Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อ้อย

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
7,519 Views

  Favorite

น้ำตาลทรายที่เราใช้ปรุงอาหารให้มีรสหวานนั้น ทำมาจากอ้อย อ้อยเป็นพืชที่เรารู้จักกันดี ส่วนของอ้อยที่เรารับประทาน โดยเคี้ยวเอาน้ำหวานนั้น เป็นส่วนของลำต้น ลำต้นของอ้อย เป็นที่สะสมน้ำตาล ลำต้นอ้อยจึงหวาน และนำมาหีบ เอาน้ำอ้อยที่หวานออกมาได้ น้ำตาลทรายก็ทำมาจากน้ำอ้อยนี้เอง

 

ต้นอ้อย
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

อ้อยบางพันธุ์มีเปลือกและเนื้อนิ่ม เคี้ยวง่าย เรียกว่า อ้อยเคี้ยว เช่น อ้อยขาไก่ อ้อยสิงคโปร์ และอ้อยมอริเชียส แต่บางพันธุ์ก็มีเปลือกและเนื้อแข็งเคี้ยวยาก จึงเหมาะสำหรับนำไปทำน้ำตาล ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ปลูกอ้อยสำหรับทำน้ำตาล

 

อ้อยเป็นพืชที่แตกกอได้เหมือนข้าว กอหนึ่งๆ มีหลายต้น ขณะยังเล็กอยู่แต่ละต้นเรียกว่า หน่อ แต่ละหน่อเกิดไม่พร้อมกัน จึงมีหน่อต่างอายุในกอเดียวกัน เมื่อหน่อเหล่านี้เติบโตต่อไป ก็จะมีข้อและปล้อง เราเรียกหน่อที่มีข้อและปล้องว่า ลำต้น ลำต้นที่แก่จะมีข้อและปล้องมากกว่าลำต้นอ่อน ที่ข้อทุกข้อมีตาหนึ่งตา ตาอ้อยเกิดสลับข้างกัน นอกจากตา ยังมีปุ่มรากจำนวนมากอีกด้วย เราปลูกอ้อยโดยวิธีตัดลำต้นออกเป็นท่อนๆ ให้ท่อนหนึ่งๆ มีตา 2-3 ตาแล้วนำมาปลูก ตาก็จะเจริญเป็นอ้อยกอใหม่ มีรากซึ่งเจริญออกมาจากปุ่มราก ใบอ้อยคล้ายใบข้าว แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก ถ้าดูใบอ้อย ซึ่งมีอยู่ที่ข้อทุกข้อ จะเห็นรูปร่างของใบแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งสั้นหุ้มลำต้นทางด้านที่มีตา ส่วนนี้เรียกว่า กาบใบ อีกส่วนหนึ่งยาวอยู่ต่อจากกาบใบขึ้นไป เรียกว่า แผ่นใบ ขอบใบเป็นจักคมคล้ายฟันเลื่อยปลายใบแหลม

 

ไร่อ้อย
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

อ้อยมีดอกเป็นช่อ เกิดที่ยอดของแต่ละลำต้น ช่อหนึ่งๆ มีดอกจำนวนมาก ในกอหนึ่งๆ อาจมีดอกเพียงบางต้นที่แก่ บางพันธุ์ไม่ออกดอก ดอกอ้อยคล้ายดอกข้าว แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก ที่ฐานของแต่ละดอกมีเส้นคล้ายไหมสีขาวจำนวนมากหุ้มอยู่ เวลาดอกบาน ไหมเหล่านี้จะแผ่ออกทำให้ทั้งช่อดูคล้ายช่อไหม แต่ละดอกมีหนึ่งเมล็ดซึ่งสามารถเพาะให้งอกเป็นอ้อยต้นใหม่ได้

 

 

อ้อยเป็นพืชพวกหญ้าเช่นเดียวกับข้าวและข้าวโพด แต่เราปลูกอ้อย เพื่อเก็บเกี่ยวเอาเส่วนของลำต้น ซึ่งมีน้ำตาลอยู่ แทนที่จะเก็บเกี่ยวเอาเมล็ด แหล่งปลูกอ้อยของโลกอยู่ในประเทศแถบร้อนและชุ่มชื้น เช่น ประเทศบราซิล คิวบา ออสเตรเลีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และไทย เป็นต้น สำหรับประเทศไทย ชาวไร่ส่วนใหญ่ปลูกอ้อยสำหรับทำน้ำตาล แต่มีส่วยน้อยที่ปลูกอ้อยเคี้ยว ได้แก่ อ้อยขาไก่ อ้อยสิงคโปร์ และอ้อยมอริเชียส เป็นต้น อ้อยประเภทนี้ใช้บริโภคโดยตรง มีเปลือกและเนื้อนิ่มกว่าอ้อยที่ปลูก เพื่อทำน้ำตาล

น้ำตาลส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ในประเทศไทยคือ น้ำตาลทราย ซึ่งใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ นอกจากจะใช้บริโภคเป็นอาหารประจำวันแล้ว น้ำตาลทรายยังเป็นสินค้าออก ที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศปีละหลายพันล้านบาทอีกด้วย จึงนับว่า อ้อยเป็นพืชอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญ ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมาก

อ้อยเป็นพืชที่มีลำต้นใหญ่แข็งแรง ตัน และมักจะตั้งตรง ลำต้นประกอบด้วยข้อและปล้องเช่นเดียวกับพืชของพวกหญ้า ขนาด รูปร่าง และความยาวของปล้องแตกต่างกันตามพันธุ์และสภาพแวดล้อม ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ลำต้นอาจมีความยาวถึงปีละ 2-3 เมตร และมีปล้องเหนือพื้นดิน 20-30 ปล้อง หรือโดยเฉลี่ยมีปล้องประมาณเดือนละ 3 ปล้อง แต่ละปล้องยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นยาวประมาณ 2.5-5.0 เซนติเมตร ความยาวของปล้องและเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น ขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อม แต่ละปล้องมี 1 ตา เกิดที่ข้อสลับกันคนละข้างของลำต้น และทุกตาจะมีกาบใบหุ้มอยู่ ใบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่โอบรอบลำต้น และหุ้มตาอยู่เรียกว่า กาบใบ และอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า แผ่นใบ ทั้งสองส่วนแยกจากกันตรงคอใบ กาบใบสั้นกว่าแผ่นใบมาก ใบมีลักษณะคล้ายใบข้าวแต่ใหญ่กว่ามาก ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อยคม ต้นอ้อยที่เติบโตเต็มที่จะมีใบที่ทำหน้าที่อยู่ประมาณ 8-12 ใบ

 

อ้อยปลูกอายุประมาณ ๔ เดือน
อ้อยปลูกอายุประมาณ 4 เดือน จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

การปลูกอ้อยทำได้ง่ายเพียงแต่ตัดลำต้นเป็นท่อนๆ ละ 2-3 ตา เรียกว่า ท่อนพันธุ์ ปลูกโดยวิธีวางตามแนวราบ แล้วกลบด้วยดินหนาพอสมควร ตาแต่ละตาก็จะเจริญเป็นหน่อแรก โดยจะมีรากชั่วคราวเจริญออกมาจากปุ่มราก ซึ่งอยู่ที่ข้อ ของท่อนพันธุ์นั้น ตั้งแต่ปลูกจนถึงหน่อโผล่พ้นดินจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อม เมื่อหน่อแรกมีรากของตนเอง ซึ่งเรียกว่า รากถาวร รากชั่วคราวจึงเสื่อมโทรมไประยะเวลาตั้งแต่ปลูกจนถึงหน่อโผล่พ้นดินเรียกว่า ระยะงอก ต่อมาเมื่อหน่อแรกเติบโตขึ้นจนมีอายุประมาณ 6-8 สัปดาห์ ก็จะถึงระยะแตกกอ หรือแตกหน่อ จากเดิมซึ่งแต่ละตามีหน่อแรกเพียงหน่อเดียว ก็จะกลายเป็นหลายหน่อ กลุ่มของหน่อที่เกิดจากท่อนพันธุ์เดียวกันเรียกว่า กอ จำนวนหน่อจะมีมากน้อยเท่าไร ขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อม การแตกกอจะสมบูรณ์เมื่ออายุประมาณ 12-14 สัปดาห์ หลังจากนั้น ก็จะเข้าระยะย่างปล้องในระยะนี้ลำต้นอ้อยจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปล้องจะยาวขึ้น จำนวนปล้องก็จะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ลำต้นก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้น้ำหนักของลำต้นเพิ่มขึ้นจนกระทั่งอายุ 7-8 เดือน การเจริญเติบโตทางด้านใบและลำต้น หรือการเพิ่มน้ำหนักของลำต้นจะมีน้อยลงในระยะนี้ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม ได้แก่ แสงแดดจัด อุณหภูมิต่ำ ดินมีความชื้นน้อย และปุ๋ยโดยเฉพาะไนโตรเจนถูกใช้หมดไป อ้อยก็จะเข้าระยะแก่และสุก ซึ่งจะมีการสะสมน้ำตาลในลำต้นมากขึ้น การสะสมน้ำตาลจะเริ่มจากส่วนโคนไปหาปลาย จนกระทั่งส่วนโคน ส่วนกลาง และส่วนปลายของลำต้นมีความหวานไล่เลี่ยกัน การเก็บเกี่ยวกระทำโดยตัดลำต้นชิดดินริดใบ และตัดยอดส่วนที่มีน้ำตาลน้อยออกไป จากนั้นก็บรรทุกรถยนต์ เพื่อส่งเข้าโรงงานทำน้ำตาลต่อไป อ้อยที่เก็บเกี่ยวครั้งแรกนี้เรียกว่า อ้อยปลูก

ภายหลังที่ตัดลำต้นออกไปแล้ว ตาจากเหง้าที่เหลืออยู่ในดิน ก็จะเจริญเป็นหน่อใหม่โผล่จากดินอย่างรวดเร็ว และมีจำนวนมาก จึงเกิดการแก่งแย่งปัจจัย เพื่อการเจริญเติบโต หน่อที่อ่อนแอกว่าก็จะตายไป หน่อที่เหลือจะเจริญต่อไปเป็นลำต้นใหม่ และสามารถเก็บเกี่ยวได้อีก อ้อยที่เก็บเกี่ยวครั้งที่สองนี้เรียกว่า อ้อยตอ 1 เมื่อเก็บเกี่ยวอ้อยตอ 1 ไปแล้ว ตาจากเหง้าที่อยู่ในดิน ก็จะเจริญเป็นหน่อและลำต้นใหม่เรียกว่า อ้อยตอ 2 การไว้ตอจะกระทำได้นานเท่าไร หรือปลูกครั้งหนึ่งแล้ว จะตัดได้กี่ครั้ง ขึ้นอยู่กับพันธุ์ สภาพแวดล้อม และการปฏิบัติของชาวไร่

อ้อยเป็นพืชที่มีดอก การออกดอกแตกต่างกันตามพันธุ์และสภาพแวดล้อม ซึ่งได้แก่ความยาวของวัน อุณหภูมิ น้ำ และปุ๋ย เป็นต้น ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน บางพันธุ์อาจออกดอก บางพันธุ์อาจไม่ออกดอก นอกจากนี้ยังปรากฏว่า อ้อยบางพันธุ์อาจออกดอกเป็นบางปี ทั้งนี้เนื่องจากความผันแปรของปัจจัยบางอย่างดังกล่าวแล้ว ในบริเวณภาคกลางของประเทศเรา โดยเฉพาะที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม อ้อยจะออกดอกให้เห็นประมาณปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นไป จนถึงประมาณปลายเดือนมกราคม ในระยะก่อนที่ดอกจะโผล่ออกมาให้เห็นนั้น จะสังเกตเห็นว่า แผ่นใบสั้นลงตามลำดับ จนถึงใบสุดท้าย ซึ่งสั้นที่สุดเรียกว่า ใบธง ในขณะเดียวกัน กาบใบของใบเหล่านี้หุ้มอยู่ก็จะมีความยาวเพิ่มขึ้น ทำนองเดียวกับกาบใบปล้องเหนือสุด จะเจริญเป็นก้านของช่อดอกซึ่งมีความยาวมาก บางพันธุ์ช่อดอกรวมทั้งก้าน อาจมีความยาวมากกว่าสองเมตร

 

อ้อยอายุประมาณ 8 เดือน
อ้อยอายุประมาณ 8 เดือน จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

ดอกอ้อยเกิดเป็นช่อที่ยอดของลำต้น ในกอหนึ่งๆ อ้อยจะมีดอกเฉพาะลำต้นที่แก่พอเท่านั้น ช่อดอกอ้อยมีลักษณะคล้ายช่อดอกของแขมหรือพง ประกอบด้วยแกนกลาง ช่อดอก ก้านแขนง และก้านดอกก่อนจะถึงตัวดอก ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ดอกเกิดเป็นคู่ ดอกหนึ่งมีก้าน อีกดอกหนึ่งไม่มีก้าน ดอกอ้อยเป็นดอกที่สมบูรณ์ คือ มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย อยู่ในดอกเดียวกัน เมื่อมีการผสมเกสร ก็จะเกิดเมล็ดที่สามารถเพาะให้งอกเป็นอ้อยต้นใหม่ได้ 

การออกดอกทำให้ยอดของลำต้นนั้นหยุดการเจริญเติบโต เป็นเหตุให้ตาที่อยู่ส่วนยอด เจริญเป็นแขนง ตามปกติตาที่ข้อ ซึ่งอยู่ถัดจากยอดลงมา 3-4 ตาจะไม่เจริญ ตาที่อยู่ถัดลงมาอีกจำนวนประมาณ 3-4 ตา จะแตกเป็นแขนงอย่างรวดเร็ว หลังจากดอกโรย แขนงเหล่านี้ถ้าปล่อยให้เจริญเติบโตต่อไป อาจเจริญเป็นลำต้นขนาดเล็กซึ่งตัดเข้าหีบได้ การออกดอก ทำให้น้ำหนัก และน้ำตาล ในลำต้นลดลง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags

Content

1
ลักษณะทั่วๆ ไป และลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะที่จะกล่าวต่อไปนี้ ส่วนใหญ่เป็นลักษณะของอ้อยปลูกดั้งเดิม ซึ่งมีถิ่นกำเนิดแถบหมู่เกาะนิวกินี และอ้อยลูกผสม (hybrid cane) ที่ได้จากการผสมระหว่างอ้อยชนิดต่างๆ ตามที่กล่าวข้างต้น ราก อ้อยมีระบบรากฝอย (fibrous r
792 Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow