ในเวลา ๑๐๐ ปีของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ คือ ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๙๙ เทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากทำให้เรา มีโทรศัพท์ใช้ มีคอมพิวเตอร์ใช้ นอกจากนี้คอมพิวเตอร์ยังเชื่อมโยงกันได้โดยผ่านสายโทรศัพท์ มีการสร้างเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ที่ทำให้การติดต่อสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ทำได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมทั่วโลก ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำกิจกรรมได้คล้ายคนยิ่งขึ้น เช่น สามารถอ่านหนังสือภาษาไทยออก พูดโต้ตอบกับคนเป็นภาษาไทยได้
สังคมที่เราอยู่ขณะนี้จะเปลี่ยนแปลงไปได้มาก การเดินทางทั้งทางรถและเครื่องบินจะน้อยลง เช่น แทนที่จะต้องนั่งรถมาซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าเราก็สามารถจะสั่งซื้อผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ แทนที่ครูจะต้องเดินทางไปสอนนักเรียนในจังหวัดต่าง ๆ นักเรียนทั่วประเทศก็สามารถเรียนโดยดูครูผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ แทนที่จะต้องเดินทางไปห้องสมุดก็สามารถขอดู หรือขออ่านหนังสือผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ และแทนที่คนหลายประเทศทั่วโลกต้องเดินทางไปประชุมร่วมกันก็สามารถมองเห็นหน้าตากันหรือพูดคุยปรึกษากันผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ก็ได้
คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จะแสดงผลและโต้ตอบกับคนในลักษณะเสมือนจริงได้มากขึ้น กล่าวคือเป็นลักษณะสามมิติไม่ใช่เน้นแค่ให้มองเห็นจากจอคอมพิวเตอร์แต่สามารถสร้างความรู้สึก เช่น รู้สึกถึงการสัมผัส ได้ยิน ได้กลิ่น สภาพเสมือนจริงจะส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างดีมาก เช่น ในวงการแพทย์คอมพิวเตอร์สามารถสร้างคนไข้เทียมให้หมอฝึกหัดผ่าตัด เมื่อลงมือผ่าตัดจะเห็นส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่จำลองขึ้นมาได้ มีเลือดเทียมไหลออกมาได้ แม้จะผ่าตัดพลาดกี่ครั้งก็ไม่มีใครเป็นอันตราย สามารถฝึกหัดแล้วฝึกหัดอีกจนกระทั่งหมอเริ่มมีความชำนาญแล้วจึงค่อยผ่าตัดคนจริง ๆ
ก่อนที่เราจะฝันหวานว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะอำนวยความสะดวกได้มากมายเราจะต้องระวังตรวจสอบและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาคอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาดซึ่งมักเกิดขึ้นเพราะซอฟต์แวร์ที่ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานพลาด อีกทั้งต้องรักษาผลประโยชน์ทางกฎหมายของผู้คิดค้นเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ ๆ เหล่านี้ด้วย หากระวังและแก้ปัญหาทั้งสองนี้ได้ดีความฝันที่กล่าวมาเบื้องต้นก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นความจริงได้มากขึ้น
การนำเทคโนโลยีมาให้บริการในด้านข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บ สื่อสาร ประมวลผล และนำเสนอข้อมูล มีชื่อเรียกรวมกันว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ (ค.ศ. ๑๙๐๐ - ๑๙๙๙) ก้าวหน้าอย่างมากมีทั้งโทรเลข โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ โทรสาร ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ในสังคมยุคใหม่ที่เรียกกันว่า ไซเบอร์สเปซ
เป้าหมายในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ มีแนวโน้มว่าคนจะพยายามทำให้คอมพิวเตอร์ติดต่อสื่อสารงานได้เหมือนคนมากขึ้น สร้างสภาพการณ์ต่าง ๆ เสมือนคนเราได้เห็นได้สัมผัสในชีวิตจริงมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปในด้านบวก ต้นศตวรรษที่ ๒๑ คาดว่าจะมีแนวโน้มดังต่อไปนี้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นอีกมากที่เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว ในด้านลบต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ มีปัญหาอยู่ ๒ ประการ ที่จะต้องแก้ไขและป้องกันเพื่อให้ความฝันเหล่านี้สามารถเป็นจริงได้ ปัญหาแรกคือ ปัญหาการทำงานผิดพลาดของคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ปัญหาที่ ๒ คือ การคุ้มครองไม่ให้ผลงานที่เราคิดค้นถูกขโมยไปใช้ได้โดยง่าย ปัญหาใหญ่ที่สุดในการทำงานผิดพลาดของคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ที่อาจเกิดขึ้นได้เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์มีปัญหาหรือซอฟต์แวร์มีข้อผิดพลาดซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากเนื่องจากซอฟต์แวร์ในปัจจุบันมักประกอบด้วยชุดคำสั่งมากมายนับแสนบรรทัด ชุดคำสั่งบางชุดก็อาจจะมีข้อผิดพลาดได้ การแก้ไขข้อผิดพลาดต้องเสียค่าใช้จ่ายมากและต้องใช้เวลานานเพื่อตรวจสอบให้ได้ว่า ข้อผิดพลาดเกิดขึ้นจากชุดคำสั่งชุดใด อีกปัญหาหนึ่ง คือ ปัญหาการคุ้มครองสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญา ผลงานทางคอมพิวเตอร์เป็นงานที่สามารถทำสำเนาลอกเลียนแบบเพื่อนำไปแสวงหาผลประโยชน์ได้ง่ายหากการคุ้มครองป้องกันในส่วนนี้ไม่ได้ผลปัญหาที่จะตามมาคือคนจะไม่กล้าลงทุนทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากเท่าที่ควรเพราะเกรงจะได้กำไรไม่คุ้มต้นทุน ดังนั้นแนวโน้มของเทคโนโลยีสารสนเทศในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ จะมีทั้งด้านบวกและด้านลบหรืออาจต้นร้ายปลายดีก็ได้ทั้งนี้จะต้องรอดูกันต่อไป