Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
656 Views

  Favorite

หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ

จัดตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยใช้วังท่าพระเป็นอาคารของหอศิลป์ อาคารนี้ก่อสร้างขึ้น ในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ มูลเหตุที่ชื่อว่า วังท่าพระ เนื่องจากใน พ.ศ. ๒๓๕๑ รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ล่องแพมายังกรุงเทพฯ แต่ไม่สามารถชักพระขึ้นจากแพเข้าประตูท่าช้างได้ จำเป็นต้องรื้อกำแพงประตูออก จึงเรียกว่า "ประตูท่าพระ" ส่วนวังที่อยู่ใกล้ประตูท่าพระได้ชื่อว่า "วังท่าพระ"

 

หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เขตพระนคร  กรุงเทพฯ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 37

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดหอศิลป์นี้ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ หอศิลป์ได้รับการจัดตั้งเป็นส่วนราชการ มีฐานะเทียบเท่าคณะวิชา เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ และการจัดนิทรรศการ ผลงานศิลปกรรม และงานออกแบบ ของศิลปิน คณาจารย์ นักศึกษา และเป็นศูนย์กลางศิลปะร่วมสมัยของประเทศ ด้านศิลปะสมัยใหม่ รวมทั้งเป็นศูนย์รวมข้อมูลศิลปกรรม การศึกษาค้นคว้าวิจัย การทำหนังสือ ตำรา และสื่อสมัยใหม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจสู่สังคม ในระดับชาติ และนานาชาติ

ลักษณะหอศิลป์  

อาคารโบราณ วังท่าพระ ประกอบด้วย อาคารท้องพระโรงชั้นเดียว มีขนาด ๑๑.๒๐ x ๑๘.๙๐ x ๑๑.๐๐ เมตร (กว้าง x ยาว x สูง) ตำหนักกลาง สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ มี ๒ ชั้น ขนาด ๑๗.๘๕ x ๒๕.๕๕ x ๑๓.๑๐ เมตร และตำหนักพรรณราย สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ มี ๒ ชั้น ขนาด ๑๔.๒๓ x ๒๓.๙๐ x ๑๐.๗๖ เมตร

ผลงานศิลปะจัดแสดงภายในหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 37

 

ที่ตั้ง

มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ถนนหน้าพระลาน เขตพระนคร กรุงเทพฯ

การบริหารงาน  

โดยผู้อำนวยการ และมีคณะกรรมการประจำหอศิลป์เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนวนโยบายการบริหาร มีข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่หอศิลป์เป็นคณะทำงาน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow