถใช้เป็นแนวทางนำร่องจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้
• จากรูปเราจะเห็นขั้วโลก ได้แก่ ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้มีเส้นที่ลากจากขั้วโลกเหนือไปขั้วโลกใต้แบ่งลูกโลกออกเป็นครึ่งวงกลมเราเรียกเส้นนี้ว่าลองจิจูดมีเลขกำกับเส้นไว้ด้วยเส้นลองจิจูดนี้มีอยู่เส้นหนึ่งที่ผ่านเมืองกรีนิชซึ่งอยู่ใกล้กรุงลอนดอนเมืองหลวงของประเทศอังกฤษเส้นลองจิจูดเส้นนี้มีเลขกำกับเส้นเป็น ๐° ดังนั้นเส้นลองจิจูดเส้นอื่น ๆ จึงมีเลขกำกับไปทางตะวันออกและตะวันตกของเมืองกรีนิชเส้นลองจิจูดนี้จะมาพบกันอีกบนด้านตรงข้ามของลูกโลกที่ ๑๘๐ ํ
• ตรงกึ่งกลางระหว่างขั้วโลกทั้ง ๒ มีเส้นลากรอบลูกโลกตามแนวนอนเรียกชื่อเส้นนี้ว่าเส้นศูนย์สูตรมีเลขกำกับเส้นเป็น ๐ ํ และยังมีเส้นอื่น ๆ ที่ลากรอบลูกโลกคล้ายคลึงกับเส้นนี้เรียกว่าเส้นละติจูดมีเลขกำกับเส้นไปทางเหนือ และใต้ของเส้นศูนย์สูตร
• นักสำรวจในสมัยเริ่มแรกได้ใช้ประโยชน์จากลูกโลกนี้อย่างเต็มที่ในการเดินเรือ ลูกโลกเก่าแก่ที่ยังคงหลงเหลืออยู่นี้เป็นลูกโลกที่ทำขึ้นในปีที่โคลัมบัสเดินทางไปอเมริกาเป็นครั้งแรก แต่ในขณะนั้นยังไม่ได้มีการกล่าวถึงอเมริกาเลย นักทำแผนที่สมัยนั้นได้เขียนโลกให้มีรูปร่างเหมือนลูกบอลบนแผ่นหนัง โดยเขียนให้สีและลักษณะของโลกเหมือนกับสิ่งที่เขาคิดและรู้เห็นในขณะนั้นด้วย
• กัปตันเรือที่มีชื่อเสียง เช่น เซอร์ วอลเทอร์ ราเลจ์ (Sir Walter Raleigh) เฟอร์ดินันด์ แมเจลแลน (Ferdinand Magellan) และเซอร์ ฟรานซิส เดรค (Sir Francis Drake) แมเจลแลนและเดรคมักใช้ลูกโลกคู่หนึ่งในการเดินทางทางทะเล เขาจะใช้ลูกโลกนั้นเขียนเส้นทางการเดินเรือ ลูกโลกลูกหนึ่งแสดงตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้าส่วนอีกลูกหนึ่งแสดงตำแหน่งของโลกเรา
• ถ้าเราลองพยายามผ่าลูกโลกโดยมีรอยแยกที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ (เหมือน เราปอกส้ม) แล้ววางแผ่ราบลงบนโต๊ะ เราจะพบว่าเส้นลองจิจูดซึ่งเป็นเส้นตัดเกิดจากการผ่าลากไปทางด้านบนและด้านล่างของแผนที่มีเส้นละติจูดลากผ่านขวาง เมื่อพยายามวางแผนที่ให้ราบลงไปอีกเราจะพบว่าเราต้องยืดส่วนบนและส่วนล่างออกทำให้รูปร่างและขนาดของประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้เปลี่ยนแปลงไป เส้นละติจูดและลองจิจูดก็เปลี่ยนไปด้วย แผนที่แบนราบรวมทั้งหมดจึงบิดเบี้ยวไปดังเห็นได้จากรูปส่วนที่เป็นพื้นดินและทะเลที่ถูกต้องจริงจึงต้องอยู่บนพื้นรอบลูกโลกนั่นเอง แสดงให้เห็นว่าการบิดเบี้ยวจะเพิ่มขึ้นในบริเวณเหนือสุดและใต้สุดของลูกโลก แผนที่ที่ถูกต้องจะอยู่ตรงเส้นศูนย์สูตรเท่านั้น
แผนที่ที่ครอบคลุมประเทศไทยในปัจจุบันนี้ผลิตขึ้นโดยกรมแผนที่ทหารส่วนราชการแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ นับจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๓๕) รวมเป็นเวลาประมาณ ๘๓ ปีแล้วต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้มีการจัดทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศขึ้นโดยทดลองทำที่จังหวัดสุรินทร์และได้หยุดดำเนินการจนมาถึง พ.ศ. ๒๔๙๓ จึงได้คิดทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศอีกโดยพลโทพระยาศัลวิธานนิเทศได้ก่อตั้งองค์การทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศภายหลังได้รวมกับกรมแผนที่ทหารบกและได้กลายมาเป็นกรมแผนที่ทหารขึ้นตรงต่อกองบัญชาการทหารสูงสุดในปัจจุบันนี้การทำแผนที่ประเทศไทยทั้งประเทศได้ใช้วิธีการนี้ทำแผนที่ชุด L ๗๐๘ มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ จำนวน ๑,๑๒๗ ระวางตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้นมามีขนาดระวาง ๑๐' x ๑๕' ต่อมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนขนาดระวางแผนที่จาก ๑๐' x ๑๕' เป็น ๑๕' x ๑๕' ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ชุดแผนที่จึงได้เปลี่ยนไปด้วยเป็น L๗๐๑๗ การเปลี่ยนขนาดระวางแผนที่ใหญ่ขึ้นนี้ทำให้จำนวนระวางลดลงเหลือ ๘๓๐ ระวาง ซึ่งรวมทั้งแผนที่ครอบคลุมเขตแดนไทย-ลาว-กัมพูชาด้วยแผนที่มาตราส่วนนี้ไม่ได้จัดจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปคงให้ใช้เฉพาะส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งทางทหารและพลเรือนเท่านั้น
นอกจากแผนที่มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ แล้วกรมแผนที่ทหารยังได้ผลิตแผนที่มาตราส่วนอื่น ๆ อีกเช่นแผนที่ชุด L ๙๐๑๓ มาตราส่วน ๑:๑๒,๕๐๐ แผนที่ชุด L ๘๐๑๙ มาตราส่วน ๑:๒๕,๐๐๐ และแผนที่มาตราส่วนเล็ก ๑:๒๕๐,๐๐๐ รวมทั้งแผนที่แสดงเส้นทางทั่วประเทศ มาตราส่วน ๑: ๒,๐๐๐,๐๐๐ ด้วย
ในการจัดทำแผนที่เหล่านี้ต้องมีการสำรวจทางพื้นดินทั่วประเทศ ทำการรังวัดและคำนวณโดยใช้ระบบงานที่ทันสมัยสามารถผลิตแผนที่ได้อย่างถูกต้องและมีมาตรฐานสากล มีการใช้สัญลักษณ์และสีเฉพาะสัญลักษณ์แผนที่เป็นเครื่องหมายแผนที่ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถรู้ลักษณะภูมิประเทศต่าง ๆ ได้ สัญลักษณ์ต้องปรากฏบนแผนที่ที่พิมพ์สำเร็จแล้วทุกแผ่น เมื่อเราคุ้นเคยกับสัญลักษณ์ต่าง ๆ แล้ว เราก็สามารถอ่านแผนที่ได้เหมือนกับการอ่านหนังสือนั่นเอง
• เมื่อเรามองหาตำแหน่งที่ใด ๆ บนแผนที่หรือบนลูกโลกเราต้องใช้เส้นลองจิจูดและละติจูดเป็นหลัก โดยอาศัยตำแหน่งที่เส้นสองเส้นนี้ตัดกันแต่การใช้เส้นอ้างอิงเหล่านี้บนแผนที่มาตราส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควร ด้วยเหตุนี้จึงได้คิดใช้ระบบกริดขึ้นแทนระบบกริดนี้เป็นระบบของเส้นตรงลากตั้งฉากกันทางดิ่งและทางราบแบ่งแผนที่ออกเป็นจตุรัส
• แผนที่มาตราส่วนต่าง ๆ จะใช้ระบบกริดที่มีระยะห่างกันในหน่วยเมตริก เช่น แผนที่มาตราส่วน ๑:๒๕๐,๐๐๐ เส้นกริดทางดิ่งและทางราบจะมีระยะห่างกัน ๑๐ กิโลเมตรหรือแผนที่ ๑:๑๐,๐๐๐ อาจใช้ระยะห่าง ๕๐๐ เมตร เป็นต้นระบบกริดที่ประเทศไทยใช้อยู่เป็นระบบยูทีเอ็มหรือยูนิเวอร์แซล ทรานสเวอร์ส เมอร์เคเตอร์ (Universal Transvers Mercator) เป็นระบบจัตุรัสที่มีความยาวด้านละ ๑๐๐ กิโลเมตร การอ้างอิงตำแหน่งของแต่ละตาราง ใช้ตัวอักษร ๒ ตัว เป็นเครื่องกำกับ
• จากการที่เรารู้ค่าเส้นกริดเราอาจกำหนดหรือหาตำแหน่งที่ใด ๆ บนแผนที่ได้ วิธีที่ใช้คือการนับระยะไปทางตะวันออกและทางเหนือของตำแหน่งที่นั้น เช่น บ้านหนองคูอยู่ทางตะวันออกของเส้นกริด ๑๖ เป็นระยะ ๘/๑๐ และอยู่ทางเหนือของเส้นกริด ๒๔ เป็น ระยะ ๑/๑๐ ดังนั้นเราจะได้ตัวเลขอ้างอิงของจุดนั้นเป็น ๑๖๘/๒๔๑ ซึ่งนิยมเขียนเป็น ๑๖๘๒๔๑ ๓ ตัวแรกเราเรียกว่ากำหนดนับตะวันออก (easting) และ ๓ ตัวหลังเรียกว่ากำหนดนับเหนือ (northing)
• แม้ว่านักสำรวจมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ช่วยในการทำแผนที่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังต้องอาศัยการวัดด้วยวิธีเดียวกับที่นักแผนที่สมัยก่อนได้เคยทำมาแล้วซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ก็เป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุดเรียกกันว่าการสามเหลี่ยม
• ในขั้นแรกให้ทำเครื่องหมายเส้นฐานที่มีความยาวพอเหมาะ วัดความยาวของเส้นฐานนี้ให้ถูกต้องที่สุด เลือกจุดขึ้นจุดหนึ่งเพื่อใช้เป็นยอดของรูปสามเหลี่ยม วัดมุมจากลายทั้งสองของเส้นฐาน เมื่อเรารู้ค่ามุมและเส้นฐาน เราก็สามารถคำนวณพื้นที่สามเหลี่ยมได้ เราต้องดำเนินกรรมวิธีนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เป็นโครงข่ายสามเหลี่ยมจนครอบคลุมพื้นที่ทั้งผืน การวัดมุมใช้กล้องวัดมุม (theodolite) เครื่องมือนี้ประกอบด้วยกล้องส่องทางไกลติดตั้งบนขาสามขา เพื่อให้อยู่ในระดับตามีกล้องจุลทรรศน์ที่มีไมโครมิเตอร์ติดอยู่ด้วย
• ขณะนี้นักสำรวจมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ สำหรับใช้ในการวัดอย่างละเอียดถูกต้องขึ้นอีก ๒ ชนิดคือจีออดิมิเตอร์ (geodemeter) ชนิดหนึ่งซึ่งใช้วัดระยะโดยการบันทึกเวลาที่ลำแสงใช้เดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ที่อยู่ไกลออกไปเป็นไมล์แล้วสะท้อนกลับมาที่จุดเดิมเมื่อรู้ความเร็วของแสง ก็จะสามารถคำนวณระยะได้
• เครื่องมืออีกชนิดหนึ่งคือเทลลูโรมิเตอร์ (tellurometer) ใช้วัดระยะเช่นเดียวกับจีออดิมิเตอร์แต่ใช้คลื่นวิทยุแทนแสง
ในการทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศนั้น เราต้องใช้รูปถ่ายทางอากาศที่มีมาตราส่วนที่เหมาะสมกับมาตราส่วนแผนที่ที่ต้องการ ในการบินถ่ายรูปจึงต้องกำหนดความสูงของเพดานบินของเครื่องบินเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง และใช้กล้องถ่ายรูปทางอากาศที่สร้างขึ้น เฉพาะมีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ ๖ นิ้ว ถึง ๒๔ นิ้ว มาตราส่วนของรูปถ่ายทางอากาศเป็นอัตราส่วนของทางยาวโฟกัสและเพดานบินของเครื่องบินรูปถ่ายทางอากาศที่ใช้ในการทำแผนที่อาจใช้ได้ทั้งรูปถ่ายแนวดิ่งและรูปถ่ายเฉียง
• รูปถ่ายแนวดิ่ง คือ รูปถ่ายทางอากาศที่ถ่ายภาพโดยแกนของกล้องถ่ายรูปอยู่ในแนวดิ่งหรือทำมุมกับแนวดิ่งไม่เกิน ๓ องศา ส่วนรูปถ่ายเฉียง คือ รูปถ่ายทางอากาศที่ถ่ายขึ้นเมื่อแกนของกล้องถ่ายรูปทำมุมกับแนวดิ่ง ๓ องศาขึ้นไปหรือแกนของกล้องถ่ายรูปอยู่ระหว่างแนวราบกับแนวดิ่ง
• รูปถ่ายเฉียงมีอยู่ ๒ ชนิด คือ รูปถ่ายเฉียงสูงและรูปถ่ายเฉียงต่ำที่เรียกว่ารูปถ่ายเฉียงสูงนั้นบนภาพจะมีเส้นขอบฟ้าปรากฏให้เห็น
• ในการบินถ่ายรูปต้องกำหนดแนวบินบนแผนที่เสียก่อนเพื่อให้นักบินได้บินตามแนวบินนั้น อาจเป็นแนวเหนือ-ใต้ หรือตะวันออก-ตะวันตกก็ได้ ขึ้นอยู่กับรูปร่างของพื้นดินว่ามีลักษณะอย่างไร ถ้ารูปร่างของพื้นดินมีด้านยาวไปทางเหนือ-ใต้มากกว่าด้านกว้างไปทางตะวันออก-ตะวันตก ก็ควรบินแนวเหนือ-ใต้ ดังนี้เป็นต้น
• รูปถ่ายทางอากาศต้องมีการเหลื่อมล้ำหน้า ๖๐ เปอร์เซ็นต์และเหลื่อมล้ำข้าง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากรูปถ่ายทางอากาศเป็นผลจากการฉายแบบทิวทัศน์ แต่แผนที่เป็นผลจากการฉายแบบตั้งฉาก ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนการฉายแบบทิวทัศน์ให้เป็นการฉายแบบตั้งฉาก โดยการใช้เครื่องมือเขียนแผนที่ เครื่องมือเขียนแผนที่นี้มีหลายแบบไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตามเราสามารถนำมาใช้เพื่อถ่ายทอดรายละเอียดจากรูปถ่ายลงบนต้นร่างแผนที่ซึ่งเปรียบเสมือนพื้นดินได้ทั้งสิ้น ดังนั้นเครื่องมือเขียนแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศจึงเป็นเครื่องมือที่นำเอาภาพภูมิประเทศที่ปรากฏบนรูปถ่ายให้กลับมาเป็นลักษณะภูมิประเทศใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วยการใช้สัญลักษณ์แทนลักษณะภูมิประเทศนั่นเอง
• ในการเขียนแผนที่ด้วยเครื่องมือจำเป็นต้องอาศัยจุดบังคับรูปถ่ายช่วยจุดบังคับรูปถ่ายนี้เป็นจุดที่ได้เลือกขึ้นอย่างดีและกำหนดลงบนรูปถ่าย แล้วนำรูปถ่ายเหล่านี้ออกไปสำรวจหาค่าพิกัดทางราบและทางดิ่งในสนามตลอดจนสำรวจการจำแนกรายละเอียดต่าง ๆ เราใช้จุดบังคับรูปถ่ายในการจัดรูปถ่ายให้มีลักษณะเหมือนกับลักษณะของรูปถ่ายขณะเครื่องบินกำลังทำการบิน และมีระดับความสูงของภูมิประเทศตรงกับความเป็นจริง
• เมื่อถ่ายทอดรายละเอียดทั้งหมดลงบนต้นร่างแผนที่โดยอาศัยรูปถ่ายที่ได้มีการจำแนกรายละเอียดในสนามประกอบการเขียนทั้งหมดแล้ว ต่อไปก็ต้องนำต้นร่างแผนที่ไปประกอบเป็นระวางแผนที่ตามมาตราส่วนที่ต้องการ แล้วทำการเขียนแยกสีรายละเอียดออกเป็นสีต่าง ๆ เช่น ใช้สีน้ำเงินแทนแม่น้ำลำคลอง บึงสีน้ำตาลแทนเส้นชั้นความสูงสีดำแทนชื่ออาคาร ถนน ทางเกวียนสีแดงแทนถนนสายประธาน ชื่อและสีเขียวแทนพืชพรรณไม้เมื่อเขียนแยกสีครบ ๕ สีแล้ว ก็นำต้นร่างเหล่านั้น มาประกอบกันกับต้นร่างพิกัดกริดนำไปพิมพ์เป็นแผนที่ต่อไป
• แผนที่ที่พิมพ์สำเร็จสมบูรณ์แล้วจะปรากฏเป็นแผนที่ลายเส้นที่มีสีและสัญลักษณ์ที่มีมาตรฐานสากลเพื่อให้ผู้ใช้แผนที่ได้ใช้แผนที่ได้ตามความมุ่งหมายต่อไป
• นอกจากจะผลิตแผนที่ลายเส้นแล้ว เครื่องมือเขียนแผนที่ยังให้ข้อมูลที่จะนำไปผลิตแผนที่รูปถ่ายออร์โทได้อีกด้วย แผนที่รูปถ่ายออร์โทเป็นรูปถ่ายที่ได้ทำการดัดแก้จากการฉายแบบทิวทัศน์ให้เป็นการฉายแบบตั้งฉาก แล้วมีการเพิ่มเส้นของชั้นความสูงใส่ค่ากริด ชื่อและประกอบเป็นระวางแผนที่ แผนที่รูปถ่ายนี้ใช้ได้สะดวกมากเพราะผู้ใช้จะเห็นภาพภูมิประเทศโดยตรงไม่ต้องมีสัญลักษณ์แทนลักษณะภูมิประเทศ