Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเตรียมพื้นที่และการเตรียมดิน

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
538 Views

  Favorite

การเตรียมพื้นที่และการเตรียมดิน

ก. การเตรียมพื้นที่ 

หมายถึง การทำให้พื้นที่อยู่ในสภาพที่จะใช้เครื่องมือทำไร่อ้อยได้สะดวก พื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นพื้นที่ป่า ที่รกร้างว่างเปล่า ที่เคยปลูกพืชอื่นมาก่อน หรือพื้นที่ซึ่งปลูกอ้อยอยู่แล้ว วิธีการเตรียม เครื่องมือ แรงงาน และทุนรอนที่ต้องการใช้ แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะพื้นที่ซึ่งเคยปลูกพืชอื่นมาก่อน และพื้นที่ซึ่งปลูกอ้อยอยู่แล้วเท่านั้น เพราะเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่กสิกรใช้ปลูกอ้อย

 

ข. การปรับปรุงสมบัติของดิน 

ดินที่ปลูกอ้อยหรือพืชอื่นนอกจากพืชตระกูลถั่วติดต่อกันมาเป็นเวลานาน มักจะมีความอุดมสมบูรณ์น้อยลง และสภาพทางกายภาพของดินเลวลงด้วย ทำให้ผลผลิตพืชที่ปลูกต่ำลง วิธีที่จะปรับปรุงให้ดินดีขึ้นกระทำได้ด้วยการใส่ปุ๋ย โดยเฉพาะพวกปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ หรือโดยวิธีปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือผลพลอยได้จากโรงงานน้ำตาล ซึ่งได้แก่ กากตะกอน (filter-cake) และชานอ้อย (bagasse) เป็นต้น เมื่อใส่สารอินทรียวัตถุเหล่านี้ลงดิน จะช่วยทำให้ดินนั้นมีสมบัติทางเคมี ทางกายภาพ และทางชีวภาพดีขึ้น เป็นผลให้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นการใส่ปุ๋ยอินทรีย์จึงนับว่ามีความจำเป็น

 

กากตะกอนใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดินได้ดี
กากตะกอนใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดินได้ดี จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

ค. การเตรียมดิน 

เนื่องจากอ้อยเป็นพืชอายุยืน และมีรากหยั่งลึกมาก และเมื่อปลูกครั้งหนึ่งแล้วสามารถไว้ตอหรือเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง ปริมาณผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้ง ตลอดจนความยาวนานของการไว้ตอ นอกจากจะขึ้นอยู่กับพันธุ์ และสภาพลมฟ้าอากาศแล้ว การเตรียมดินนับว่ามีบทบาทสำคัญมาก ชาวไร่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ

 

ค. การเตรียมดิน 

เนื่องจากอ้อยเป็นพืชอายุยืน และมีรากหยั่งลึกมาก และเมื่อปลูกครั้งหนึ่งแล้วสามารถไว้ตอหรือเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง ปริมาณผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้ง ตลอดจนความยาวนานของการไว้ตอ นอกจากจะขึ้นอยู่กับพันธุ์ และสภาพลมฟ้าอากาศแล้ว การเตรียมดินนับว่ามีบทบาทสำคัญมาก ชาวไร่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ

 

เมื่อไถระเบิดดินชั้นล่างแล้วก็ตามด้วยไถจาน 3 อีก 3-4 ครั้ง คือไถดะ 1 ครั้ง แล้วไถแปร อีก 1-2 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของดิน และฤดูกาลที่ปลูก สำหรับการปลูกต้นฝน อาจไม่จำเป็นต้องเตรียมดินให้ละเอียดมากนัก แต่ถ้าเป็นการปลูกปลายฝน การเตรียมดินให้ละเอียดเป็นสิ่งจำเป็น การไถควรไถให้ลึกมากๆ เพื่อให้สามารถเปิดร่องได้ ลึก และปลูกได้ลึกด้วย

 

ข้อที่ต้องระวังในการเตรียมดินก็คือ ไถในขณะที่ดินมีความชื้นพอเหมาะ วิธีง่ายที่สุด ที่จะทราบว่า ดินนั้นมีความชื้นพอเหมาะหรือไม่ก็คือ เอาดินในชั้นที่จะมีการไถใส่ฝ่ามือ แล้วกำพอแน่น แบมือออก ถ้าดินมีความชื้นพอเหมาะจะจับกันเป็นก้อน ในลักษณะพร้อมที่จะแตกออกเมื่อมีอะไรมากระทบ ดินที่มีความชื้นน้อยเกินไปก็จะแข็งมาก ไถลำบาก ถ้าดินมีความชื้นมากเกินไปก็จะจับกันเป็นก้อน นอกจากนี้ถ้าเป็นพื้นที่ลาดเอียง การปฏิบัติต่างๆ ในการเตรียมดินต้องกระทำในทิศทางตั้งฉากกับความลาดเอียงเสมอ ทั้งนี้เพื่อช่วยลดการชะกร่อนของดินเนื่องจากน้ำ

 

เผาเศษเหลือภายหลังตัด เพื่อสะดวกต่อการรื้อตอเพื่อปลูกใหม่
เผาเศษเหลือภายหลังตัด เพื่อสะดวกต่อการรื้อตอเพื่อปลูกใหม่
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5
การรื้อตอเก่า
การรื้อตอเก่า
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

ง. การปรับระดับ 

เมื่อไถเสร็จแล้วควรปรับ ระดับพื้นที่ให้ราบเรียบพอสมควร และให้มีความลาดเอียงเล็กน้อยทางใดทางหนึ่งที่จะสะดวกต่อการให้น้ำ และระบายน้ำ ในกรณีที่ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน การปรับระดับจะทำให้น้ำไหลช้าลงช่วยลดการชะกร่อนได้อีกทางหนึ่งด้วย

ในที่บางแห่งซึ่งมีความลาดเอียงค่อนข้างมาก อาจต้องทำคันดินกั้นน้ำเป็นตอนๆ ตัดขวางทางลาดเอียง พร้อมทั้งมีร่องระบายน้ำด้วย ทั้งคันดินและร่องน้ำ ควรให้มีความลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อให้น้ำไหลช้าลง บริเวณที่ลาดเอียงมาก ไม่ควรใช้ปลูกอ้อย 

 

จ. การยกร่อง 

การยกร่อง หรือการเปิดร่องสำหรับปลูกอ้อยเป็นสิ่งจำเป็น เพราะนอกจากจะสะดวกแก่การปฏิบัติต่างๆ เช่น การปลูก การให้น้ำ และการระบายน้ำแล้ว ยังทำให้ปลูกได้ลึกอีกด้วย การปลูกลึกช่วยให้อ้อยไม่ล้มง่าย ทนแล้งได้ดี และสามารถไว้ตอได้นานกว่าการปลูกตื้น เครื่องยกร่องอาจเป็นผานหัวหมู หรือหางยกร่องซึ่งใช้สำหรับยกร่องโดยเฉพาะ แนวร่องที่ยกควรให้ตัดกับความลาดเอียงของพื้นที่ ระยะระหว่างร่องประมาณ 90-140 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ใช้ และวัตถุประสงค์ในการปลูก

 

การยกร่องด้วยหางยกร่อง ร่องที่ยกใหม่ๆ จะมีความชื้น
การยกร่องด้วยหางยกร่อง ร่องที่ยกใหม่ๆ จะมีความชื้น จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow