เหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันเป็นที่มาแห่งวีรกรรมของท้าวสุรนารี เกิดขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๙ หลังจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้เพียง ๒ ปี พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกความไว้ว่า
"เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นกบฎ... ฝ่ายอนุเวียงจันทน์ตั้งแต่กลับไปถึงเมืองแล้วก็ตรึกตรองที่จะคิดมาประทุษร้ายต่อกรุงเทพมหานคร จึงให้หาอุปราช ราชวงศ์ สุทธิสารกับท้าวเพี้ยขุนนางผู้ใหญ่ มาปรึกษาว่าที่กรุงเดี๋ยวนี้มีแต่เจ้านายเด็กๆ ขุนนางผู้ใหญ่ก็น้อยตัว ฝีมือทัพศึกก็อ่อนแอ ทั้งเจ้าพระยานครราชสีมาก็ไม่อยู่ หัวเมืองรายทางก็ไม่มีที่กีดขวาง การเป็นที่หนักหนาแล้ว ไม่ควรเราจะเป็นเมืองขึ้น ชาวอังกฤษก็มารบกวนอยู่เราจะยกทัพไปตีเอากรุงก็เห็นจะได้โดยง่าย..."
เจ้าอนุวงศ์ หรือเรียกกันเป็นสามัญว่า เจ้าอนุ ตามที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารนี้ เป็นบุตรพระเจ้าบุญสาร เสด็จขึ้นครองนครเวียงจันทน์ ต่อจากเจ้าอินทวงศ์ เป็นผู้มีความสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ มาแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ลงมาเฝ้า และรับทำราชการต่างๆ โดยแข่งขันสืบมา จนเป็นที่สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัย ส่วนมูลเหตุที่เจ้าอนุวงศ์คิดเป็นกบฎ จะเข้ามาตีกรุงเทพฯ กล่าวว่า เนื่องจากทูลขอครัวชาวเวียงจันทน์ ที่ถูกกวาดต้อนมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี เพื่อจะนำกลับไปบ้านเมือง แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พระราชทานให้ตามประสงค์ ด้วยทรงพระราชดำริว่า ครัวชาวเวียงจันทน์เหล่านี้ ได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่เป็นหลักแหล่งมั่นคงแล้ว ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์มีความอัปยศ จึงเป็นกบฎจะยกทัพเข้ามาตีกรุงเทพมหานคร
การเตรียมกำลังเข้ามาตีกรุงเทพฯ ครั้งนั้นเจ้าอนุวงศ์ได้ไปเกลี้ยกล่อมบรรดาหัวเมืองต่างๆ ให้เข้าร่วมด้วย เจ้าเมืองใดขัดขืนก็ฆ่าเสีย มีเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เป็นต้น ราษฎรและเจ้าเมืองอื่นๆ พากันกลัวอำนาจยอมเข้าด้วยหลายเมือง เมื่อเห็นว่ามีกำลังมากพอ ก็ให้ยกกองทัพไปพร้อมกันที่เมืองนครราชสีมา
มีบันทึกเหตุการณ์ซึ่งเป็นลางร้ายก่อนเจ้าอนุวงศ์จะยกกองทัพออกจากเมืองเวียงจันทน์ว่า
"...เมื่อ ณ เดือน ๖ ปีจออัฐศก (พ.ศ.๒๓๖๙) เวลากลางวันเกิดลมพายุใหญ่พัดช่อฟ้าใบระกา หอพระแก้วพระบางหลังคาเรือนอนุหักไปเป็นอันมาก เรือนภรรยาอนุทลาย ๕ หลัง แต่เรือนราษฎรชาวบ้านหักพังประมาณ ๔๐-๕๐ หลัง ครั้นมาถึงเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ อนุยังเกณฑ์กองทัพอยู่นั้น บังเกิดดาวพฤหัสบดีขึ้นทางทิศทักษิณเมื่อเวลาดึกประมาณ ๒ ยามเศษ เกิดแผ่นดินไหวที่เมืองเวียงจันทน์ ถ้วยชามสิ่งของรูปพรรณกระทบกัน ครั้นรุ่งสว่างขึ้นเห็นแผ่นดินแยกออกในกำแพงท้ายเมือง ยาวประมาณ ๒ วา กว้างประมาณศอกเศษ ลึกประมาณเส้นเศษ อนุเห็นดังนั้น จึงหาโหรมาดูว่าดีหรือร้ายประการใด จะยกกองทัพลงไปตีกรุงจะปราชัยหรือมีชัย โหรทำนายว่าเหตุนี้ร้ายนักจะปราชัย..."
แม้โหรทำนายเช่นนั้นแต่เจ้าอนุวงศ์ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะยกทัพมาตีกรุงเทพฯ เจ้าอนุวงศ์เองนั้นเกณฑ์กองทัพเมืองเวียงจันทน์ ยกข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งอยู่บ้านพันพร้าว ฝึกหัดกองทัพอยู่ ส่วนทัพหน้าให้เจ้าราชวงศ์คุมคนยกล่วงมาถึงเมืองนครราชสีมา หลังจากเบิกเสบียงจากเมืองนครราชสีมาแล้วก็ยกทัพล่วงหน้าไปเมืองสระบุรี จากนั้นเจ้าอนุวงศ์กับเจ้าสุทธิสารราชบุตรก็ยกทัพตามลงมาถึงเมืองนครราชสีมา
การที่กองทัพของเจ้าอนุวงศ์ยกผ่านเมืองต่างๆ ไปโดยสะดวก ก็โดยใช้อุบางลวงเจ้าเมืองกรมการรายทางว่า มีศุภอักษรจากกรุงเทพฯ โปรดให้เกณพ์กองทัพมาช่วยรบกับอังกฤษ เจ้าเมืองกรมการเมืองหลงกลและพากันเชื่อฟังจัดหาเสบียงอาหารให้ และไม่มีใครขัดขวางยอมให้ผ่านไปแต่โดยดีทุกเมือง
เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยกกองทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองนครราชสีมานั้น เป็นเวลาที่เจ้าพระยานครราชสีมาไม่อยู่ ไปราชการที่เมืองขุขันธ์ คงมีแต่กรมการผู้น้อยรักษาเมืองอยู่ เช่น พระยาพรหมยกรบัตร เป็นต้น เจ้าอนุวงศ์ได้สั่งให้พระยาพรหมยกรบัตรเตรียมกวาดครอบครัวขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์ให้เสร็จภายในเวลา ๔ วัน พระยาพรหมยกรบัตรกลัวอำนาจก็จำต้องยอมทำตาม และแกล้งจัดหาหญิงรูปงามให้เจ้าอนุวงศ์เพื่อลวงให้ตายใจ
ฝ่ายพระยาปลัดซึ่งไปราชการกับเจ้าเมืองนครราชสีมา เมื่อทราบข่าวว่าเจ้าอนุวงศ์ลงมากวาดต้อนครัวเมืองนครราชสีมาไปเป็นจำนวนมาก จึงขออนุญาตเจ้าพระยานครราชสีมากลับมาช่วยครอบครัวและชาวเมือง ได้เข้าเฝ้าเจ้าอนุวงศ์ โดยลวงเจ้าอนุวงศ์ว่า เจ้าเมืองนครราชสีมาหนีไปเสียแล้ว เจ้าอนุวงศ์หลงเชื่อ ก็มอบให้พระยาปลัด และพระยาพรหมยกรบัตร ควบคุมครัวเมืองนครราชสีมา ออกเดินทางไปเมืองเวียงจันทน์ ดังมีหลักฐานเล่าเหตุการณ์รายงานในใบบอกพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา แจ้งมายังค่ายหลวง มีความโดยละเอียดว่า
"...ข้าพเจ้าพญาปลัด พญายกรบัตร หลวงพิชัย หลวงเมือง กรมการเมืองนครราชสีมา บอกลงมาว่าด้วยอยู่ ณ วันเดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ ปีจออัฐศกเจ้าเวียงจันทน์เข้ามาถึงเมืองนครราชสีมา เจ้าเวียงจันทน์ให้หาพญายกรบัตรหลวงสัสดี หลวงเมือง หลวงนา หลวงนรา หลวงปลัดเมืองพิมาย ออกไปเจ้าเวียงจันทน์ว่ากับกรมการว่า ถ้าผู้ใดมิยอมไปด้วยเจ้าเวียงจันทน์ฯ จะฆ่าเสียให้สิ้น... เจ้าเวียงจันทน์ให้กองทัพไล่ครัวนอกเมืองในเมืองออกแล้ว แต่กองทัพคุมครัวยกไป...ข้าพเจ้ายกไปทันครัว ณ บ้านปราสาท... ข้าพเจ้ากับกรมการปรึกษาให้ไล่ครัวเข้ามาตั้ง ณ บ้านสำริด แขวงเมืองพิมาย ข้าพเจ้ากรมการได้บอกข้อความให้ขุนพลถือลงมาบอกกองทัพยกขึ้นไปช่วย ก็หาเห็นกองทัพยกขึ้นไปไม่ ครั้น ณ วันเดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ เจ้าเวียงจันทน์ให้ยกกองทัพประมาณพันเศษไปตีชิงเอาครัว ข้าพเจ้ากรมการกับหมื่นศรีธนรัตน หลวงปลัดพิมาย พระณรงค์เดชะ เกณฑ์กำลังครัวได้ ๕๐๐๐ เศษ ยกออกรบ ตีกองทัพเจ้าเวียงจันทน์แตก... เจ้าเวียงจันทน์ แต่งให้เจ้าสุทธิสาร บุตร คุมคนประมาณ ๖๐๐๐ เศษ ยกไปตีข้าพเจ้ากรมการอีก ข้าพเจ้ากรมการ... ยกออกตีกองทัพเจ้าสุทธิสารแตก ข้าพเจ้ากรมการฆ่ากองทัพเจ้าสุทธิสารตายประมาณ ๑๐๐๐ เศษ ได้ปืนเชลยศักดิ์ ๕๐ บอก..."
เหตุการณ์ที่ครัวชาวเมืองนครราชสีมารวมกำลังกันต่อสู้ครั้งนี้เองที่ได้เกิดวีรสตรีคนสำคัญขึ้นในประวัติศาสตร์ของชาติไทย นั่นคือ ท่านผู้หญิงโมภริยาพระยาปลัด ได้ควบคุมกำลังฝ่ายผู้หญิงนุนช่วยสู้รบอย่างองอาจกล้าหาญ โดยคบคิดวางแผนกับผู้นำฝ่ายชายและกรมการเมือง จัดหาหญิงสาวให้นายทัพนายกองที่ควบคุมครัวไปจนถึงชั้นไพร่ จนพวกลาวกับครัวชาวเมืองสนิทเป็นอันดีแล้ว ก็ออกอุบายแจ้งว่าครอบครัวที่อพยพไปได้รับความยากลำบากอดอยากนัก ขอมีด ขวาน ปืน พอจะได้ยิงเนื้อมากินเป็นเสบียงเลี้ยงครัวไปตามทาง
เมื่อเดินทางถึงทุ่งสัมฤทธิ์ก็พร้อมใจกันเข้าสู้ทัพลาว ด้วยอาวุธอันมีอยู่น้อยนิด บ้างก็ตัดไม้ตะบองเสี้ยมเป็นหลาวบ้าง สามารถฆ่าฟันศัตรูล้มตายเป็นจำนวนมาก ดังมีความในใบบอกข้างต้น
หลังจากชัยชนะของชาวครัวเมืองนครราชสีมาครั้งนี้ ทำให้เจ้าอนุวงศ์หวาดหลั่นไม่กล้าที่จะยกทัพลงมายังกรุงเทพฯ พากันถอยทัพกลับไปและถูกปราบจับตัวมาลงโทษ ณ กรุงเทพมหานคร ในที่สุด
จากวีรกรรมของคุณหญิงโมที่ได้รวบรวมครัวชายหญิงชาวเมืองนครราชสีมา เข้าต่อสู้ข้าศึกศัตรูจนแตกพ่ายไปครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จความชอบแต่งตั้งขึ้นเป็น ท้าวสุรนารี
ท้ายสุรนารี หรือคุณหญิงโม เกิดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๔ ในแผ่นดินกรุงธนบุรี เมื่ออายุได้ ๒๕ ปี ได้สมรสกับเจ้าพระยาหิศราธิบดี (ทองคำ) ที่ปรึกษาราชการเมืองนครราชสีมา แต่ครั้งยังดำรงตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา ซึ่งชาวเมืองเรียกสั้นๆ ว่า พระยาปลัด มีนิวาสสถานอยู่บริเวณตรงข้ามวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ท้าวสุรนารีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือน ๕ ปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๑๔ พุทธศักราช ๒๓๙๕ รวมอายุได้ ๘๑ ปี หลังจากกระทำพิธีฌาปนกิจแล้ว เจ้าคุณสามีได้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอย ต่อมาเจดีย์ชำรุดลงจึงได้ย้ายอัฐิมาบรรจุไว้ที่กู่ที่วัดพระนารายณ์มหาราช จนกระทั่งเมื่อทางการและประชาชน ชาวนครราชสีมา ได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ของท่านไว้ ณ หน้าประตูชุมพล เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๗ จึงได้นำอัฐิของท้าวสุรนารีมาประดิษฐานในฐานอนุสาวรีย์แห่งนี้
ที่หน้าประตูชุมพล ประตูเมืองเก่าด้านทิศตะวันตกของเมืองโคราชหรือเมืองนครราชสีมา ทุกวันนี้ยังปรากฎอนุสาวรีย์ของวีรสตรีท่านนี้ ประดิษฐานในอาการที่พร้อมจะเข้าต่อสู้ เพื่อปกป้องคุ้มครองชาวเมืองให้อยู่รอดปลอดภัย
อนุสาวรีย์รูปท้าวสุรนารีดังกล่าวนี้ สร้างเป็นรูปปั้นสุภาพสตรีมีเครื่องแต่งกายอย่างหญิงมีบรรดาศักดิ์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือนุ่งผ้าจีบ ห่มสไบคลุมมีอย่างน้อย ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม ในมือถือดาบ ในลักษณะเตรียมพร้อมที่จะปกปักรักษาบ้านเมือง นอกจากนี้ เพื่อให้อนุสาวรีย์นี้มีความหมายในฐานะเป็นที่เคารพสักการะรำลึกถึงท่านท้าวสุรนารีอย่างแท้จริง ทางการจึงได้เชิญอัฐิของท่านมาประดิษฐานไว้ ณ ฐานของอนุสาวรีย์ด้วย