การสืบทอดของปราสาทขอมในศิลปะไทย
หลังความรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แล้ว อาณาจักรขอมก็เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว สันนิษฐานว่า โดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นั้น มีการเกณฑ์แรงงาน และการอุทิศถวาย เพื่อการพระศาสนา จนทำให้ประชาชนเกิดความเหนื่อยล้า และอาณาจักรเสื่อมลงในที่สุด หลังจากนั้นกษัตริย์ขอมในรัชกาลต่อมา ก็ได้ทรงปรับเปลี่ยนศาสนา มาเป็นศาสนาฮินดูอีกครั้งหนึ่ง จากการที่อำนาจของเขมรเสื่อมลงนี้เอง ทำให้กลุ่มชนที่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของเขมร เริ่มสถาปนาเป็นอาณาจักร ได้แก่ อาณาจักรสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ. ๑๗๙๒) และอาณาจักรอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓) ต่อมา เมื่ออยุธยามีอำนาจมากขึ้น จึงเข้าไปยึดครองอาณาจักรเขมร และได้ปกครองระยะเวลาหนึ่ง
พัฒนาการของปราสาทขอมในประเทศไทยที่สำคัญคือ การปรับเปลี่ยนตัวปราสาทขอม อันเนื่องในศาสนาฮินดู และพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ทั้งทางด้านรูปแบบ และคติการใช้งานมาเป็น "พระปรางค์" ซึ่งมักใช้ในความหมายของเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า โดยการเพิ่มชั้นฐานให้สูงขึ้น และชั้นหลังคาเป็นทรงสูงมากขึ้น จนทำให้มีลักษณะคล้ายฝักข้าวโพด บางทีจึงเรียกว่า ปรางค์ทรงฝักข้าวโพด
งานสืบทอดปราสาทขอมในสมัยแรก ได้แก่ พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี เมื่อพิจารณาจากรูปแบบแผนผัง องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และลวดลายประดับ นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า เป็นงานที่สร้างขึ้นภายหลังจากที่ขอมหมดอำนาจไปแล้ว และสร้างขึ้นก่อนการสถาปนาอาณาจักรอยุธยาประมาณ ๑๐๐ ปี ดังนั้น พระปรางค์แห่งนี้ จึงมีอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และถือเป็นปรางค์ต้นแบบให้แก่สมัยอยุธยาตอนต้น
เจดีย์ทรงปรางค์ที่ได้พัฒนามาจากปราสาทขอมนั้น ถือเป็นรูปแบบเฉพาะที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น และมักปรากฏในวัดสำคัญๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น วัดมหาธาตุ วัดพุทไธสวรรย์ วัดพระราม วัดราชบูรณะ ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลาง การสร้างปรางค์เริ่มลดน้อยลง เนื่องจากกระแสอิทธิพลศิลปะสุโขทัยเข้ามามีบทบาทอย่างมาก เจดีย์สำคัญในสมัยนี้ จึงนิยมสร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆังเป็นส่วนใหญ่
เจดีย์ทรงปรางค์ได้กลับมานิยมอีกครั้งหนึ่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น ที่วัดไชยวัฒนาราม ซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นซึ่งนิยมสร้างเจดีย์ทรงปรางค์อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๓ พบว่า มีการสร้างปรางค์เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือ พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม พระปรางค์ในรัชกาลที่ ๓ นี้ มีพัฒนาการไปไกลจากรูปแบบดั้งเดิมของขอม และสมัยอยุธยาตอนต้นอย่างมาก กล่าวคือ พระปรางค์มีทรงสูงชะลูดมากขึ้นจนมีลักษณะเป็นแท่ง มีการเพิ่มมุมและชั้นฐานมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มจำนวนชั้นหลังคามากขึ้นด้วย
การสร้างเจดีย์ทรงปรางค์นี้คงหมดไปภายหลังรัชกาลที่ ๓ เพราะในรัชกาลที่ ๔ ได้มีพระราชนิยมสร้างเจดีย์ทรงระฆังขึ้นแทน