Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การดำเนินงานของหอศิลป์

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
1,040 Views

  Favorite

การดำเนินงานของหอศิลป์

การดำเนินงานของหอศิลป์ซึ่งมีภารกิจหน้าที่ในการรวบรวมศิลปวัตถุ จำแนกประเภทงานศิลปกรรม จัดทำทะเบียนหลักฐาน ดำเนินการศึกษา ค้นคว้าวิจัย จัดนิทรรศการให้ความรู้ ให้การศึกษา จัดกิจกรรม และจัดทำส่วนประกอบ ให้เป็นประโยชน์ ต่อสาธารณชน โดยใช้งบประมาณจากภาครัฐ องค์กร และหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน จึงต้องมีการแบ่งส่วนงานในการบริหารจัดการ ให้มีระบบและมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไป ทีมคณะบริหารจะประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการ (Board of Trustees) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลนโยบายและทิศทางในการดำเนินงานของหอศิลป์ ลำดับต่อมาเป็นคณะบริหาร ประกอบด้วย ผู้อำนวยการ ภัณฑารักษ์ คณะทำงาน และคณะกรรมการที่ปรึกษาหอศิลป์ ที่จะบริหารงานในด้านต่างๆ ของหอศิลป์ให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป

บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานหอศิลป์

ผู้อำนวยการหอศิลป์ (Director) เป็นบุคคลที่มีความรอบรู้ในงานทัศนศิลป์ งานพิพิธภัณฑ์และการบริหารจัดการกิจกรรมหอศิลป์ รวมทั้ง เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ มีความคิดริเริ่ม และมีมนุษยสัมพันธ์ ในการประสานงานกับศิลปิน นักวิชาการ ตลอดจนประชาชน ในทุกระดับ

การจัดแสดงนิทรรศการผลงานด้านจิตรกรรมและประติมากรรมของหอศิลป์
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 37

 

ภัณฑารักษ์ (Curator) เป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถในงานทัศนศิลป์ทุกสาขา เข้าใจระบบงานพิพิธภัณฑ์ และศิลปะสมัยใหม่ เป็นผู้วางแผนกำหนดโครงสร้าง แนวเรื่อง การจัดกิจกรรม นิทรรศการ และการประสานงานกับศิลปิน นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนในทุกระดับ

นักวิชาการช่างศิลป์ด้านการออกแบบ (Designer) เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางศิลปะ การออกแบบ และการบริหารจัดการงานศิลปะกับพื้นที่ของหอศิลป์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การบรรยายศิลปะแก่เยาวชนผู้สนใจ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 37

 

นักวิชาการวัฒนธรรมด้านการศึกษา (Curator of Education) เป็นบุคคลที่มีความรู้ด้านทัศนศิลป์ ประวัติศาสตร์ ศิลปะร่วมสมัย มีการบริหารจัดการกิจกรรมด้านการศึกษา และงานวิชาการศิลปะ เพื่อการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และความซาบซึ้งในงานศิลปะ นอกจากนี้ยังเป็นผู้กำหนดแนวเรื่องในการบรรยาย เสวนา ปาฐกถา และการประชุมเชิงปฏิบัติการ รวมทั้งเป็นผู้ศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม

นายช่างศิลปกรรมและเทคนิคต่างๆ (Technician) เป็นบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจ ในงานช่าง เช่น ช่างไม้ ช่างศิลป์ ช่างไฟฟ้า ซึ่งต้องทำงานสัมพันธ์กับภัณฑารักษ์ นักวิชาการ และศิลปิน ในการบริหารจัดการกิจกรรม นิทรรศการ และงานด้านการศึกษา  

การจัดอบรมด้านศิลปะ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 37

 

เจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ (Staff) กลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติงานในหอศิลป์ ดูแลงานต่างๆ ในด้าน นิทรรศการ งานข้อมูลศิลปะ งานวิชาการ และงานธุรการอื่นๆ ตามขอบเขต และโครงสร้างของหอศิลป์แต่ละประเภท

ศิลปิน (Artist) นักสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะทั้งประเภทงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ศิลปะสื่อประสม ศิลปะการแสดงสด หรืองานสร้างสรรค์อื่นๆ โดยทำงานประสานกับภัณฑารักษ์และนักวิชาการ ตามแนวเรื่องในการนำเสนอผลงาน

การจัดนิทรรศการ (Exhibition) 

แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑. การจัดนิทรรศการถาวร (Permanent Exhibition) 

คือ การจัดแสดงนิทรรศการแบบถาวรเป็นประจำ ทั้งนี้ ในการจัดแสดงถาวรที่ใช้ระยะเวลานานๆ ควรเลือกเนื้อหาที่มีความสำคัญ และมีคุณค่า ในปัจจุบัน การจัดแสดงแบบถาวรอาจแสดงภายในระยะเวลา ๖ เดือนไปจนถึง ๕ ปี จึงจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่ การจัดนิทรรศการถาวรนั้นจะมีระยะเวลาการแสดงยาวนาน  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่า ต่อการจัดเตรียมการดำเนินการและการลงทุน โดยมีการจัดกิจกรรมประกอบสื่อสารสนเทศสมัยใหม่ คอมพิวเตอร์ วีดิทัศน์ (video) และการบรรยาย หรือการเสวนาในนิทรรศการ

๒. การจัดนิทรรศการหมุนเวียน (Changing Exhibition หรือ Temporary Exhibition) 

คือ การจัดแสดงนิทรรศการในแต่ละโครงการเพียงชั่วคราว โดยกำหนดระยะเวลา สั้นกว่านิทรรศการถาวร อาจใช้เวลาประมาณ ๒ สัปดาห์ไปจนถึง ๖ เดือน จากนั้น จึงมีการปรับเปลี่ยนนิทรรศการต่อไป ซึ่งการหมุนเวียนปรับเปลี่ยนนิทรรศการ จะก่อให้เกิดความน่าสนใจต่อผู้ชม ในการจัดกิจกรรมประกอบอาจมีสื่อสารสนเทศ วีดิทัศน์ การบรรยาย หรือการเสวนา ในนิทรรศการได้

การจัดอบรมด้านศิลปะ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 37

 

๓. การจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ (Travelling Exhibition หรือ Mobile Exhibition) 

คือ การขยายการให้บริการแก่ชุมชน โดยการจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ ซึ่งทำได้ใน ๒ ลักษณะ คือ การนำข้อมูลและสิ่งของ หลังจากจัดกิจกรรมที่หอศิลป์ในส่วนกลางแล้ว ไปจัดนิทรรศการในส่วนภูมิภาคหรือหอศิลป์อื่นๆ ต่อไป บางครั้งอาจทำเป็นรูปแบบการแสดงในยานพาหนะหรือพื้นที่จำเพาะที่เคลื่อนที่ได้ โดยการใช้สื่อสารสนเทศสมัยใหม่ คอมพิวเตอร์ วีดิทัศน์ และการบรรยายประกอบนิทรรศการในการให้ความรู้แก่สาธารณชนผู้สนใจ

หนังสือ สูจิบัตร และเอกสารสิ่งพิมพ์ที่จัดทำโดยหอศิลป์
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 37

 

กิจกรรมทางด้านการศึกษาของหอศิลป์

นักวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์และนักวิชาการด้านศิลปะได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทางด้านการศึกษาในหอศิลป์ไว้ ดังนี้

-    การจัดการบรรยาย การอภิปราย และปาฐกถาทางวิชาการ
-    การจัดการประชุมและสัมมนาทางวิชาการ โดยมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับนิทรรศการและกิจกรรมที่ดำเนินการ
-     การจัดการบรรยายโดยศิลปิน
-    การบริการนำชมผลงานศิลปะโดยบุคคลหรือการใช้สื่อสารสนเทศสมัยใหม่ทางเสียง
-    การสาธิตการสร้างสรรค์การทำงานศิลปะให้แก่ผู้สนใจ
-    การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการประเภทต่างๆ ให้สัมพันธ์กับผู้รับ คือ เด็ก เยาวชน ครูอาจารย์ และประชาชนทั่วไป
-    การจัดชั้นเรียนในหอศิลป์ เพื่อกำหนดการเรียนการสอนเฉพาะเรื่อง
-    การจัดฉายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตามเนื้อหาและโครงเรื่องที่นักวิชาการกำหนด
-    หากการจัดกิจกรรมก้าวหน้าและมีศักยภาพ ก็ควรจัดทำเป็นรายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ เพื่อกระจายภาพและเสียง ให้กว้างขวางครอบคลุมเครือข่ายสู่สังคมและประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างเท่าเทียมกัน
-    การศึกษาค้นคว้า เป็นการส่งเสริมทั้งงานสร้างสรรค์และการวิจัยศิลปะให้แก่ครู อาจารย์ นักวิชาการ และศิลปิน  

ห้องสมุดและศูนย์ข้อมูลของหอศิลป์

ห้องสมุดของหอศิลป์จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าข้อมูล ที่มีทั้งการให้ความรู้และความเพลิดเพลิน มีการให้บริการ ด้วยหนังสือ สิ่งพิมพ์ สื่อสารสนเทศสมัยใหม่ ภาพเคลื่อนไหว (animation) วีดิทัศน์ ไมโครฟิล์ม อีเมล (e-mail) เว็บไซต์ (web site) และระบบคอมพิวเตอร์สัมผัส

 

ร้านจำหน่ายหนังสือและของที่ระลึกที่เกี่ยวกับงานศิลปะ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 37

 

ศูนย์ข้อมูลมีระดับความรู้ตั้งแต่ขั้นเบื้องต้นไปจนถึงข้อมูลเชิงลึกเพื่อการค้นคว้าวิจัยระดับสูง ในส่วนของการให้บริการ ควรนำเสนอข้อมูลที่เกิดความเพลิดเพลิน จูงใจไปสู่การอยากเรียนรู้และการเป็นสมาชิกถาวรของหอศิลป์ในที่สุด

ดังนั้น หอศิลป์จึงเป็นสถานที่ของครอบครัว ห้องสมุดของหอศิลป์จะรองรับบุคคลต่างๆ ทั้งพ่อ แม่ และลูกๆ ให้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

หนังสือ สูจิบัตร เอกสารสิ่งพิมพ์และสื่อสมัยใหม่

- หนังสือ สูจิบัตร และสิ่งพิมพ์เชิงวิชาการ เป็นข้อมูลความรู้ที่มีเนื้อหาและภาพประกอบที่มีความสำคัญ ควรจัดพิมพ์ และดำเนินการ อย่างมีคุณภาพ เพื่อให้เป็นความรู้ หรือการบันทึกด้านวิวัฒนาการและประวัติศาสตร์
- สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีระบบและหมวดหมู่ มีการออกหนังสือ เอกสาร วารสาร และสูจิบัตรของหอศิลป์อย่างต่อเนื่อง
- สิ่งพิมพ์ประเภทแผ่นพับ สื่อการนำชม และเอกสารเฉพาะเรื่อง ควรเป็นข้อมูลเพื่อการ เผยแพร่ อาจมีทั้งการจำหน่ายและการแจก
- สื่อคอมพิวเตอร์ ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ และวิวัฒนาการของระบบสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ ช่วยให้การเผยแพร่ระบบออนไลน์ (online system) มีความก้าวหน้า และรวดเร็วในการถ่ายทอดข้อมูล เชื่อมโยงความรู้ข้ามพรมแดนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- สื่อประเภทวิทยุ โทรทัศน์ ระบบดิจิทัลออนไลน์ อีเมล เว็บไซต์ และการบริการดาวเทียมในงานศิลปวัฒนธรรม เป็นสื่อที่มีศักยภาพ และเข้าถึงกลุ่มเด็ก เยาวชน และประชาชนในด้านการศึกษาของโลกปัจจุบัน

กิจกรรมประกอบอื่นๆ

-  การให้ความรู้และความเข้าใจประกอบกิจกรรมที่ให้ความสุข ความเพลิดเพลิน ด้วยการจัดการแสดงดนตรี นาฏศิลป์ ละคร และฉายภาพยนตร์
-  การจัดกิจกรรมกลางแจ้ง ด้วยการสร้างบรรยากาศที่ร่มรื่น และการจัดร้านจำหน่ายอาหาร หรือมีมุมกาแฟ รองรับครอบครัวพ่อ แม่ ลูก เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างหอศิลป์กับชุมชน
-  ร้านจำหน่ายหนังสือและของที่ระลึก เพื่อการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ และขยายกลุ่มคนในสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วม และเป็นสมาชิกของศูนย์เรียนรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรม

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow