การป้องกันโรคมะเร็ง
การเกิดโรคมะเร็งมีหลายสาเหตุและหลายปัจจัยร่วมกันทั้งภาวะภายในและภายนอกร่างกายมะเร็งซึ่งทราบสาเหตุที่แท้จริงจากภาวะภายนอกร่างกายก็สามารถป้องกันได้แต่ยังมีมะเร็งอีกหลาย ๆ ชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงหรือเกี่ยวกับภาวะภายในร่างกายจึงไม่สามารถป้องกันได้อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติเพื่อการป้องกันโรคมะเร็งหรือการที่จะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งตั้งแต่ในระยะที่เพิ่งเริ่มเป็นซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้อาศัยมาตรการที่สำคัญ ๒ ประการ คือ
มาตรการแรก
ในการป้องกันโรคมะเร็ง คือ การรักษาสุขภาพและพลานามัยให้แข็งแรงอยู่เสมอ สุขภาพและพลานามัยที่แข็งแรงจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งโดยปฏิบัติดังนี้
๑. บริโภคอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งเนื้อสัตว์และพืชผักผลไม้ในปริมาณที่พอดีไม่มากหรือน้อยเกินไป
๒. สิ่งที่เป็นเครื่องบั่นทอนสุขภาพ เช่น บุหรี่ สุราควรจะงดหรือลดให้เหลือลดน้อยที่สุด
๓. ควรมีการพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ
๔. ควรออกกำลังแต่พอสมควรเพื่อสุขภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจ
๕. รักษาความสะอาดของร่างกายทุก ๆ ส่วน โดยเฉพาะภายในช่องปากและบริเวณอวัยวะเพศในเพศชายที่หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิดควรให้แพทย์ทำผ่าตัดหนังหุ้มปลายออกเสีย
มาตรการที่สอง
ได้แก่ การให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับโรคมะเร็งบ้างพอสมควรเมื่อมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักโดยทั่ว ๆ ไปของโรคมะเร็งแล้วก็ย่อมจะเกิดแนวทางทั้งในด้านการป้องกันและสามารถรู้ได้ว่าเป็นมะเร็งตั้งแต่ในระยะที่เพิ่งเริ่มเป็นโดยมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
๑. หลีกเลี่ยงสาเหตุหรือสารที่ทำให้เกิดมะเร็ง
ก. อาหาร
ไม่ควรบริโภคอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ร้อนจัดอาหารหรือขนมที่ใส่สีย้อมซึ่งจะสังเกตได้ง่าย คือ มีสีฉูดฉาด และเมื่อรับประทานแล้วสีจะออกมากับปัสสาวะอาหารเนื้อสัตว์หมักชนิดต่าง ๆ ควรทำให้สุกเสียก่อนอาหารที่ขึ้นราควรงดโดยเด็ดขาดเพราะสารอะฟลาทอกซินจะไม่ถูกทำลายโดยการทำให้เดือดหรือสุกโดยวิธีใดก็ตามอาหารที่ขึ้นราง่ายควรเก็บในภาชนะที่แห้งสนิทและมิดชิด
ข. สิ่งเสพ
เช่น สุรา บุหรี่ หมากพลู ควรจะงดเสีย
ค. ยารักษาโรค
ไม่ควรรับประทานยาที่เข้าสารหนู หรือกำมะถันในปริมาณมาก ๆ ยาที่เข้าฮอร์โมนควรจะรับประทานเมื่อแพทย์สั่งเท่านั้นอย่าซื้อรับประทานเอง
ง. การระคายเรื้อรัง
ฟันเกที่ครูดลิ้นหรือกระพุ้งแก้มอยู่เสมอควรถอนเสียไม่ควรฉีดสารแปลกปลอมเพื่อการเสริมสวย เช่น การฉีดพาราฟิน เป็นต้น
จ. สาเหตุอื่นๆ เช่น ควรหลีกเลี่ยงเคมีวัตถุประเภทน้ำมันดิน รังสี* เป็นต้น
๒. สนใจสุขภาพของตนเองและลูกหลาน
การสนใจสุขภาพของตนเองและลูกหลานมีความสำคัญต่อการที่แพทย์จะสามารถค้นหามะเร็งหรือวินิจฉัยมะเร็งในขณะที่เพิ่งเป็นได้ซึ่งจะกล่าวต่อไป
ข้อควรปฏิบัติเพื่อการตรวจค้นหาและวินิจฉัยมะเร็ง
การที่จะค้นหามะเร็งได้ในขณะที่ยังไม่มีอาการหรือวินิจฉัยมะเร็งได้ในระยะที่เพิ่งเริ่มเป็นมีความสำคัญมากและจะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนผู้ป่วยเป็นอย่างมากนอกเหนือไปจากความสามารถของแพทย์และการพัฒนาก้าวหน้าในด้านเครื่องมือตรวจทางการแพทย์
ก. การตรวจเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่ม
เป็นการเอาใจใส่และสนใจสุขภาพของตนเองโดยมีการตรวจร่างกายประจำปีโดยการไปตรวจที่คลินิกมะเร็งแรกเริ่มตามโรงพยาบาลหรือสถาบันต่าง ๆ เช่น ในผู้ชายอายุเกิน ๓๐ ปีขึ้นไปควรจะไปถ่ายภาพรังสีของปอดปีละครั้งหรือในหญิงอายุเกิน ๒๕ ปีขึ้นไปควรจะได้รับการตรวจเต้านมและตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยวิธีแปปสเมียร์ (Pap smear) ปีละครั้งเพราะเป็นวัยที่มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ง่ายควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และไปพบตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
ข. การตรวจเพื่อวินิจฉัยมะเร็งเมื่อเริ่มมีอาการแล้ว
โดยเฉพาะเมื่อมีอาการของสัญญาณอันตราย ๗ ประการของโรคมะเร็งหรือมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็วการตอบคำถามของแพทย์โดยละเอียดและตามความจริงจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้เร็วยิ่งขึ้น
ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งควรมอบความไว้วางใจและให้ความร่วมมือกับแพทย์การที่แพทย์จะตัดสินใจกระทำวิธีการตรวจใด ๆ เพื่อการวินิจฉัยโรคมะเร็งอย่างแน่นอนและแม่นยำการกระทำนั้น ๆ ย่อมจะไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วยแต่กลับจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเองเสมอ
ขั้นตอนในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง
ขั้นตอนต่าง ๆ ในการวินิจฉัยโรคนี้เหมือนกับการวินิจฉัยโรคโดยทั่วไป คือ จะต้องอาศัยจาก
๑. ประวัติ
ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในปัจจุบันและอดีตรวมทั้งการรักษาประวัติการเป็นมะเร็งของบุคคลในครอบครัว อาชีพและประวัติการติดของเสพติดทั้งหลาย เช่น สุรา บุหรี่ เป็นต้น
๒. การตรวจร่างกาย
ทั้งเฉพาะตรงบริเวณที่เป็นมะเร็งรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงและการตรวจร่างกายโดยทั่ว ๆ ไปเพื่อค้นหามะเร็งทุติยภูมิโดยวิธีการตรวจธรรมดาการถ่ายภาพรังสีการใช้กล้องส่องตรวจ เป็นต้น
๓. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
รวมทั้งการตรวจโดยวิธีเซลล์วิทยาเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยมะเร็งปฐมภูมิและค้นหามะเร็งทุติยภูมิ
๔. การตรวจด้วยวิธีพิเศษ
เช่น การฉีดสารทึบแสงและถ่ายภาพรังสีการตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
๕. การตัดชิ้นเนื้อ
รวมทั้งการทำผ่าตัดเพื่อเอาชิ้นเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยาการที่แพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ใดเป็นมะเร็งนั้นจะต้องอาศัยพยาธิแพทย์เป็นผู้ตรวจและอ่านชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาว่าเป็นมะเร็งจริงก่อนเสมอจึงนับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็นที่สุดในการวินิจฉัยโรคมะเร็งในบางรายพยาธิแพทย์จะช่วยตัดชิ้นเนื้อไปตรวจโดยคร่าว ๆ ก่อน (frozen section) ซึ่งวิธีนี้สามารถให้การวินิจฉัยได้ภายใน ๑๐-๒๐ นาที ช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถตัดสินใจผ่าตัดอวัยวะที่สำคัญออกได้อย่างมาก