Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มะเร็งคืออะไร

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
347 Views

  Favorite

มะเร็งคืออะไร 

ก้อน ตุ่ม ไต ที่ผิดปกติที่ปรากฏภายใน หรือบริเวณผิวหนังของร่างกายเรียกรวมๆ กันว่า "เนื้องอก" (neoplasm, neoplasia, new growth, tumour) เนื้องอกนี้เกิดขึ้นมาใหม่จากเนื้อเยื่อของร่างกาย อยู่นอกเหนือการควบคุมของร่างกาย และไม่มีประโยชน์หรือมีโทษ ต่อร่างกาย

 

เนื้องอกแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ

๑. เนื้องอกชนิดธรรมดา (benign tumour) 
โดยปกติจะมีผลต่อร่างกายน้อยมากนอกจาก 
ก. เกิดในอวัยวะที่มีเนื้อที่จำกัด เช่น ภายในสมองทำให้เกิดการกดดันต่อเนื้อสมองปกติโดยรอบอย่างมากทำให้เสียชีวิตได้ 
ข. เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ก้อนเนื้องอกที่มีก้านอาจจะบิดตัวทำให้เกิดความเจ็บปวดเกิดการเน่าตายของก้อนเนื้องอกมีเลือดออกหรือมีการติดเชื้อได้ 
ค. เนื้องอกที่มีการสร้างฮอร์โมน เช่น เนื้องอกของต่อมใต้สมองต่อมหมวกไต ตับอ่อน เป็นต้นทำให้ร่างกายมีการผิดปกติในระบบฮอร์โมนเป็นอย่างมาก 
ง. เนื้องอกชนิดธรรมดาอาจจะกลายเป็นมะเร็งได้

 

เนื้องอกกล้ามเนื้อต้นคอ
เนื้องอกกล้ามเนื้อต้นคอ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

 

๒. เนื้องอกชนิดร้าย (malignant tumour) 
หรือที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า "มะเร็ง" (cancer) นั่นเองแขนงวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับมะเร็งเรียกว่า "เนื้องอกวิทยา"(oncology) ซึ่งมาจากภาษากรีก onkos แปลว่า tumourหรือmassและคำว่าcancerแปลว่าปูมะเร็งอาจจะเกิดในลักษณะที่เป็นก้อนมะเร็งหรืออาจจะเกิดในลักษณะที่เซลล์มะเร็งกระจายไปทั่วระบบอวัยวะนั้น ๆ อาทิเช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเซลล์มะเร็งจะกระจายไปทั่วระบบการไหลเวียนเลือดเป็นต้น

ตารางแสดงความแตกต่างระหว่างเนื้องอกชนิดธรรมดากับมะเร็ง
 
เนื้องอกชนิดธรรมดา
มะเร็ง
การเจริญเติบโต ช้า เร็ว
ลักษณะของการโต ดันออกไปรอบๆ ข้าง (ecpansion) แทรกซึม (invasion)
การทำลายเนื้อเยื่อปกติ น้อยมากหรือไม่มี มาก
การทำลายหลอกเลือด ไม่มี พบบ่อย
เปลือกหุ้ม (capsule) มี ไม่มี
การแพร่กระจาย (metastasis) ไม่มี มี
ผลที่เกิดต่อร่างกาย น้อยมาก มาก ตาย
หลอดเลือดมาหล่อเลี้ยง น้อย ปานกลางถึงมาก
เน่าหรือแตกเป็นแผล ไม่ค่อยมี มีเสมอ
มีการกลับเป็นอีกภายหลังผ่าตัดเอาก้อนออก    ไม่ค่อยมี มีเสมอ

 

 

ฉะนั้นมะเร็ง คือ เนื้องอกชนิดร้ายที่เกิดขึ้นมาใหม่จากเนื้อเยื่อปกติของร่างกายมีการเจริญเติบโตอยู่นอกเหนือการควบคุมของร่างกายและมีโทษต่อร่างกายเซลล์มะเร็งจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วทำให้เกิดเป็นก้อนหรือเป็นแผลมะเร็งขนาดใหญ่ลักษณะการโตของก้อนมะเร็งจะเป็นแบบแทรกซ้อนหรือมีส่วนยื่นเข้าไปในเนื้อเยื่อปกติโดยรอบเหมือนขาปู (ฉะนั้นสัญลักษณ์ของมะเร็ง หรือเครื่องหมายขององค์การต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งจึงมักจะใช้รูปปูเป็นเครื่องหมาย) การแทรกซึมเช่นนี้จึงมีการทำลายเนื้อเยื่อปกติใกล้เคียงเป็นอย่างมากมีการทำลายหลอดเลือดทำให้มีเลือดออกหรือจากการที่ก้อนมะเร็งโตเร็วมากจนขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงจึงเกิดการเน่าตายของเซลล์มะเร็งทำให้มีกลิ่นเหม็นเป็นอย่างมากและลักษณะที่สำคัญของมะเร็งคือเซลล์มะเร็งจากมะเร็งปฐมภูมิ สามารถจะแพร่กระจายไปได้ทั่วร่างกายไปเกิดขึ้นใหม่เป็นมะเร็งทุติยภูมิตรงส่วนอื่นของร่างกายที่อยู่ห่างไกลออกไป 

 

มะเร็งแต่ละชนิดจะมีความรุนแรงแตกต่างกันและยังขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เฉพาะระหว่างมะเร็งนั้นกับตัวผู้ป่วยโดยตรงความรุนแรงจึงแตกต่างกันในแต่ละบุคคลแต่ละก้อนมะเร็งในคนเดียวกันหรือแม้แต่มะเร็งก้อนเดียวกัน ก็ยังมีอัตราการเจริญเติบโตไม่เท่ากันมะเร็งบางชนิดมีการแพร่กระจายได้รวดเร็วมากแม้ว่าจะเพิ่งเริ่มเป็น เช่น มะเร็งปอดบางชนิดโตช้าและแพร่กระจายช้าผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปีแม้ว่าจะเริ่มต้นรักษาช้าหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ เช่น มะเร็งของต่อมไธรอยด์ชนิดปุ่ม (papillary) เป็นต้น

มะเร็งของกระดูกต้นแขน ของหัวไหล่ซ้าย
มะเร็งของกระดูกต้นแขน ของหัวไหล่ซ้าย
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

 

มะเร็งแต่ละชนิดชอบแพร่กระจายไปเฉพาะอวัยวะบางอวัยวะเท่านั้น เช่น มะเร็งเต้านมชอบแพร่กระจายไปที่กระดูกหรือตับมากกว่าอวัยวะอื่น เป็นต้น

ก้อนมะเร็งที่แตกเป็นแผลขนาดใหญ่ของริมฝีปากล่าง
ก้อนมะเร็งที่แตกเป็นแผลขนาดใหญ่ของริมฝีปากล่าง
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

 

ในทางพยาธิวิทยาจะแบ่งความรุนแรงของมะเร็งตามการจำแนกลักษณะของเซลล์มะเร็ง (differentiation) เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ออกเป็น ๔ ขั้น คือ ตั้งแต่ขั้นที่มีการจำแนกลักษณะของเซลล์ชัดเจน (well differentiation) ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงน้อยจนกระทั่งถึงขั้นที่ ๔ ที่เซลล์ไม่มีการจำแนกลักษณะเลย (undifferentiation) ซึ่งมีความรุนแรงมาก

สำหรับด้านการรักษาได้แบ่งความรุนแรงของมะเร็งตามระยะของโรคโดยอาศัยการลุกลามของโรคออกไปเป็นระยะ ๆ อย่างคร่าว ๆ ดังนี้ คือ 
ระยะที่ ๑ มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะในที่เริ่มเป็น 
ระยะที่ ๒ มะเร็งลุกลามถึงเนื้อเยื่อข้างเคียงหรือลุกลามทะลุผ่านอวัยวะที่เป็นโพรง 
ระยะที่ ๓ มะเร็งลุกลามถึงต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง 
ระยะที่ ๔ มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow