Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปลา

Posted By Plookpedia | 24 เม.ย. 60
6,569 Views

  Favorite

ปลา 

อาศัยอยู่ในน้ำ หายใจทางเหงือกซึ่งอยู่ในกระพุ้งแก้ม ปลาส่วนมากมีลำตัวยาว หัวแหลม ท้ายแหลม ทำให้ว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว ปลามีครีบตามลำตัวหลายแห่ง ครีบเหล่านี้คลี่กาง หุบ และพับได้ ปลาใช้ครีบช่วยในการเคลื่อนไหวไปมาในน้ำ ปลาหลายชนิด มีเกล็ดปกคลุมทั่วทั้งลำตัว

 

ปลา
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 1

 

 

ในน้ำมีปลาอยู่มากมาย ในทะเลมีปลาทะเลอยู่นับไม่ถ้วน มีชนิด และมีชื่อต่างๆ กัน อาทิเช่น ปลาทู ปลากะพง ปลาหางเหลือง ปลาจะละเม็ด ปลาอินทรี ส่วนในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ก็มีปลาน้ำจืด อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมอ ปลากัด เป็นต้น

ปลาต่างชนิดกัน มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป มีปลาหลายชนิดเป็นอาหารของมนุษย์ แต่ปลาบางชนิดก็มีรูปร่างและสีงดงาม เหมาะสำหรับเลี้ยงไว้ดูเล่น เช่น ปลากัด และปลาเงินปลาทอง เป็นต้น

ปลา เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง มีครีบ มีเกล็ดหรือไม่มีเกล็ด และหายใจทางเหงือก ปลาอาศัยอยู่ในน้ำ อุณหภูมิของตัวปลาเปลี่ยนได้ตามอุณหภูมิของน้ำที่มันอาศัยอยู่ นักวิทยาศาสตร์จึงจัดปลาไว้ใน กลุ่มสัตว์เลือดเย็น

 

สัตว์มีกระดูกสันหลัง
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 1

 

 

ในบรรดาสัตว์มีกระดูกสันหลัง ปลามีจำนวนชนิดมากที่สุด คือ มีอยู่ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ชนิด สัตว์ที่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ที่มีจำนวนชนิดรองไปจากปลา ได้แก่ นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก

ปลาต่างชนิดกัน มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป ขนาดของปลาอาจเล็กใหญ่ผิดกันไปได้ตั้งแต่ ๑.๒ เซนติเมตร จนถึง ๒๒ เมตร ปลาส่วนใหญ่มีรูปร่างเพรียว หัวแหลมท้ายแหลม ที่มีรูปร่างเป็นอย่างอื่นก็มีอยู่อีก
เป็นจำนวนมาก

ปลาส่วนใหญ่ มีเกล็ดปกคลุมทั่วทั้งตัว ปลาที่ไม่มีเกล็ดมักจะมีเมือกลื่นแทน เกล็ดทำหน้าที่ปกคลุมและป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่เนื้อและหนังปลา ซึ่งอ่อนนุ่ม เกล็ดส่วนมากเรียงเหลื่อมซ้อนกันหันไปทางหางเหมือนกระเบื้องมุงหลังคา ถ้านำเกล็ดมาตรวจดูด้วยแว่นขยาย รอยวงปีทีเกล็ดจะบอกให้ทราบถึงอายุของปลาได้

ปลามีครีบตามลำตัว หลายแห่ง โดยทั่วไปครีบจะช่วย ในการทรงตัวและว่ายน้ำ ปลาเคลื่อนที่ไปข้างหน้าและถอยหลังได้ โดยโบกครีบหาง สลับกับการยืดและหดของกล้ามเนื้อลำตัว ครีบอกและครีบท้องเทียบได้กับขาหน้าและขาหลัง ของสัตว์สี่เท้าบนบก ครีบทั้งสองนี้มีหน้าที่ช่วยครีบอื่นในการทรงตัว ครีบอกสำคัญกว่าครีบท้องตรงที่อาจช่วยในการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ได้ ครีบอกที่แผ่กางออกจะต้านน้ำช่วยให้ปลาหยุดนิ่ง อยู่กับที่ได้เมื่อต้องการ ครีบหลัง และครีบทวาร ช่วยใหปลาทรงตัวตรง และเคลื่อนไปได้ตามแนวตรง

ปลาเกือบทุกชนิด หายใจด้วยเหงือก เมื่อปลาว่ายน้ำมันจะอ้าปากอมน้ำเข้าไว้ในปาก น้ำซึ่งมีก๊าซออกซิเจนละลายปนอยู่ด้วยนี้ จะผ่านเข้าไปทางช่องเหงือกซึ่งตั้งอยู่ในกระพุ้งแก้ม เหงือกจะรับเอาก๊าซออกซิเจนไว้แล้วปล่อยสู่สายเลือด ในขณะเดียวกันก็จะถ่ายเท ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ละลายลงในน้ำ น้ำที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปนอยู่จะถูกส่งออกทางช่องแก้ม แรงส่งออกนี้ จะช่วยเสริมให้ปลาเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ด้วย

ปลาบางชนิด เช่น ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาดุก มีอวัยวะพิเศษอยู่ใกล้กับเหงือก ใช้ช่วยหายใจในบรรยากาศได้โดยตรง ปลาบางชนิดมีอวัยวะคล้ายปอด ทำให้ต้องผุดขึ้นหายใจเหนือน้ำตลอดเวลา มิฉะนั้นก็จะตาย เนื่องจากไม่อาจหายใจทางเหงือกเพียงอย่างเดียวได้

ปลา กินอาหาร แตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของปลา อาหารที่ปลากิน โดยทั่วไปได้แก่ พืชน้ำ ปลาบางชนิดกินแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อาจเป็นพืชหรือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ นอกจากนั้นยังมีปลาที่กินแมลง หอย ปู กุ้ง หรือปลาตัวที่เล็กกว่าเป็นอาหาร

ปลาเกือบทุกชนิด สืบพันธุ์โดยการออกไข่ แม่ปลาวางไข่ครั้งหนึ่งเป็นจำนวนมากมาย ปลาในทะเลหลวงบางชนิด วางไข่ครั้งละกว่า ๓๐ ล้านฟอง เมื่อวางไข่แล้วแม่ปลาพ่อปลามักจากไปเลย ปล่อยให้ไข่ฟักเป็นตัวตามลำพัง ดังนั้นไข่และลูกปลาจำนวนมาก จึงกระจัดกระจายและมักถูกสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร เหลือรอดเป็นตัวและเติบโตขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

ปลาเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ เนื้อปลาเป็นอาหารที่มีคุณค่า และเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ปีหนึ่งๆ จึงมีปลาน้ำจืดและปลาน้ำเค็มถูกจับขึ้นมา เพื่อใช้ทำอาหารเป็นจำนวนมาก เฉพาะปลาทะเลที่ถูกจับขึ้นทั่วโลกมีจำนวนมากกว่าปีละ ๖๐ ล้านตัน

 

แหล่งน้ำธรรมชาติ
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 1

 

 

ประเทศไทย มีภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้เป็นอาหารประเทศ หนึ่งในโลก นับตั้งแต่โบราณกาลตลอดมา ประเทศของเรามีผักปลาและอาหารอย่างบริบูรณ์ จะเห็น ได้จากข้อความที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ซึ่งปรากฏบนศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยเจ็ดร้อยปีที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนาก็เป็นชาวประมงโดยปริยาย จับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ฯลฯ เป็นต้น เพื่อใช้บริโภคกันใน ครอบครัว ส่วนที่เหลือก็นำไปแลกเปลี่ยนหรือขาย ทำให้เขาเหล่านั้นดำรงชีพอยู่ด้วยความสงบ มีสันติสุขโดยทั่วไป ส่วนประชาชนซึ่งอยู่ตามจังหวัดชายทะเล ๒๓ จังหวัดของประเทศของเรา ส่วนใหญ่ยังดำรงชีพอยู่ ด้วยการทำการประมง เมื่อ ๖๐ ปีก่อน การประมงทะเลของประเทศเราเป็นการ ประมงแบบชายฝั่ง ชาวประมงจับปลา ด้วยเครื่องมือประจำที่ชนิดต่างๆ เช่น ลอบ โพงพาง หรือ โป๊ะ เป็นต้น ในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา ภายหลังที่ได้มีการพัฒนาการประมงโดยทั่วไป ชาวประมงของประเทศรู้จักใช้เครื่องมือจับปลา ที่ทันสมัยขึ้น เป็นเครื่องมือเคลื่อนที่ เช่น อวนลอย และ อวน ล้อมจับชนิดต่างๆ และในรอบยี่สิบห้าปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการใช้อวนลาก ทำการประมงในทะเล ทำให้กิจการประมงของประเทศเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ปริมาณปลาที่จับได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำให้บังเกิดผลดีแก่เศรษฐกิจของประเทศของเรา ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลา มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศของเรา

อย่างไรก็ตาม ความเจริญทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีของประเทศ และการเพิ่มปริมาณ อย่างรวดเร็วของประชากร ของประเทศของเรา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีผลกระทบกระเทือน ต่อความเป็นอยู่ของปลาหลายชนิด การสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำ ทำให้พื้นที่ใต้เขื่อนซึ่งเคยเป็นที่ลุ่ม น้ำ ท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก และเป็นเขตที่ปลาน้ำจืดหลายชนิด ชอบตามน้ำขึ้นไปวางไข่ และหาอาหารกิน ลดลงอย่างมากมาย เป็นเหตุให้พวกปลาเหล่านั้นหลายชนิดมีขนาดเล็กลง ปลาบางชนิดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ของสภาพที่อยู่อาศัย ก็เริ่มมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ จนเหลือน้อยมาก เช่น ปลาสร้อยชนิด ต่างๆ และปลาเทพา (Pangasius sanitwongsei) เป็นต้น แหล่งน้ำหลายแหล่งตื้นเขินขึ้นเนื่องจาก ประชาชนบุกรุกเข้าไปอยู่อาศัยและทำเป็นที่เพาะปลูกหากิน ทำให้บริเวณเหล่านี้มีสภาพไม่เหมาะสม ที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิด นอกจากนี้ ในแม่น้ำลำคลองใกล้ตัวเมือง ที่มีประชาชนอยู่อย่างหนาแน่นและมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น น้ำสะอาดจะค่อยๆ เปลี่ยนสภาพเป็นน้ำเสีย ปลาและสัตว์น้ำส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถจะอยู่อาศัยสืบพันธุ์ต่อไปได้

 

 

การประมง
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 1

 

ความต้องการปลาเพื่อเป็นอาหารสำหรับบริโภคของประชาชนภายในประเทศ และการส่งปลาเป็นสินค้าออก ทำให้การขยายตัวอย่างรวดเร็วของการประมงทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประมง อวนลากและอวนรุนชายฝั่ง เป็นมูลเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ประชากรของปลาทะเล ซึ่งหากินตามบริเวณพื้น ท้องทะเล หรือที่เราเรียกกันว่า ปลาหน้าดิน ทั้งในอ่าวไทยและด้านทะเลอันดามันมีปริมาณลดน้อย ถอยลงเป็นลำดับ

ดังนั้น เราจึงต้องเร่งโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรเหล่านี้ เพื่อให้บังเกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และโดยต่อเนื่อง ในการอนุรักษ์ทรัพยากรประมง เราจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการที่เหมาะสม เพื่อให้ชาวประมงได้ร่วมมือ และได้รับผลประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว และ ในขณะเดียวกันให้บังเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในชาติ 

การวางมาตรการที่เหมาะสม จำต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับชนิด ลักษณะรูปร่างโดยทั่วไป ปริมาณของปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ นิสัยและความเป็นอยู่ และการเปลี่ยนแปลงสภาวะและ ขนาดของประชากรของปลาที่เราต้องการจะอนุรักษ์ ดังนั้น ความรู้ทางด้านชีววิทยาของปลาหรือสัตว์น้ำจึงมีความสำคัญในการอนุรักษ์หรือพัฒนาการใช้ทรัพยากร เพื่อเราจะได้รับประโยชน์ จากทรัพยากรเหล่านี้อย่างเต็มที่ 

บทความเรื่องปลาในสารานุกรมฯ ฉบับนี้ ได้เรียบเรียงขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านและผู้ที่สนใจทั่วไป มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรูปร่าง และลักษณะของปลาโดยทั่วไป ให้เข้าใจถึงความต้องการในเรื่อง ที่อยู่อาศัย อุปนิสัยและพฤติกรรมบางประการที่ช่วยให้ดำรงชีวิตอยู่ และการจำแนกปลาออกเป็น กลุ่มใหญ่เพื่อความสะดวกในการศึกษาทางชีววิทยาต่อไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags

Content

1
ความรู้ทั่วไปในเรื่องปลา
นักวิทยาศาสตร์จัดความรู้และเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะ การจำแนกแยกชนิด และชีวประวัติของปลาไว้ในหมวดวิชา มีนวิทยา ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของวิชาสัตววิทยา ในภาษา อังกฤษเรียกวิชานี้ว่า ichthyology (ichthyo + logy) คำว่า ichthyo
594 Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow