ตุ๊กตาไทย
ตุ๊กตาเป็นของเล่นที่เด็กชอบ เด็กๆ ชอบตุ๊กตา เพราะตุ๊กตามีความน่ารัก เด็กๆ สามารถสมมติตุ๊กตาให้เป็นเพื่อน เป็นพ่อแม่ ญาติ พี่นอง หรือเป็นใครๆ ได้ จะทำอย่างไรกับตุ๊กตาก็ได้ ตุ๊กตาไม่เคยขัดใจ ไม่ว่าจะเป็นเวลาใด เวลาสุข ทุกข์ โกรธ เหงา หรือกลัว ตุ๊กตาก็เป็นเพื่อนที่ดีเสมอ
ตุ๊กตามีหลายชนิด ตุ๊กตาที่นำมาเล่นได้ก็มีตุ๊กตารูปคน เป็นตุ๊กตาเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชาย ผู้ใหญ่ หมอ พยาบาล ตำรวจ เป็นต้น นอกจากนั้น ก็มีตุ๊กตารูปสัตว์ต่างๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น ตุ๊กตาหมา แมว ม้า หนอน นก เป็นต้น และยังมีตุ๊กตารูปสิ่งของเครื่องใช้ เช่น เก้าอี้ เตียงนอน กระทะ หม้อ เตา เป็นต้น เด็กๆ นำตุ๊กตาเหล่านี้ มาสมมติเล่นเป็นเรื่องราวก็ได้ พูดด้วยก็ได้ ตุ๊กตาบางชนิด เช่น ตุ๊กตาหมู ยีราฟ ม้าลาย ที่โครงทำด้วยกระดาษ ซ้อนแน่นหลายชั้นนั้น เด็กๆ ยังสามารถขึ้นไปขี่เล่นได้อย่างสนุกสนานอีกด้วย เด็กๆ มักทำตุ๊กตาด้วยวัสดุที่หาได้สะดวกในบ้าน หรือในท้องถิ่น เช่น ผ้าขาวม้าของคุณพ่อ ผ้ายัดนุ่น ดิน กระดาษ กะลามะพร้าว เปลือกหอย เป็นต้น
ตุ๊กตาบางชนิดไม่ได้มีไว้เล่น แต่มีไว้ใช้งานพิธีต่างๆ บ้านใดที่มีศาลพระภูมิ เด็กๆ คงจะสังเกตเห็นว่า ที่ศาลพระภูมิ จะมีตุ๊กตาคนรับใช้ผู้ชาย และผู้หญิงตัวเล็กๆ นั่งอยู่ นอกจากนั้นยังมีตุ๊กตาสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ตั้งอยู่ด้วย ตุ๊กตาเหล่านี้ เป็นตุ๊กตาที่ใช้ในพิธีตั้งศาลพระภูมิ เจ้าของบ้านมอบให้เป็นผู้รับใช้พระภูมิเจ้าที่
ตุ๊กตาบางชนิดไม่ได้มีไว้เล่น ไม่ได้มีไว้ใช้ แต่มีไว้เพื่อชมความงดงาม อันประณีตละเอียดอ่อน เช่น ตุ๊กตารำไทย จะมีความงดงามอ่อนช้อย เสื้อผ้าเครื่องประดับที่ใช้แตกต่างดูระยิบระยับสวยงามมาก นอกจากนั้น ยังมีตุ๊กตาเด็กและผู้ใหญ่ แต่งกายตามวัฒนธรรมไทยสมัยต่างๆ ตุ๊กตาชาวเขาเผ่าต่างๆ ตุ๊กตาเหล่านี้ดูสวยงาม และคล้ายของจริงมาก เป็นตุ๊กตาที่ให้ทั้งความรู้ และแสดงความงามทางศิลปะด้วย
ตุ๊กตาไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น เราจึงควรเล่นตุ๊กตาอย่างทะนุถนอม เพื่อตุ๊กตาจะได้เป็นประโยชน์กับเราไปนานๆ ส่วนตุ๊กตาที่เล่นไม่ได้ ก็ควรชมอย่างระมัดระวัง เพื่อตุ๊กตาจะได้ไม่แตกหักเสียหาย และอยู่ให้เราได้ชมไปนาน
ตุ๊กตาเป็นสิ่งประดิษฐ์รูปคน สัตว์ สิ่งของ ที่ประดิษฐ์ขึ้นให้เหมือนของจริง หรือคล้ายของจริง ด้วยวัสดุต่างๆ และส่วนมาก จะถูกย่อส่วนให้มีขนาดเล็กกว่าของจริง เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้ ตุ๊กตาเป็นของเล่นที่เด็กนิยมกันมาทุกยุคทุกสมัย เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด ล้วนชอบตุ๊กตาทั้งสิ้น
แต่เดิมมา คนคงไม่ได้ตั้งใจประดิษฐ์ตุ๊กตาให้เป็นของเล่นของเด็ก แต่ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อให้ในพิธีฝังศพ หรือบรรจุในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ต่อมาเมื่อมีคนไปพบเข้า จึงนำกลับบ้านไปฝากเด็กๆ ผู้ใหญ่คงจะเห็นเด็กๆ ชอบนำตุ๊กตามาเล่น จึงคิดประดิษฐ์ตุ๊กตา สำหรับเด็กเล่นขึ้น แต่เดิมมา คงทำกันแบบง่ายๆ ใช้วัสดุ ที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ดิน ผ้า ไม้ ทางมะพร้าว เปลือกข้าวโพด เปลือกหอย หญ้าปล้อง เป็นต้น ต่อมา จึงได้มีวิวัฒนาการประดิษฐ์ตุ๊กตา ให้สวยงาม ประณีตขึ้น เพื่อใช้ในกิจการต่าง ๆ
ตุ๊กตาไทยมีหลายประเภท จำแนกตามจุดมุ่งหมายของการใช้ดังนี้
๑. ตุ๊กตาที่ใช้ในพิธีกรรม
ตุ๊กตาประเภทนี้ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ตุ๊กตาศาลพระภูมิ เป็นตุ๊กตาคนรับใช้ชายหญิง และช้างม้า ตุ๊กตาชะนีสีเหลืองใช้ในพิธีทอดผ้าป่า เป็นต้น
๒. ตุ๊กตาสำหรับเด็กเล่น
ตุ๊กตาประเภทนี้ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อให้เด็กเล่นมักทำอย่างง่ายๆ จากวัสดุที่หาได้ใกล้ๆ ตัว
ตุ๊กตาผ้าที่ทำจากผ้าแถบของผู้หญิง หรือผ้าขาวม้าของผู้ชาย นำมาม้วนปลายสองข้างเข้าหากันแล้วผูกด้วยเชือก
ตุ๊กตาผ้ายัดนุ่นทำเป็นรูปคนหรือสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง แมว เต่า หนอน ฯลฯ ใช้ผ้าตัดเย็บเป็นส่วนต่างๆ ของร่างกาย แล้วยัดนุ่น นำมาเย็บประกอบกันเป็นตัวตุ๊กตา
ตุ๊กตากระดาษทำจากการปั้นหุ่นดินเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ทาน้ำมัน แล้วเอากระดาษสา หรือกระดาษหนังสือพิมพ์มาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แช่น้ำ ทาแป้งเปียก แล้วนำไปแปะลงบนหุ่นให้หนาๆ เสร็จแล้วจึงกรีดกระดาษออกจากหุ่น นำออกตากแดดให้แห้ง แล้วจึงทาสี แต่งเติมหน้าตาให้น่ารัก ที่นิยมทำกันมาก คือ ตุ๊กตาหมู ยีราฟ และม้าลาย มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ขนาดที่เด็กขึ้นไปขี่ได้
3. ตุ๊กตาฝีมือ
ตุ๊กตาประเภทนี้ ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อแสดงฝีมือทางศิลปะให้เด็กและผู้ชมได้ชมความงามอันประณีตละเอียดอ่อน ผู้ประดิษฐ์ตุ๊กตาประเภทนี้ นับว่าเป็นศิลปินที่ควรแก่การยกย่อง ตุ๊กตาฝีมือที่มีชื่อเสียง และมีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมมีหลายลักษณะด้วยกัน ดังนี้
ตุ๊กตาชาววัง
ศิลปินผู้ประดิษฐ์ คือ นางเฉ่ง สาครวาสี (สกุลเดิม สุวรรณโน) เป็นตุ๊กตาเดี่ยวรูปคน สูงประมาณ ๒-๔ เซนติเมตร มีทั้งผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็ก แต่งกายตามวัฒนธรรมไทยสมัยต่างๆ แสดงอิริยาบถต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ตุ๊กตาเด็กผมจุก กำลังนั่งเล่น ตุ๊กตาผู้หญิงยืนแต่งกายแบบชาวเหนือ เป็นต้น
ตุ๊กตาบางกอกดอลล์
ศิลปินผู้ประดิษฐ์คือ คุณหญิงทองก้อน จันทวิมล เป็นตุ๊กตาตัวโขน ตัวละครจากวรรณคดี และละครรำต่างๆ เช่น ตุ๊กตารจนาเสี่ยงพวงมาลัย ตุ๊กตาชาวเขาเผ่าต่างๆ ตุ๊กตาชาวไทยสมัยต่างๆ ตุ๊กตาชาวบ้านอาชีพต่างๆ ตุ๊กตาบางกอกดอลล์นี้ จะเน้นการประดิษฐ์ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
ตุ๊กตาชาวบ้านอยุธยา
ศิลปินผู้ประดิษฐ์คือ นางสาวสุดใจ เจริญสุข เป็นตุ๊กตาที่แสดงการดำเนินชีวิตประจำวัน และศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น ตุ๊กตามอญซ่อนผ้า ตุ๊กตายายนั่งไกวเปลหลาน เป็นต้น
ตุ๊กตาของนายจักรพันธุ์ โปษยกฤต
เป็นตุ๊กตาที่แสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ประดิษฐ์ขึ้นด้วยความประณีตบรรจง ใช้เวลาในการประดิษฐ์มาก เช่น ตุ๊กตาเด็กโกนจุก ตุ๊กตานางกวัก และตุ๊กตากุมารน้อย เป็นต้น
๔. ตุ๊กตาตามความเชื่อพื้นบ้าน
ตุ๊กตาประเภทนี้ประดิษฐ์ขึ้นง่ายๆ ด้วยฝีมือชาวบ้าน ใช้ในเชิงไสยศาสตร์ เช่น ตุ๊กตาเสียกบาล เป็นตุ๊กตาที่ถูกหักคอ ใช้สมมติเป็นตัวแทนของคนป่วย เพื่อลวงผีว่า คนป่วยนั้นได้ตายไปแล้ว จะได้ไม่มาเอาชีวิตคนป่วย ตุ๊กตานางกวัก เป็นตุ๊กตาหญิงสาวยกมือขวากวักไปข้างหน้า ใช้บูชา เพื่อเรียกลูกค้าให้เข้าร้าน และกวักเงินทองโชคลาภมาให้ เป็นต้น
ตุ๊กตาไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ล้วนมีคุณค่าทั้งสิ้น ตุ๊กตาบางประเภทใช้เล่น เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน บางประเภทใช้เป็นอุปกรณ์การศึกษาได้ บางประเภทใช้ในพิธีกรรมต่างๆ บางประเภทเป็นผลงานทางศิลปะ ที่แสดงความงามอันประณีตละเอียดอ่อน ตุ๊กตาไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย ที่เราต้องภาคภูมิใจ และรักษาไว้ตลอดไป
ตุ๊กตาเป็นของเล่นที่เด็กชอบมากมาตั้งแต่ ไหนแต่ไร ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตารูปคนหรือรูปสัตว์ ตุ๊กตาที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดเป็นตุ๊กตารูปคน เป็น ศีรษะผู้หญิง ไว้ผมแสกกลาง (ลำตัวสูญหายไป) ทำด้วยดินเผาหรือปูนปั้น ตั้งแต่สมัยทวาราวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔ พบที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี อีกแบบหนึ่งที่พบเห็นเป็น ศีรษะผู้หญิงมุ่นผมสูงกลางกระหม่อม มีเกี้ยว รัดผมตุ๊กตาที่น่าสนใจเป็นพิเศษได้แก่ ตุ๊กตา รูปคนเลี้ยงลิง ทำด้วยดินเผาสีแดง พบในบริเวณ ขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๑๓ ซึ่งเป็นเจดีย์ฐาน ๘ เหลี่ยม สันนิษฐานว่าอาจเป็นตุ๊กตาสำหรับเด็ก เล่นหรืออาจจะเป็นเครื่องรางของขลังตามคติ ชาวอินเดีย
ตามประวัติความเป็นมาของตุ๊กตา เดิมที เดียวคงจะไม่ได้ประดิษฐ์ขึ้นสำหรับให้เด็กเล่น แต่มุ่งหมายจะใช้ในพิธีฝังศพบ้าง หรือบรรจุ ในสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ ต่อมามีคน ไปขุดพบจึงนำรูปปั้นที่อาจจะมีทั้งคนและสัตว์ กลับบ้านเพื่อมาฝากเด็ก เมื่อเด็กชอบ ผู้ใหญ่ จึงทำขึ้นเพื่อให้เด็กได้เล่นโดยตรง จึงเกิดมี ตุ๊กตาขึ้น ตุ๊กตาสมัยก่อนๆ มักทำง่ายๆ รูป แบบไม่ซับซ้อน โดยใช้วัสดุใกล้ตัว เช่น ดิน ผ้า ไม้ รังไหม ฯลฯ ไม่ต้องซื้อหา เล่นเสียแล้ว ก็ทำใหม่ได้ นอกจากจะปั้นตุ๊กตาเป็นรูปคนแล้ว ยังมีตุ๊กตาปั้นเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ที่เห็นในชีวิต ประจำวันด้วย เช่น วัว ควาย หมู สุนัข เป็ด ไก่ นก ฯลฯ
ในสมัยกรุงสุโขทัยประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ นอกจากจะมีตุ๊กตาดินเผาแล้ว ยังมีตุ๊กตาเคลือบด้วยน้ำยาสีเขียว แม้แต่ของใช้ในบ้านก็ทำเป็นรูปคนหรือสัตว์ เช่น แจกันรูปช้างชูดอกบัวด้วยงวง มีควาญช้างนั่งอยู่บนคอช้าง เหยือกและกาน้ำรูปหงส์ เป็นต้น ชาวสุโขทัยนั้น มีฝีมือทางช่างสูงมาก การปั้นตัวตุ๊กตาจึงพัฒนาไปจากของเดิม และประณีตขึ้นมาก
เรานำตุ๊กตาไปใช้ด้วยจุดมุ่งหมายต่างๆ กัน เราจึงแบ่งตุ๊กตาออกได้หลายประเภท ดังนี้
๑. ตุ๊กตาที่ใช้ในพิธีกรรม
๒. ตุ๊กตาสำหรับเด็กเล่น
๓. ตุ๊กตาฝีมือ หรือตุ๊กตาที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม
๔. ตุ๊กตาตามความเชื่อพื้นบ้าน
๕. ตุ๊กตาอื่นๆ