Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สภาพพื้นผิวของเปลือกโลก

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
1,856 Views

  Favorite

สภาพพื้นผิวของเปลือกโลก

      พื้นผิวของเปลือกโลกปกคลุมด้วยพื้นน้ำมากกว่าพื้นดินกล่าวคือมีน้ำปกคลุมผิวเปลือกโลกร้อยละ ๗๒ ส่วนที่เป็นพื้นดินมีเพียงร้อยละ ๒๘ เราจึงแบ่งเปลือกโลกอย่างกว้าง ๆ ออกเป็น ๒ ส่วน คือ เปลือกโลกส่วนที่เป็นทวีปเรียกว่า เปลือกโลกภาคพื้นทวีป (continental crust) และ เปลือกโลกส่วนที่เป็นมหาสมุทรเรียกว่า เปลือกโลกภาคพื้นสมุทร (oceanic crust)
 

เปลือกโลกและหิน
ลักษณะภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกันระหว่างสันกลางมหาสมุทรแอตแลนติก (ภาพล่าง) กับบริเวณทวีปอเมริกาเหนือ (ภาพบน)
ให้สังเกตว่าส่วนที่เป็นลาดทวีปเหนือเปลือกโลกภาคพื้นสมุทรมีขนาดใกล้เคียงกับทุ่งใหญ่ (great plain) ของทวีปอเมริกาเหนือ (shepard, 1963)

 

      หลายคนคงคิดว่าพื้นดินน่าจะมีความขรุขระมากกว่าพื้นทะเลแต่อันที่จริงแล้วพื้นท้องทะเลมีความขรุขระมากกว่าพื้นดินหลายเท่า ความไม่เรียบของพื้นผิวโลกทั้งบนบกและในน้ำเป็นผลมาจากกระบวนการทางธรณีวิทยาที่กระทำบนผิวเปลือกโลกที่เรียก กระบวนการพื้นผิว (surface process) แทบทั้งสิ้น กล่าวคือความร้อนและความชื้นช่วยทำให้หินเกิดการผุพังอยู่กับที่ (weathering) รวมทั้งการกร่อน (erosion) อันเป็นผลมาจากการกระทำของตัวการ (agents) ต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ น้ำฝน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน น้ำทะเล หิมะ และลม ตัวการเหล่านี้ยังช่วยให้เกิดการนำพาเอาวัสดุที่ได้จากการผุพัง และการกร่อนจากที่หนึ่งไปทับถม ในที่อีกแห่งหนึ่งด้วย  จากการศึกษาของนักธรณีวิทยาพบว่าความสูงต่ำของท้องทะเลมีมากกว่าบนบก ยอดเขาเอเวอเรสต์ (Mt. Everest) ซึ่งเป็นส่วนสูงที่สุดของพื้นแผ่นดินมีความสูง ๘,๘๔๗.๗๓ เมตร (๒๙,๐๒๘ ฟุต) จากระดับทะเลปานกลางแต่ส่วนลึกที่สุดของพื้นน้ำที่เรียกว่า ร่องลึกใต้สมุทร (oceanic trench) คือ ร่องลึกมาเรียนา (Mariana trench) ในมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ลึกจากระดับน้ำทะเลลงไปถึง ๑๑ กิโลเมตร  ปริมาณน้ำในทะเลและมหาสมุทรมีมากกว่าปริมาณน้ำบนแผ่นดินถึงกว่าร้อยละ ๙๐ และลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นทะเลนับจากชายฝั่งทะเลออกไปประกอบด้วยส่วนที่เป็นบ่าทวีป (continental shelf) ที่มีความลาดชันน้อยและไหล่ทวีป (continental slope) ที่มีความลาดชันมากจนไปถึงลาดทวีป (continental rise) ที่มีความลาดชันน้อยอีกครั้งจากนั้นจึงต่อด้วยพื้นมหาสมุทร (ocean floor) ซึ่งมีเนินเขาใต้สมุทร (abyssal hill) ปรากฏเป็นเนินสูงอยู่บนพื้นทะเลต่อเมื่อเข้าไปใกล้สันเขาใต้สมุทร (oceanic ridge) จะยิ่งเพิ่มความสูงและความต่างระดับมากขึ้น
      ในกรณีของเปลือกโลกภาคพื้นทวีปมักมีแนวเทือกเขาสูงใกล้ชายฝั่งทะเล เช่น เทือกเขาเซียร์ราเนวาดาและเทือกเขาร็อกกีในทวีปอเมริกาเหนือที่วางตัวเกือบขนานกับชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา แสดงว่าเป็นบริเวณที่สูงและมีความต่างระดับมากแต่เมื่อห่างเข้าไปในผืนแผ่นดินของทวีปจะพบว่าพื้นผิวเปลือกโลกมีความราบเรียบและกว้างใหญ่มากขึ้น เป็นบริเวณที่เรียกว่า ลานทวีป (continental platform) หรือ ที่ราบทวีป (continental plain)  

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow