การสร้างรูปเคารพของพระพุทธเจ้าปรากฏทั้งในงานประติมากรรม และงานจิตรกรรม ในระยะแรก งานประติมากรรม ส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมนูนต่ำและนูนสูง ต่อมาจึงสร้างเป็นงานประติมากรรมลอยตัว ส่วนงานจิตรกรรมที่เขียนบนผนังถ้ำ ผนัง วิหาร และบนผ้าที่เรียกว่า “พระบฏ” ในระยะแรก เป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนสำคัญๆ ประดับศาสนสถาน เพื่อที่ว่า เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จะได้ทราบประวัติของพระพุทธเจ้าไปพร้อมๆ กัน ในการแสดงพุทธประวัติมักมีเรื่องราวและภาพบุคคลประกอบ แต่ถ้ามีพระพุทธรูปตามลำพังเพียงองค์เดียว ก็จะแสดงด้วยท่าทางซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่า เป็นพุทธประวัติตอนใด อันเป็นที่มาของการแสดงปางต่างๆ เช่น ปางตรัสรู้แสดงด้วยปางมารวิชัย นอกจากนี้ยังมีการแสดงท่าทางด้วยพระหัตถ์ ที่เรียกว่า “มุทรา” เพื่อบอกเล่าพุทธประวัติด้วย เช่น “วิตรรกมุทรา” เป็นปางทรงแสดงธรรม โดยการจีบพระอังคุฏ (นิ้วโป้ง) กับดัชนี (นิ้วชี้) เป็นรูปวงกลม ซึ่งหมายถึง ธรรมจักร
วัสดุที่ใช้ในการสร้างพระพุทธรูปในระยะแรกของอินเดีย เช่น ในสมัยคันธารราฐ ได้แก่ ศิลา โดยนำมาสลักเป็นภาพเล่าเรื่อง ทั้งงานประติมากรรมนูนสูง นูนต่ำ และลอยตัว ในระยะต่อมา จึงมีการสร้างพระพุทธรูปโดยการหล่อด้วยสำริด โดยเฉพาะในอินเดีย ภาคใต้ เช่น ในสมัยอมราวดี
๑. งานประติมากรรม
หลักฐานการสร้างพระพุทธรูปในประเทศไทยในระยะแรกเริ่ม ตั้งแต่สมัยก่อนทวารวดี และในสมัยทวารวดี พบว่า มีการใช้วัสดุหลายอย่าง ได้แก่ ดินเผา ปูนปั้น ศิลา ทองสำริด จนกระทั่งถึงสมัยสุโขทัย ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์ จึงมีวัสดุชนิดอื่นเพิ่มขึ้นมา ได้แก่ ทองคำ นาก ไม้ หินสีต่างๆ หรือสลักจากศิลาแลงเป็นโกลน (การขึ้นรูปเป็นเค้าโครงอย่างคร่าวๆ) แล้วปั้นปูนทับ รวมทั้งการก่ออิฐถือปูน หากเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ โดยทั่วไปแล้ว ไม่ว่าพระพุทธรูปจะสร้างด้วยวัสดุประเภทใดก็ตาม มักมีการลงรักปิดทองด้วย ดังนั้น พระพุทธรูปส่วนมากจึงมีสีทองทั้งองค์
- ดินเผา ใช้ดินเหนียวปั้นเป็นพระพุทธรูป แล้วนำมาเผาไฟ เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่ง ถ้ามีขนาดใหญ่ ก็จะทำเป็นหลายชิ้นแยกเผา และนำมาประกอบเข้าด้วยกันในภายหลัง เสร็จแล้วอาจปั้นปูนทับ หรืออาจลงรัก และปิดทองทับอีกครั้งหนึ่ง งานประติมากรรมดินเผานี้ ส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมนูนสูงประดับศาสนสถาน โดยแสดงเป็นพระพุทธรูป และภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ
- ศิลา ศิลาที่นิยมนำมาใช้ในการทำ พระพุทธรูป ได้แก่ หินทราย เพราะมีเนื้อละเอียด และสลักได้ง่าย รองลงมา ได้แก่ หินชั้นชนิดอื่นๆ หินชนวน และหินแกรนิต ในระยะหลังๆ ยังมีพวกหินสีต่างๆ ตระกูลควอตซ์ เช่น หินสีเขียวที่นำมาสร้างเป็นพระแก้วมรกต รวมทั้งหยกและหินอ่อน เทคนิคการสร้างพระพุทธรูปศิลานำมาใช้ทั้งในงานประติมากรรมนูนสูงและประติมากรรมลอยตัว ในศิลปะทวารวดี และศิลปะขอม ที่พบในประเทศไทย ตั้งแต่หลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงมา ในสมัยสุโขทัย ล้านนา และอยุธยา นิยมหล่อด้วยทองสำริดเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีการสลักศิลาปนอยู่บ้างในศิลปะอยุธยา และสกุลช่างพะเยาในล้านนา
- ทองสำริด เป็นวัสดุที่นิยมนำมา สร้างพระพุทธรูปเป็นอย่างมาก มีส่วนผสมของโลหะที่สำคัญ ๒ อย่าง คือ ทองแดงกับดีบุก ใช้เทคนิคการสร้างด้วยการหล่อที่เรียกว่า การใช้ความร้อนไล่ขี้ผึ้งออก หรือที่เรียกว่า “สูญขี้ผึ้ง” (lost wax) มีกรรมวิธีโดยย่อ คือ เริ่มด้วยการปั้นรูปเป็นเค้าโครง ด้วยดินเหนียวก่อน แล้วจึงปั้นหุ้มด้วยขี้ผึ้ง ตกแต่งรายละเอียดทุกส่วนของพระพุทธรูป เสร็จแล้วใช้ดินเหนียวผสมกับแกลบ และมูลโคกระบือหุ้มอีกชั้นหนึ่ง แล้วจึงนำไปหล่อ โดยวางพิมพ์ให้เศียรของพระพุทธรูปคว่ำลง แล้วจึงเทโลหะหลอมละลายใส่ลงในพิมพ์ โลหะจะไปแทนที่ขี้ผึ้งซึ่งละลาย เมื่อโลหะแข็งตัวแล้ว จึงทุบดินที่พอกหุ้มไว้ออก เมื่อนำไปตกแต่งเนื้อทองสำริดให้เรียบร้อย ก็ จะได้พระพุทธรูปทองสำริดตามที่ต้องการ เทคนิคการหล่อแบบนี้เป็นที่นิยมในการสร้าง พระพุทธรูปอย่างมากตั้งแต่สมัยโบราณมาจน ถึงปัจจุบัน
- ปูนปั้น เป็นเทคนิคการสร้างพระพุทธรูปที่ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนทวารวดี และพบมากในสมัยทวารวดีเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน ปูนที่นำมาใช้ในการปั้นเป็น ปูนแบบโบราณที่เรียกว่า ปูนตำปูนหมัก โดยนำปูนจากธรรมชาติมาหมัก และตำเข้ากับส่วนผสมอย่างอื่นที่ทำให้เกิดความเหนียว และคงทนถาวร เช่น น้ำอ้อย งานปูนปั้นเป็น การสร้างขึ้นเพื่อประดับศาสนสถาน นิยมสร้างเป็นภาพเล่าเรื่อง และลวดลายประดับ
- งานก่ออิฐถือปูน มักพบในการก่อสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ โดยการก่ออิฐถือปูนเป็นโครงด้านใน และปั้นปูนตกแต่งรายละเอียดด้านนอก จากนั้นจึงลงรัก โดยใช้ยางรักซึ่งเป็นยางไม้ผสมกับใบตองเผาไฟ เรียกว่า รักสมุก และขัดผิวให้เรียบ แล้วจึงปิดทองคำเปลวทับ ก็จะได้ผิวพระพุทธรูป ที่ดูใกล้เคียงกับเนื้อสำริด นอกเหนือจากการก่ออิฐ บางครั้งก็ใช้ศิลาแลงก่อ หรือทำเป็นโกลนก็มี ส่วนด้านนอกปั้นปูนทับด้วยกรรมวิธีอย่างเดียวกัน
- ไม้ นำมาสร้างพระพุทธรูปโดยการแกะสลัก แล้วจึงลงรักปิดทอง ข้อดีของวัสดุที่เป็นไม้คือ สามารถสร้างได้ง่าย และแสดงรายละเอียดของงานช่างได้ดี แต่มีข้อเสียคือ ไม่ค่อยมั่นคงถาวร และผุพังง่าย ดังนั้น จึง ไม่พบหลักฐานแกะสลักไม้เหลืออยู่มากนัก มักปรากฏหลักฐานในงานศิลปกรรมรุ่นหลังเท่านั้น เช่น ในสมัยอยุธยา รัตนโกสินทร์ และงานช่างพื้นเมืองในล้านนา และในภาคอีสาน
๒. งานจิตรกรรม
เป็นการเขียนภาพพระพุทธรูปลงบนฝาผนังพระอุโบสถ พระวิหาร ฯลฯ ส่วนใหญ่ เป็นการเขียนลงบนผนังปูน แต่จากหลักฐานบางแห่ง ปรากฏว่า มีการเขียนลงบนผนังที่เป็นไม้ หรือเขียนลงบนผ้า แล้วนำไปประดับที่ผนังพระวิหารก็มี แต่เหลือหลักฐานอยู่น้อย มาก นอกจากนี้ มีงานจิตรกรรมประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า “พระบฏ” คือ การเขียนภาพพระพุทธเจ้าลงบนผ้า แล้วนำไปแขวนเพื่อบูชา ปรากฏหลักฐานเก่าแก่ที่สุดในศิลปะล้านนาที่เหลืออยู่ และยังปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น งานจิตรกรรมส่วนใหญ่เป็นภาพเล่าเรื่องทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ พุทธประวัติ ชาดก ซึ่งสามารถแสดงเรื่องราวได้มากกว่างานประติมากรรม
การแกะสลักพระพุทธรูปเป็นลายเส้นลงบนแผ่นหินที่ถือได้ว่า เป็นงานชิ้นสำคัญยิ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ คือ การแกะสลักพระพุทธรูปที่หน้าผาของเขาชีจรรย์ ในอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ ในการแกะสลักได้ใช้วิทยาการ สมัยใหม่คือการใช้แสงเลเซอร์ ยิงไปสกัดหินบนหน้าผา ให้เป็นรอยลึกลงไป แล้วปิดแผ่นกระเบื้องโมเสกสีทองลงไปในรอย เพื่อให้ลวดลายเห็นเด่นชัดยิ่งขึ้น ปรากฏเป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยที่มีขนาดใหญ่มหึมาบนหน้าผาของเขาลูกนั้น ถือได้ว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีความสูงขององค์พระพุทธรูป ๑๐๙ เมตร แต่ถ้ารวมฐานบัวด้วย จะมีความสูง ๑๕๐ เมตร ได้รับพระราชทานนามว่า พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา