ที่มาของเพลงลูกทุ่ง
เพลงลูกทุ่ง หมายถึง เพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคม อุดมคติและวัฒนธรรมไทย มีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง ลีลาการร้อง การบรรเลง ที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งให้บรรยากาศของความเป็นลูกทุ่ง โดยเฉพาะการร้องเอื้อนที่ใช้ลูกคอ
เพลงลูกทุ่งเป็นเพลงไทยที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ มีการใช้ภาษาง่ายๆ บรรยายเรื่องราวของชีวิต สภาพสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเน้นชีวิตของชาวชนบท โดยก่อนหน้านั้นยังไม่มีการแบ่งแยกว่า เป็นลูกทุ่งหรือลูกกรุง เนื่องจาก เพลงไทยได้พัฒนามาจากเพลงไทยเดิมที่ใช้คำร้องที่มีลักษณะการเอื้อน และใช้เครื่องดนตรีไทยบรรเลง มาเป็นเพลงไทยสากล ที่มีเนื้อร้องเต็ม ใช้เครื่องดนตรีสากลบรรเลง ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากฟังง่าย ร้องง่าย จำได้ง่าย และมักเรียกลักษณะจากแนวการร้องของนักร้องแต่ละคนมากกว่า เช่น แนวรำวง แนวเพลงเพื่อชีวิต นอกจากนี้ นักประพันธ์เพลงรุ่นเก่าๆ ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแบ่งแยกประเภทของเพลงไทยสากลว่า เป็นเพลงลูกทุ่ง และลูกกรุง เพราะถือว่า ดนตรีเป็นภาษาสากลและต่างเป็นเพลงไทยสากลเช่นเดียวกัน
คำว่า "ลูกทุ่ง" ปรากฏครั้งแรกเป็นชื่อของภาพยนตร์เพลง สร้างโดยบริษัทภาพยนตร์ไทย หรือไทยฟิล์ม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นผู้กำกับ ผู้แต่งทำนองเพลงคือ หม่อมหลวง พวงร้อย อภัยวงศ์ ผู้แต่งเนื้อร้องคือ พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น) เพลงในภาพยนตร์ ได้แก่ เงาไม้ ต้อนกระบือ เกี้ยวสาว สายัณห์ และไม้งาม เนื้อร้องส่วนใหญ่เน้นการชมธรรมชาติอันสวยงามของท้องไร่ปลายนา
เพลงที่มีแนวเป็นเพลงลูกทุ่ง และบันทึกไว้เป็นหลักฐานคือ เพลง สาวชาวไร่ ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ของ ครูเหม เวชกร ใช้ร้องประกอบการแสดงละครวิทยุเรื่อง สาวชาวไร่ ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ จากหลักฐานที่ค้นพบมีเค้าที่น่าเชื่อว่า เพลงสาวชาวไร่ เป็นเพลงลูกทุ่งเพลงแรกของเมืองไทย
การตีความเรื่องกำเนิดของเพลงลูกทุ่งยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง กาญจนาคพันธ์ เขียนไว้ในหนังสือ เรื่องของละครและเพลง ว่า "หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว มหรสพต่างๆ ก็เริ่มฟื้นตัวขึ้น…เกิดเพลงแบบใหม่เรียกกันว่า เพลงลูกทุ่ง ตั้งเป็นวงดนตรีแบบสากล" ส่วน พยงค์ มุกดา เห็นว่า เรื่อง แผลเก่า ของไม้เมืองเดิม มีเพลงขวัญของเรียม ซึ่งพรานบูรพ์แต่งขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๒ น่าจะถือเป็นแม่บทของเพลงลูกทุ่งได้ เพราะมีลูกเอื้อน ลูกขัด และสาระเนื้อหาแบบเพลงลูกทุ่ง
ราว พ.ศ. ๒๔๙๘ ป.วรานนท์ นักจัดรายการวิทยุ ได้เรียกนักร้องประเภทเพลงชีวิต เช่น คำรณ สัมบุณณานนท์ สมยศ ทัศนพันธ์ พยงค์ มุกดา สุรพล สมบัติเจริญ ว่าเป็น "นักร้องตลาด" เป็นเพลงตลาด เนื่องจากเข้าถึงผู้ฟังที่เป็นชาวบ้านทั่วไปได้ง่าย เนื้อหาเพลงมีความชัดเจน ส่วนอีกแนวหนึ่ง เรียกว่า "เพลงผู้ดี" ซึ่งหมายถึง เพลงที่มีการแต่งอย่างไพเราะเพราะพริ้ง นักร้องแนวนี้ เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง สวลี ผกาพันธุ์ เพลงไทยสากลจึงถูกแบ่งประเภทออกเป็น เพลงลูกทุ่ง และเพลงลูกกรุง แต่จะใช้หลักเกณฑ์ใดในการตัดสินนั้น มีผู้ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมเมือง และชนบท เพลงลูกกรุงจึงได้รับความนิยมในหมู่ผู้มีการศึกษาของสังคมเมือง ส่วนเพลงลูกทุ่งมุ่งรับใช้ชาวชนบทเป็นส่วนมาก
คำว่า "เพลงลูกทุ่ง" เกิดขึ้นโดย นายจำนง รังสิกุล เป็นผู้ริเริ่ม ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง เป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ ของสถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม โดยตั้งชื่อรายการว่า "เพลงลูกทุ่ง" มีนายประกอบ ไชยพิพัฒน์ เป็นผู้จัด ออกอากาศ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ เดือนละ ๒ ครั้ง ทุกวันจันทร์เว้นจันทร์ จนได้รับความนิยมและแทรกซึมไปตามวงดนตรีต่างๆ เริ่มเรียกวงของตนเองว่า วงดนตรีลูกทุ่ง และนักร้องนิยมเรียกตัวเองว่า นักร้องเพลงลูกทุ่ง
ในช่วงเวลาต่อมามีภาพยนตร์ต่างประเทศชื่อ Your Cheating Heart ซึ่งเป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของ แฮงก์ วิลเลียมส์ (Hank Williams) นักร้องแนวชนบทชาวอเมริกัน และมีผู้ตั้งชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า เพลงลูกทุ่ง ซึ่งทำให้คำว่า เพลงลูกทุ่งติดหูคนฟัง และมีความรู้สึกว่า หมายถึง เพลงที่ร้องง่ายๆ ฟังสบายๆ เนื้อหาท่วงทำนองชวนให้นึกถึงบรรยากาศทุ่งนาป่าเขา ตั้งแต่นั้นมา คำว่า "เพลงลูกทุ่ง" จึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายกันทั่วไป |
|
อาจสรุปพัฒนาการของเพลงลูกทุ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยใช้เกณฑ์การจัดแบ่งยุคต่างๆ เหล่านี้ จากเนื้อหาของเพลง และรูปแบบที่โดดเด่น ของเพลงลูกทุ่งในแต่ละช่วงเวลา ดังต่อไปนี้ ![]()
ยุคทองของเพลงลูกทุ่ง (พ.ศ. ๒๕๐๗ - ๒๕๑๓)
![]()
สุรพล สมบัติเจริญ ได้รับสมญาว่า เป็นราชาเพลงลูกทุ่ง เนื่องจาก มีความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ในด้านการแต่งคำร้องทำนองที่แปลกไม่เหมือนใคร เนื้อหาของเพลงมีทั้งที่เป็นความรัก การเกี้ยวพาราสี ความประทับใจ และสนุกสนาน ผลงานที่สร้างชื่อเสียงมีมากมาย อาทิ ชูชกสองกุมาร เพลงแรกๆ ที่โด่งดังใน พ.ศ. ๒๔๙๖ เช่น น้ำตาจ่าโท เดือนหงายริมโขง เสียวไส้ ของปลอม สิบหกปีแห่งความหลัง ฯลฯ จนกระทั่งสุรพล สมบัติเจริญ ถูกลอบยิงเสียชีวิตขณะเปิดการแสดง เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ ภายหลังการเสียชีวิตของสุรพล สมบัติเจริญ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากสมัยที่สุรพลยังมีชีวิตอยู่นั้น ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงอย่างท่วมท้น นักร้อง และวงดนตรีใหม่ๆ จึงไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของผู้ฟัง จนกระทั่งสุรพลเสียชีวิต จึงเปิดโอกาสให้นักร้องใหม่ และวงดนตรีใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย และมีโอกาสเสนอผลงานของตนสู่สาธารณชน ![]()
ในเวลาที่คาบเกี่ยวกันนี้มีปรากฏการณ์สำคัญเกิดขึ้นในวงการลูกทุ่ง นั่นคือ วงลูกทุ่ง ของมหาวิทยาลัย ซึ่งโด่งดังในช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๙ - ๒๕๑๖ เริ่มแรก คือ นิสิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีวงโฟล์กซอง ที่ใช้กีตาร์โปร่งอยู่ก่อนแล้ว เปลี่ยนมาใช้กีตาร์ไฟฟ้าแบบวงสตริง ได้นำเพลงลูกทุ่งมาร้อง เรียกว่า "วงลูกทุ่งถาปัด" รับแสดงงานการกุศลทางสถานีโทรทัศน์และตามโรงเรียน ต่อมาไม่นานก็มี "วงลูกทุ่งดาวกระจุย" ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และวงลูกทุ่ง ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลาต่อมา วงลูกทุ่งของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ทำให้กลุ่มคนในเมือง ที่ฟังแต่เพลงลูกกรุง หันมาสนใจฟังเพลงลูกทุ่ง และวงลูกทุ่ง ก็เพิ่มกีตาร์ไฟฟ้าเข้าไปด้วย ![]() ยุคภาพยนตร์เพลง (พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๑๕) ![]()
ยุคเพลงเพื่อชีวิต (พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๑๙) ![]()
ยุคหางเครื่องและคอนเสิร์ต (พ.ศ. ๒๕๑๙ - ๒๕๒๘) ![]()
ยุคเพลงลูกทุ่งแนวสตริง (พ.ศ. ๒๕๒๘ - ๒๕๓๕) ![]()
หลังจาก พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้มีนักร้องจากต่างประเทศมาเปิดการแสดง เรียกว่า เป็นการแสดงคอนเสิร์ต ต่อมา นักร้องไทยจึงจัดการแสดงคอนเสิร์ตตามอย่าง โดยพุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้จัดการแสดงคอนเสิร์ต ที่เซ็นทรัลพลาซ่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ ขณะที่เพลง กระแซะเข้ามาซิ ได้รับความนิยมอย่างสูง และมีผู้ชมการแสดงล้นหลาม นับเป็นมิติใหม่ ของวงการเพลงลูกทุ่งไทย ทำให้วงการเพลงลูกทุ่งเปลี่ยนจากเพลงที่เรียบง่ายธรรมดา ฟังสบายๆ มาเป็นเพลงที่เร่าร้อน จังหวะสนุกสนาน และมีสีสัน สร้างความประทับใจ ให้แก่ผู้ฟังทั่วประเทศ ![]()
นักร้องลูกทุ่งที่ได้รับความนิยม เช่น สายัณห์ สัญญา ซึ่งนับว่าเป็นขวัญใจเพลงลูกทุ่ง นอกจากนี้ยังมีคนอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมเช่นกัน เช่น ยอดรัก สลักใจ สุรชัย สมบัติเจริญ ศรชัย เมฆวิเชียร ศรเพชร ศรสุพรรณ ส่วนนักร้องหญิง เช่น พุ่มพวง ดวงจันทร์ ซึ่งได้รับสมญาราชินีเพลงลูกทุ่ง อ้อยทิพย์ ปัญญาธรณ์ ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๓๖ - ปัจจุบัน) ![]()
การเสียชีวิตของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ทำให้วงการเพลงลูกทุ่ง ได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วย เนื่องจากพุ่มพวงเป็นความหวัง ที่จะฟื้นฟูความนิยมของเพลงลูกทุ่งที่ล้าสมัย ให้กลับมาแข่งขันกับเพลงแนวสตริง ที่ครองตลาดอยู่ จึงนับเป็นจุดเปลี่ยน ของวงการเพลงลูกทุ่ง ที่ส่งผลให้มีศิลปินนักร้องใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดการแข่งขัน เพื่อเป็นนักร้องยอดนิยม ทั้งแนวทางที่เลียนแบบนักร้องเก่าหรือหาแนวทางใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น ยุ้ย ญาติเยอะ สุนารี ราชสีมา ศิรินทรา นิยากร จินตหรา พูนลาภ และเกิดความนิยม ในการนำเพลงลูกทุ่งยอดนิยมในอดีต มาเรียบเรียงเสียงประสาน และขับร้องใหม่ หรือนำนักร้องเพลงสตริงมาร้องเพลงลูกทุ่ง เช่น ชุดอภิมหาลูกทุ่ง แม่ไม้เพลงไทย หัวแก้วหัวแหวน ของจักรพรรณ์ อาบครบุรี ซึ่งออกติดต่อกันถึง ๙ ชุด และเพลงลูกทุ่งที่กล่าวขวัญมากที่สุดคือชุด มนต์รักลูกทุ่ง ซึ่งมีการนำภาพยนตร์เพลงเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง มาสร้างใหม่เป็นละครโทรทัศน์ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงทำให้เพลงลูกทุ่งกลับมาได้รับความนิยมอย่างสูง ![]()
ในระยะ ๑๐ ปี ที่ผ่านมา เพลงลูกทุ่งยังคงได้รับความนิยมจากผู้ฟังอย่างต่อเนื่อง หลายเพลงเป็นเพลงยอดนิยมที่มีเนื้อหา ที่ประทับใจผู้ฟัง เช่น เพลง กระทงหลงทาง ของ ไชยา มิตรชัย เพลง จดหมายผิดซอง ของ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย เพลง ยาใจคนจน และเพลง รองเท้าหน้าห้อง ของ ไมค์ ภิรมย์พร เพลง ปริญญาใจ ของ ศิริพร อำไพพงษ์ เพลงขอใจกันหนาว ของ ต่าย อรทัย เพลงลูกทุ่งเหล่านี้ล้วนได้รับความนิยมทั่วประเทศ |