Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สวัสดิการศิลปินแห่งชาติ

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
345 Views

  Favorite

สวัสดิการศิลปินแห่งชาติ

นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ จนถึง พ.ศ. ๒๕๕๕ มีศิลปินสาขาต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว รวมทั้งสิ้น ๒๒๑ คน เสียชีวิตไปแล้ว ๙๔ คน ยังมีชีวิตอยู่ ๑๒๗ คน

ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับเงินตอบแทนเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ ค่ารักษาพยาบาลเฉพาะตัว ตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับข้าราชการ โดยอนุโลม ให้เบิกจากหน่วยงานที่มีสิทธิก่อน แต่ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้น ได้จำนวนน้อยกว่า ก็ให้มีสิทธิเบิกตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการ เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลได้เพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาดอยู่ และในกรณีที่เบิกค่ารักษาพยาบาลเฉพาะตัวได้ไม่เต็มจำนวน หรือเบิกไม่ได้ ส่วนที่ยังขาดอยู่หรือเบิกไม่ได้ ให้เบิกตามกฎกระทรวงได้อีกไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อปีงบประมาณ รวมทั้งมีเงินช่วยเหลือ เมื่อประสบสาธารณภัยเท่าที่เกิดความเสียหายจริง รายละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาทต่อครั้ง ค่าสิ่งที่นำไปเยี่ยมในยามเจ็บป่วย หรือในโอกาสสำคัญ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาทต่อครั้ง นอกจากนี้ มีเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต เพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ รายละ ๒๐,๐๐๐ บาท และค่าเครื่องเคารพศพ ตามประเพณีที่เหมาะสม เท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท ตลอดจนเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือ เพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ ถือเป็นประโยชน์ตอบแทนศิลปินแห่งชาติที่เบิกจ่ายจากเงินกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม

ที่มาของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม (พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๕๓)

กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๒ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานด้านศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถระดมทรัพยากรจากทางราชการและเอกชน มาสนับสนุนการบริหารงานวัฒนธรรม ได้อย่างคล่องตัว ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเป็นทุนประเดิม จำนวน ๑๖๐ ล้านบาท และกำหนดให้ใช้ได้เฉพาะดอกผล ในการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย การพัฒนา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ การศึกษา และเผยแพร่งานศิลปะและวัฒนธรรม ของบุคคล คณะบุคคล และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เงินประเดิมดังกล่าวได้รับเป็นช่วงระยะเวลา กล่าวคือ 

ในปีงบประมาณ ๒๕๓๖ จำนวน ๕๐ ล้านบาท 
ในปีงบประมาณ ๒๕๓๗ จำนวน ๕๐ ล้านบาท 
ในปีงบประมาณ ๒๕๓๘ จำนวน ๒๐ ล้านบาท 
ในปีงบประมาณ ๒๕๓๙ จำนวน ๒๐ ล้านบาท 
ในปีงบประมาณ ๒๕๔๐ จำนวน ๒๐ ล้านบาท 

สำหรับเงินประเดิมจำนวน ๑๖๐ ล้านบาทนั้น คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ คือ กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม นำไปจัดซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล เพื่อนำดอกผลมาใช้ประโยชน์ ในการดำเนินงาน ด้านวัฒนธรรม

อันที่จริงแล้ว เงินของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมมาจากแหล่งต่างๆ ได้แก่

(๑)  เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
(๒) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณแผ่นดินประจำปี
(๓) กองทุนศิลปินในสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
(๔) เงินอุดหนุนกิจการของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติรับโอนมาจากกองวัฒนธรรม กรมการศาสนา
(๕) เงินอุดหนุนจากต่างประเทศ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ
(๖) เงินและทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม
(๗) ค่าธรรมเนียมการจัดการลิขสิทธิ์
(๘) เงินและทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม
(๙) ดอกผลและรายได้ของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม   

นอกจากนี้ คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมอาจจัดตั้งกองทุนเฉพาะเรื่องขึ้น ในกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สิน จึงมีศิลปินแห่งชาติและศิลปินทั่วไป รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ได้จัดกิจกรรม ทางวัฒนธรรม และนำเงินรายได้มาจัดตั้งเป็นกองทุน หรือร่วมบริจาคทรัพย์ เพื่อตั้งเป็นกองทุนย่อย ในกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม จำนวน ๓๘ กองทุน เช่น กองทุนสวลี ผกาพันธุ์ กองทุนชาลี  อินทรวิจิตร กองทุนรักษ์เพลงชรินทร์ กองทุนครูสมาน  กาญจนผลิน กองทุนไพบูลย์  บุตรขัน กองทุนบางจาก (มหาชน) กองทุนคุณหญิงปัทมา  ลีสวัสดิ์ตระกูล

ปัจจุบันเงินกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม มีจำนวนประมาณ ๒๓๗ ล้านบาท ถือเป็นเงินต้น ที่จะนำมาใช้ได้เฉพาะดอกผลที่เกิดขึ้น ประมาณ ปีละ ๘ ล้านบาทเท่านั้น เพื่อนำไปสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมด้านวัฒนธรรมของศิลปินแห่งชาติ หรือศิลปิน และหน่วยงานต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยให้ใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ดังนี้

(๑) ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย การพัฒนา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ การศึกษา และการเผยแพร่งานศิลปะและวัฒนธรรมของบุคคล คณะบุคคล และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคราชการและภาคเอกชน
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่สร้างความร่วมมือขององค์กร และสถาบันทางด้านศิลปวัฒนธรรม
(๓) ส่งเสริมกิจกรรมการจัดการแสดง การจัดนิทรรศการทางด้านศิลปะ และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
(๔) ช่วยเหลือผู้มีผลงานทางด้านวัฒนธรรม และศิลปินในด้านสวัสดิการและความเป็นอยู่
(๕) สนับสนุนให้มีการจัดซื้อผลงานทางด้านศิลปะที่เป็นผลงานของศิลปินไทยและเป็นสมบัติของชาติ
(๖) ส่งเสริมการเรียนการสอนด้านศิลปะและวัฒนธรรม และการสืบทอดงานศิลปะทั้งในและนอกระบบโรงเรียน
(๗) ส่งเสริมการวิจัย การพัฒนา และการเรียนการสอนภาษาไทย  
(๘) ส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ ตลอดจนองค์กร สมาคม และมูลนิธิต่างประเทศ
(๙) ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านศิลปะและวัฒนธรรม
(๑๐) ส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรสาธารณ-ประโยชน์ที่เกี่ยวกับงานศิลปะและวัฒนธรรม

กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมที่ตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ดำเนินการมาจนถึงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ จากนั้น ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยมาตรา ๓ (๕) ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องกองทุนฯ ตามพระราชบัญญัติ ฉบับใหม่ ปรากฏในหมวด ๒ มาตรา ๑๙ ว่า "ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรียกว่า กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนงานวัฒนธรรมตามพระราชบัญญัตินี้"

การบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ของศิลปินแห่งชาติ

ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากผลงานการสร้างสรรค์  ซึ่งยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ในผลงานที่สร้างสรรค์ ปรากฏให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง เพราะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ อยู่ในวงจำกัด คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมได้ดำเนินการโครงการ การบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ ของศิลปินแห่งชาติ โดยจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ระหว่างศิลปินแห่งชาติ ทายาท และผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ จัดเก็บรวบรวมผลงานของศิลปินแห่งชาติ และนำขึ้นทะเบียน รวมทั้งจัดทำคู่มือ แนวทางบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ของศิลปินแห่งชาติ นับตั้งแต่การเกิดงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ จนสิ้นอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ในส่วนของงานสาขาวรรณศิลป์ เฉพาะที่เป็นงานวรรณกรรมในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง เพื่อสนับสนุนความรู้ด้านลิขสิทธิ์กับศิลปินแห่งชาติโดยตรง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow