มะเร็งคืออะไร
ก้อน ตุ่ม ไต ที่ผิดปกติที่ปรากฏภายใน หรือบริเวณผิวหนังของร่างกายเรียกรวมๆ กันว่า "เนื้องอก" (neoplasm, neoplasia, new growth, tumour) เนื้องอกนี้เกิดขึ้นมาใหม่จากเนื้อเยื่อของร่างกาย อยู่นอกเหนือการควบคุมของร่างกาย และไม่มีประโยชน์หรือมีโทษ ต่อร่างกาย
เนื้องอกแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
๑. เนื้องอกชนิดธรรมดา (benign tumour)
โดยปกติจะมีผลต่อร่างกายน้อยมากนอกจาก
ก. เกิดในอวัยวะที่มีเนื้อที่จำกัด เช่น ภายในสมองทำให้เกิดการกดดันต่อเนื้อสมองปกติโดยรอบอย่างมากทำให้เสียชีวิตได้
ข. เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ก้อนเนื้องอกที่มีก้านอาจจะบิดตัวทำให้เกิดความเจ็บปวดเกิดการเน่าตายของก้อนเนื้องอกมีเลือดออกหรือมีการติดเชื้อได้
ค. เนื้องอกที่มีการสร้างฮอร์โมน เช่น เนื้องอกของต่อมใต้สมองต่อมหมวกไต ตับอ่อน เป็นต้นทำให้ร่างกายมีการผิดปกติในระบบฮอร์โมนเป็นอย่างมาก
ง. เนื้องอกชนิดธรรมดาอาจจะกลายเป็นมะเร็งได้
๒. เนื้องอกชนิดร้าย (malignant tumour)
หรือที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า "มะเร็ง" (cancer) นั่นเองแขนงวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับมะเร็งเรียกว่า "เนื้องอกวิทยา"(oncology) ซึ่งมาจากภาษากรีก onkos แปลว่า tumourหรือmassและคำว่าcancerแปลว่าปูมะเร็งอาจจะเกิดในลักษณะที่เป็นก้อนมะเร็งหรืออาจจะเกิดในลักษณะที่เซลล์มะเร็งกระจายไปทั่วระบบอวัยวะนั้น ๆ อาทิเช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเซลล์มะเร็งจะกระจายไปทั่วระบบการไหลเวียนเลือดเป็นต้น
เนื้องอกชนิดธรรมดา
|
มะเร็ง
|
|
การเจริญเติบโต | ช้า | เร็ว |
ลักษณะของการโต | ดันออกไปรอบๆ ข้าง (ecpansion) | แทรกซึม (invasion) |
การทำลายเนื้อเยื่อปกติ | น้อยมากหรือไม่มี | มาก |
การทำลายหลอกเลือด | ไม่มี | พบบ่อย |
เปลือกหุ้ม (capsule) | มี | ไม่มี |
การแพร่กระจาย (metastasis) | ไม่มี | มี |
ผลที่เกิดต่อร่างกาย | น้อยมาก | มาก ตาย |
หลอดเลือดมาหล่อเลี้ยง | น้อย | ปานกลางถึงมาก |
เน่าหรือแตกเป็นแผล | ไม่ค่อยมี | มีเสมอ |
มีการกลับเป็นอีกภายหลังผ่าตัดเอาก้อนออก | ไม่ค่อยมี | มีเสมอ |
ฉะนั้นมะเร็ง คือ เนื้องอกชนิดร้ายที่เกิดขึ้นมาใหม่จากเนื้อเยื่อปกติของร่างกายมีการเจริญเติบโตอยู่นอกเหนือการควบคุมของร่างกายและมีโทษต่อร่างกายเซลล์มะเร็งจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วทำให้เกิดเป็นก้อนหรือเป็นแผลมะเร็งขนาดใหญ่ลักษณะการโตของก้อนมะเร็งจะเป็นแบบแทรกซ้อนหรือมีส่วนยื่นเข้าไปในเนื้อเยื่อปกติโดยรอบเหมือนขาปู (ฉะนั้นสัญลักษณ์ของมะเร็ง หรือเครื่องหมายขององค์การต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งจึงมักจะใช้รูปปูเป็นเครื่องหมาย) การแทรกซึมเช่นนี้จึงมีการทำลายเนื้อเยื่อปกติใกล้เคียงเป็นอย่างมากมีการทำลายหลอดเลือดทำให้มีเลือดออกหรือจากการที่ก้อนมะเร็งโตเร็วมากจนขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงจึงเกิดการเน่าตายของเซลล์มะเร็งทำให้มีกลิ่นเหม็นเป็นอย่างมากและลักษณะที่สำคัญของมะเร็งคือเซลล์มะเร็งจากมะเร็งปฐมภูมิ สามารถจะแพร่กระจายไปได้ทั่วร่างกายไปเกิดขึ้นใหม่เป็นมะเร็งทุติยภูมิตรงส่วนอื่นของร่างกายที่อยู่ห่างไกลออกไป
มะเร็งแต่ละชนิดจะมีความรุนแรงแตกต่างกันและยังขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เฉพาะระหว่างมะเร็งนั้นกับตัวผู้ป่วยโดยตรงความรุนแรงจึงแตกต่างกันในแต่ละบุคคลแต่ละก้อนมะเร็งในคนเดียวกันหรือแม้แต่มะเร็งก้อนเดียวกัน ก็ยังมีอัตราการเจริญเติบโตไม่เท่ากันมะเร็งบางชนิดมีการแพร่กระจายได้รวดเร็วมากแม้ว่าจะเพิ่งเริ่มเป็น เช่น มะเร็งปอดบางชนิดโตช้าและแพร่กระจายช้าผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปีแม้ว่าจะเริ่มต้นรักษาช้าหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ เช่น มะเร็งของต่อมไธรอยด์ชนิดปุ่ม (papillary) เป็นต้น
มะเร็งแต่ละชนิดชอบแพร่กระจายไปเฉพาะอวัยวะบางอวัยวะเท่านั้น เช่น มะเร็งเต้านมชอบแพร่กระจายไปที่กระดูกหรือตับมากกว่าอวัยวะอื่น เป็นต้น
ในทางพยาธิวิทยาจะแบ่งความรุนแรงของมะเร็งตามการจำแนกลักษณะของเซลล์มะเร็ง (differentiation) เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ออกเป็น ๔ ขั้น คือ ตั้งแต่ขั้นที่มีการจำแนกลักษณะของเซลล์ชัดเจน (well differentiation) ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงน้อยจนกระทั่งถึงขั้นที่ ๔ ที่เซลล์ไม่มีการจำแนกลักษณะเลย (undifferentiation) ซึ่งมีความรุนแรงมาก
สำหรับด้านการรักษาได้แบ่งความรุนแรงของมะเร็งตามระยะของโรคโดยอาศัยการลุกลามของโรคออกไปเป็นระยะ ๆ อย่างคร่าว ๆ ดังนี้ คือ
ระยะที่ ๑ มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะในที่เริ่มเป็น
ระยะที่ ๒ มะเร็งลุกลามถึงเนื้อเยื่อข้างเคียงหรือลุกลามทะลุผ่านอวัยวะที่เป็นโพรง
ระยะที่ ๓ มะเร็งลุกลามถึงต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
ระยะที่ ๔ มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ