Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฉันทลักษณ์ไทย

Posted By Plookpedia | 20 เม.ย. 60
62,892 Views

  Favorite

 

หุ่น
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

กาพย์เกริ่น 

ร้อยกรองลองรู้จัก     ฉันทลักษณ์ของไทยเรา 
มีค่าอย่าดูเบา     คำร้อยกรองงามผ่องใส 
อักษรสุนทรสาร     บ่อเกิดงานอันอำไพ 
เฉิดฉันวรรณคดีไทย     กวีสร้างแต่ปางบรรพ์ 
มาเถิดเยาวชนไทย     เร่งสนใจงานประพันธ์ 
ฝึกฝนจนสร้างสรรค์     กาพย์กลอนได้ภูมิใจจริง 
ฐ.น.
ก่อนรู้จักฉันทลักษณ์ไทย 

ฉันทลักษณ์เป็นคำที่มีความหมายกว้าง หมายถึง ตำราว่าด้วย คำประพันธ์ ซึ่งครอบคลุมการแต่งคำประพันธ์ชนิดต่างๆ ก่อนที่จะทำความรู้จักกับฉันทลักษณ์ ขอเชิญอ่านบทร้อยกรองง่ายๆ สัก ๔ เรื่อง ต่อไปนี้

 

 

กาพย์ยานี
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

บทร้อยกรองข้างต้นเป็นคำบ่นของคนที่ไม่ชอบอากาศร้อน เขาไม่ทราบจะโทษใครดี ก็เลยโทษดวงอาทิตย์ว่า ไม่เห็นใจตน ผู้บ่นใช้น้ำเย็นและพัดช่วยให้คลายร้อนได้บ้าง แต่ก็ยังร้อนอยู่นั่นเอง ในที่สุดเมื่อหนีไม่พ้น ก็ต้องทนร้อนต่อไป การบ่นเป็นร้อยกรองเช่นนี้ ชวนให้ผู้ฟัง หรือผู้อ่านเห็นใจ พร้อมกันนั้น ก็เกิดอารมณ์ขันไปด้วย เมื่ออ่านวรรคสุดท้าย 

ถ้อยคำที่ใช้ในกาพย์ยานีบทนี้เป็นคำง่ายๆ สื่อความหมาย ชัดเจน เสียงสัมผัสคล้องจอง มีทั้งในวรรคเดียวกัน และต่างวรรคที่อยู่ถัดไป ทำให้เกิดจังหวะน่าฟัง

 

 

เล่นลม
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

เด็กๆ ที่เคยนั่งรถเล่น แล้วกางนิ้วให้ลมสัมผัสมือ คงจะมีความรู้สึกคล้ายๆ ที่กล่าวไว้ในบทร้อยกรองข้างต้น และถ้านั่งรถผ่านทุ่งนา ที่มีข้าวกล้าสีเขียวอ่อน ก็จะสังเกตเห็น "คลื่นเขียว" ขณะที่ ลมพัด เมื่อหยุดพักริมลำธาร ก็อาจมองเห็นดอกไม้เหมือนสาวน้อยส่องกระจก มีลมพัดโชยมา ทำให้ดอกไม้ไหว ธรรมชาติที่สวยงามชวนให้รื่นรมย์เช่นนี้ เมื่อบันทึกไว้เป็นบทร้อยกรอง ก็จะทำให้นึกเห็นภาพงามๆ ตามไปด้วย ดูไปแล้ว การแต่งวิชชุมมาลาฉันท์ ก็ไม่น่าจะยาก มีเพียงวรรคละ ๔ คำ เพียง ๘ วรรค ก็จบบท เด็กๆ เคยสังเกตธรรมชาติรอบตัวมาแล้ว อาจลองแต่งฉันท์ชนิดนี้ ดูบ้างก็ได้

 

 

สายรุ้ง
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

สายรุ้งหรือรุ้งกินน้ำ ใครๆ ก็คงเคยเห็นกันทั่วไป รุ้งมี ลักษณะเป็นแถบสี ๗ สี สวยงาม โค้งเป็นครึ่งวงกลม พาดขึ้นไปบนท้องฟ้า การมองเห็นสายรุ้ง ทำให้คนใจสบาย เกิดความหวัง ดังนั้นผู้แต่งจึงชวนให้ผู้อ่านคิดเปรียบเทียบสายรุ้งกับความสุข ที่จะได้รับ หลังจากที่ทุกข์มามากแล้ว 

น่าสังเกตว่าการมองดูปรากฏการณ์ธรรมชาติ แล้วเกิดความคิดเชิงเปรียบเทียบเช่นนี้ เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง ที่กวีหรือนักกลอน ชอบใช้ เพราะทำให้บทร้อยกรองมีสาระลึกซึ้งขึ้น ทั้งยังเป็นข้อคิด ที่ปลอบใจให้คลายทุกข์ได้บ้าง

 

บัวไม่ช้ำเมื่อน้ำท่วม
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ดอกบัวเกิดจากโคลนตมในสระน้ำ ก้านของดอกบัวยาว จึงสามารถชูดอกแย้มบานเหนือน้ำได้ ฉะนั้นแม้ฝนจะตก น้ำจะท่วม บัวก็ยังสดชื่นอยู่ได้ ในขณะที่ดอกไม้ชนิดอื่นเหี่ยวโหยโรยราไปหมด เพราะสวนล่ม เนื่องจากน้ำท่วมนาน ผู้แต่งคงจะได้สังเกตความแตกต่าง ระหว่างดอกบัวกับดอกไม้ชนิดอื่น จึงเกิดความคิดเชิงเปรียบเทียบ หรืออุปมาอุปไมยขึ้น เป็นการก้าวจากรูปธรรมคือ ดอกบัว ไปสู่นามธรรม คือ ความเป็นผู้มีปัญญา และความอดทน สามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างสงบ ไม่ต้องหมองเศร้า เพราะความทุกข์ แตกต่างจากผู้ที่ขาดปัญญา ซึ่งถูกความทุกข์ทำลายอย่างย่อยยับ

 

พระ
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ฉันทลักษณ์นั้นเป็นฉันใด 

บทร้อยกรองที่นำมาเสนอให้ดูเป็นตัวอย่างในส่วนเด็กเล็กนั้น แต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทต่างๆ ดังนี้

๑) "หน้าร้อน" แต่งเป็น กาพย์ยานี ๑๑ 
๒) "เล่นลม" แต่งเป็น วิชชุมาลาฉันนท์ 
๓) "สายรุ้ง" แต่งเป็น กลอนแปด 
๔) "บัวไม่ช้ำเมื่อน้ำท่วม" แต่งเป็น โคลงสี่สุภาพ

 

ตำราฉันทลักษณ์
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

คำประพันธ์ที่อยู่ในตำราฉันทลักษณ์ยังมีอีกมาก จำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๕ ประเภท คือ 

๑.กาพย์ 

แบ่งเป็น กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์ กาพย์ขับไม้ 

๒.กลอน 

แบ่งเป็น กลอนแปด และกลอนหก ซึ่งจัดเป็นกลอนสุภาพ นอกจากนั้นกลอนยังมีรูปแบบอื่นๆ ได้อีกหลายรูปแบบคือ นำไปแต่งเป็นดอกสร้อย สักวา เพลงยาว เสภา นิราศ กลอนบทละคร กลอนเพลงพื้นเมือง และกลอนกลบทต่างๆ

๓.โคลง 

แบ่งเป็น โคลงสอง โคลงสาม โคลงสี่ ซึ่งอาจแต่งเป็นโคลงสุภาพ หรือโคลงดั้นก็ได้ นอกจากเป็นโคลงธรรมดาแล้ว ยังแต่งเป็นโคลงกระทู้ และโคลงกลอักษรได้อีกหลายแบบ

๔.ฉันท์ 

แบ่งเป็นหลายชนิดเ ช่น วิชชุมมาลาฉันท์ มาณวกฉันท์ อินทรวิเชียรฉันท์ ภุชงค์ประยาตฉันท์ อีทิสังฉันท์ วสันตดิลกฉันท์ สาลินีฉันท์ ฯลฯ ล้วนแต่มีชื่อไพเราะๆ ทั้งนั้น 

๕.ร่าย 

แบ่งเป็นร่ายสั้น และร่ายยาว ร่ายสั้นนั้น มีทั้งร่ายสุภาพ และร่ายดั้น 

นอกจากคำประพันธ์ประเภทใหญ่ๆ ที่กล่าวข้างต้น ยังมีประเภทย่อยที่ประสมคำประพันธ์ต่างชนิดเข้าด้วยกันอีกหลายแบบ เช่น

กาพย์ห่อโคลง 

แต่งกาพย์ยานี ๑ บท สลับกับโคลงสี่สุภาพ ๑ บท

กาพย์ห่อโคลงเห่เรือ 

แต่งโคลงสี่สุภาพนำ ๑ บท แล้วแต่งกาพย์ยานีตามอีกหลายบท จนจบความ ดังตัวอย่าง

 

โคลง
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

กาพย์
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ลิลิต 

มักแต่งเป็นเรื่องยาว มีร่ายสุภาพสลับกับโคลงสอง โคลงสาม โคลงสี่ 

ตัวอย่างลิลิตที่มีชื่อเสียง เช่น ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเลงพ่าย ลิลิตนิทราชาคริด

 

สุพรรณหงส์
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

การที่ไทยเรามีร้อยกรองหลายหลากมากชนิด ไว้เป็นสมบัติประจำชาติเช่นนี้ นับเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ จึงเป็นการสมควรที่เยาวชนไทยจะสนใจ "ศึกษา" ให้รู้จริง และ "รักษา" ไว้ให้ดี เพื่อว่า ฉันทลักษณ์ไทยจะได้ดำรงอยู่เป็นแบบฉบับอันดีงาม สำหรับเยาวชนรุ่นหลังๆ ต่อไปชั่วกาลนาน

 

 

ลักษณะบังคับของร้อยกรองที่ควรสังเกต 

ลักษณะบังคับของร้อยกรอง ที่ควรสังเกตมี ๙ ประการ ดังที่จะเขียนเป็นกลอนให้จำง่ายดังต่อไปนี้

ลักษณะบังคับของร้อยกรองนั้น      นับเป็นสิ่งสำคัญควรศึกษา 
หนึ่งคณะสองพยางค์วางแบบมา     สามสัมผัสไพเราะพาให้เพลินใจ 
สี่ครุ ลหุใช้เมื่อแต่งฉันท์      ยามประพันธ์ความคิดจิตแจ่มใส 
ห้าเอกโทโคลงทุกบทกำหนดใช้      หกคำเป็น คำตายให้ถูกแบบบรรพ์ 
เจ็ดเสียงวรรรณยุกต์นั้นผันถูกต้อง     แปดคำนำไม่บกพร่องมีพร้อมสรรพ์ 
เก้าคำสร้อยจำไว้ให้ครบครัน     คนขยันแต่งดีมีคนชม 
ฐ.น.
ต่อไปนี้จะชี้แจงว่า แต่ละคำ หรือแต่ละลักษณะมีความหมายอย่างไร

๑. คณะ 

คือ ข้อกำหนดเกี่ยวกับรูปแบบของร้อยกรองแต่ละประเภทว่า จะต้องประกอบด้วยส่วนย่อยคืออะไรบ้าง มีจำนวนเท่าใด

คำที่เป็นส่วนย่อยของคณะได้แก่ บท บาท วรรค คำ ดังตัวอย่าง คณะและกาพย์สุรางคนางค์ ดังนี้

กาพย์สุรางคนางค์ ๑ บท มีบาทเดียว ซึ่งมี ๗ วรรคด้วยกัน วรรคหนึ่งๆ มี ๔ คำ รวม ๗ วรรค มี ๒๘ คำ จึงเรียกว่า กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘

คณะของกาพย์ยานี ๑๑

มีดังนี้ 

กาพย์ยานี ๑ บท มี ๒ บาท บาทต้นเรียกว่า บาทเอก บาทท้ายเรียกว่า บาทโท บาทหนึ่งมี ๒ วรรค วรรคหน้ามี ๕ คำ วรรคหลังมี ๖ คำ รวมบาทหนึ่งเป็น ๑๑ คำ เท่ากันทั้ง ๒ บาท ดังนั้นจึงเรียกว่า กาพย์ยานี ๑๑
ลักษณะบังคับข้อนี้สำคัญมาก ร้อยกรองทุกประเภท จะต้องมีคณะ คณะช่วยกำหนดรูปแบบของร้อยกรองแต่ละประเภท แต่ละชนิดให้เป็นระเบียบ เพื่อใช้เป็นหลักในการแต่งต่อไป

๒. พยางค์ 

ในการแต่งร้อยกรอง เราถือว่า พยางค์ ก็คือ คำ นั่นเอง ร้อยกรองแต่ละชนิดจะมีการกำหนดไว้แน่นอนว่า วรรคหนึ่งมีกี่พยางค์ ในร้อยกรองประเภทฉันท์ มีการกำหนดพยางค์เคร่งครัดกว่า ร้อยกรองประเภทอื่นๆ กล่าวคือ หมายถึงเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ บางทีมีความหมายต่างๆ เช่น มี น้ำ ใน นา แต่บางทีบางพยางค์ก็ไม่มีความหมาย เช่นคำว่า กุสุมา ถือว่ามี ๓ พยางค์ อ่าน กุ-สุ-มา สรณ อ่าน สะ-ระ-นะ ในที่ที่ต้องการลหุ ก็ถือว่ามี ๓ พยางค์ ฉะนั้นผู้แต่งต้องใช้ความสังเกตให้ดี เมื่อจะนับพยางค์ในฉันท์

๓. สัมผัส 

คือ ลักษณะที่บังคับให้ใช้คำที่มีเสียงสัมผัสคล้องจองกัน สัมผัสเป็นลักษณะที่สำคัญมากในร้อยกรองของไทย คำประพันธ์ทุกชนิดต้องมีสัมผัสชนิดของสัมผัสที่ควรรู้จัก ได้แก่

คู่ที่ ๑ ก.สัมผัสสระ ข.สัมผัสอักษร
คู่ที่ ๒ ก.สัมผัสนอก ข.สัมผัสใน

สัมผัสสระ
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

สัมผัสทั้ง ๒ คู่นี้ สัมพันธ์เกี่ยวข้องกันดังนี้

คู่ที่ ๑ 

ก. สัมผัสสระ 

ได้แก่ คำตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป ที่มีเสียงสระพ้องกัน หรือคล้องจองกันตามมาตรา ถ้าเป็นคำที่มีตัวสะกด ก็ต้องเป็นตัวสะกดในมาตราเดียวกัน ดังตัวอย่าง 

ปะ สัมผัสกับ มะ พะ ระ 
ดี สัมผัสกับ ปี มี ศรี 
กิจ สัมผัสกับ คิด มิตร ฤทธิ์ 
นาง สัมผัสกับ บาง กลาง ล้าง 
กุน สัมผัสกับ คุณ บุญ หนุน 

ข้อควรระวัง 

ไม่ควรใช้สระเสียงสั้นสัมผัสกับสระเสียงยาว เช่น 

นัย ไม่สัมผัสกับ ราย พาย วาย 
จันทร์ ไม่สัมผัสกับ กาล วาร สาน 

ข. สัมผัสอักษร 

ได้แก่ คำที่ใช้พยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน อาจเป็นพยัญชนะตัวเดียวกัน หรือเป็นพยัญชนะเสียงสูงต่ำเข้าคู่กันก็ได้ (เช่น ข-ค, ส-ซ, ฉ-ช) หรือ พยัญชนะควบชุดเดียวกันก็ได้ (เช่น กร ตร ปล พล) ดังตัวอย่าง 

คำ สัมผัสอักษรกับ คู่ คอ แคน ขัน ฆ้อง 
ชี้ สัมผัสอักษรกับ ชน ชาม เชิญ ฉาย เฌอ 
ตรา สัมผัสอักษรกับ ตรู ตริ ตรอง ไตร ตรุษ 
ปลุก สัมผัสอักษรกับ ปลอบ เปลี่ยน ปลาย ปลิด เปลว 
ขวัญ สัมผัสอักษรกับ ขวา แขวน ควัน ความ แคว้น 

คู่ที่ ๒ 

ค. สัมผัสนอก 

เป็นสัมผัส บังคับ ได้แก่ สัมผัสที่ส่งและรับกันนอกวรรค เช่นในกลอนแปด กาพย์ยานี และโคลงสี่สุภาพ ต่อไปนี้ได้โยงเส้นสัมผัสไว้ให้ดูในแต่ละบทแล้ว

กลอนแปด
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17
กาพย์ยานี11
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

 

ง. สัมผัสใน

เป็นสัมผัสไม่บังคับ มีคำที่สัมผัสคล้องจองกันอยู่ภายในวรรคเดียวกัน อาจเป็นสัมผัสสระ หรือสัมผัสอักษรก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม และความพอใจของผู้แต่ง สัมผัสในช่วยให้บทร้อยกรองไพเราะขึ้น

สัมผัสใน
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

๔. คำครุ ลหุ 

คำครุ ลหุ นี้ เป็นคำที่บังคับใช้เฉพาะร้อยกรองประเภทฉันท์เท่านั้น เครื่องหมายที่ใช้แทนคำครุ มีลักษณะเหมือนไม้หันอากาศ คือ  ั ส่วนเครื่องหมายที่ใช้แทนคำลหุ มีลักษณะเหมือนสระอุ คือ  ุ 

คำครุ (  ั ) 

เป็นคำที่มีเสียงหนัก ได้แก่ คำทุกคำที่ประสมกับสระเสียงยาว ในแม่ ก กา เช่น งา ชี้ สู้ แล้ ห่อ และคำที่ประสมกับสระเสียงสั้นก็ได้เสียงยาวก็ได้ และมีตัวสะกดด้วย เช่น ขม คิด นึก ปาน โชค เล็บ นอกจากนั้นคำที่ประสมกับสระ อำ ไอ ใอ เอา ซึ่งถือว่า เป็นเสียงมีตัวสะกด ก็จัดเป็นคำครุเช่นเดียวกัน

คำลหุ (  ุ ) 

เป็นคำที่มีเสียงเบา ได้แก่ คำที่ประสมกับสระเสียงสั้นในแม่ ก กา เช่น จะ มิ ปุ และคำที่เป็นพยัญชนะตัวเดียว (ไม่มีรูปสระ) เช่นคำ ก็ ณ ธ บ่ บางที เมื่อมีพยัญชนะ ๒ ตัวเรียงอยู่ด้วยกัน ก็จะอ่านออกเสียงสั้นเป็นลหุ ทั้ง ๒ ตัว เช่น จร (อ่าน จะ-ระ) มน (อ่าน มะ-นะ) พล (อ่าน พะ-ละ) วร (อ่าน วะ-ระ) ในที่ที่ต้องการลหุ ดังตัวอย่าง

 

วิเชียรฉันท์11
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

๕.คำเอก คำโท 

คำเอก และคำโทนี้ ใช้กับบทร้อยกรองประเภทโคลงและร่ายเท่านั้น มีข้อกำหนดดังนี้ 

คำเอก 

ก. ได้แก่ คำหรือพยางค์ ที่มีไม้เอกบังคับทั้งหมด ไม่ว่าพยัญชนะต้นของคำนั้น หรือพยางค์นั้น จะเป็นอักษรกลาง อักษรสูง หรืออักษรต่ำ เช่น ก่อ จ่าย ดิ่ง ปู่, ข่า ฉ่ำ สุ่ม ห่าง, คู่ ง่าย ใช่ โล่ ฯลฯ 

ข. ได้แก่ คำหรือพยางค์ ที่เป็นคำตายทั้งหมด จะเป็นเสียงวรรณยุกต์ใดก็ได้ ดังตัวอย่าง
คำตายที่เป็นเสียงวรรณยุกต์เอก เช่น จาก ตัด แปลบ บาด ฯลฯ
คำตายที่เป็นเสียงวรรณยุกต์โท เช่น คาด เชษฐ์ แพรก โลภ ฯลฯ
คำตายที่เป็นเสียงวรรณยุกต์ตรี เช่น คิด เงาะ นับ เพชร ฯลฯ
ค. คำที่ไม่เคยใช้ไม้เอกเลย แต่นำมาแปลงใช้ โดยเปลี่ยนพยัญชนะต้น และใช้วรรณยุกต์เอกบังคับ เช่น ไข้ เป็น ไค่, ถ้ำ เป็น ท่ำ, แผ้ว เป็น แพ่ว เช่นนี้ ก็อนุโลมให้เป็นคำเอกได้ แต่เรียกว่า เอกโทษ 

คำโท 

ก. ได้แก่ คำหรือพยางค์ ที่มีไม้โทบังคับทั้งหมด ไม่ว่าพยัญชนะต้นจะเป็นอักษรกลาง อักษรสูง หรืออักษรต่ำ ดังตัวอย่าง 
- คำโทที่เป็นเสียงวรรณยุกต์โท เช่น กล้า ได้ ปั้น ข้อ ถ้วย หล้า ฯลฯ
- คำโทที่เป็นเสียงวรรณยุกต์ตรี เช่น ค้ำ นั้น พร้อม เฮ้ย ฯลฯ
ข. คำที่ไม่เคยใช้ไม้โท แต่นำมาแปลงใช้ โดยเปลี่ยนพยัญชนะต้น และใช้วรรณยุกต์โทบังคับ เช่น คู่ เป็น ขู้, ง่อย เป็น หง้อย, เม่น เป็น เหม้น, ย่อม เป็น หย้อม ฯลฯ เช่นนี้ก็อนุโลมให้เป็นคำโทได้ แต่เรียกว่า โทโทษ 

ส่วนร่าย ที่ว่า มีการบังคับคำเอก คำโทนั้น หมายถึง เฉพาะตอนท้ายของร่ายแต่ละบท ซึ่งจบด้วยโคลงสอง คำเอก และคำโท ที่บังคับใช ้อยู่เฉพาะส่วนที่เป็นโคลงสอง เท่านั้น

๖. คำเป็น คำตาย 

คำเป็น คำตายในที่นี้ มีความหมายเช่นเดียวกับ ที่กล่าวไว้ในตำราอักขรวิธีนั่นเอง อาจสังเกตคำเป็น คำตาย ได้ดังนี้ 

คำเป็น

ก. ได้แก่ พยางค์เสียงยาว ในมาตรา ก กา เช่น จ้อ ปู่ อา ฯลฯ กับพยางค์ที่ประสมสระ อำ ไอ ใอ เอา เช่น ดำ ใบ ไม่ สำ ฯลฯ 

ข. ได้แก่ พยางค์ที่มีตัวสะกด ในมาตรา กง กน กม เกย เกอว เช่น กรง ขัน คราม ง่อย โจร ปีน ราว ฯลฯ 

คำตาย 

ก. ได้แก่ คำหรือพยางค์เสียงสั้น ในมาตรา ก กา เช่น จะ ติ บ่ ฯลฯ 

ข. ได้แก ่คำหรือพยางค์ ที่มีตัวสะกด ในมาตรา กก กด กบ เช่น กาก จุก ปิด ตรวจ พบ ลาภ ฯลฯ 

หมายเหตุ 

คำตายนี้ใช้แทนคำเอกในโคลงได้ (ดูข้อ ๕ คำเอก คำโท)

ในกลอนกลบทบางชนิด เช่น บทที่มีชื่อว่า "อักษรกลอนตาย" ก็ใช้คำตายล้วน ดังตัวอย่าง

 

บทเพลงยาว
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

๗. เสียงวรรณยุกต์ 

เสียงวรรณยุกต์ หมายถึง คำที่มีเสียง ๕ เสียงตามอักขรวิธี เสียงวรรณยุกต์นี้ เป็นลักษณะสำคัญ ที่บังคับใช้ในกลอนและกาพย์บางชนิด จึงควรศึกษาให้รู้จักเสียงวรรณยุกต์ทุกเสียงอย่างแม่นยำ เพื่อจะได้สามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง 

หมายเหตุ: 

เสียงวรรณยุกต์ที่เป็นข้อห้ามในกลอนมีอยู่บางเสียง ดังนี้

๑)คำสุดท้ายของวรรครับ ห้ามใช้เสียงสามัญ เสียงตรี

๒)คำสุดท้ายของวรรคส่ง ห้ามใช้เสียงจัตวา แม้เสียงเอก เสียงโท ก็ไม่นิยมใช้ (ดูรายละเอียดในหัวข้อที่ว่าด้วย การแต่งกลอน) เสียงที่ใช้ได้ คือ เสียงสามัญ และเสียงตรี 

ส่วนกาพย์ยานีนั้น คำสุดท้ายของวรรคหลังของบาทโท ส่วนมากนิยมใช้วรรณยุกต์เสียงสามัญ และเสียงจัตวา มีที่ใช้เป็นคำตายเสียงตรีอยู่บ้าง เสียงเอก และเสียงโท ไม่ค่อยมีผู้นิยมใช้เป็นคำสุดท้ายของวรรค

๘. คำนำ 

คำนำในร้อยกรองหมายถึง คำที่ใช้ขึ้นต้น สำหรับร้อยกรองบางชนิด เช่น กลอนบทละคร ขึ้นต้นด้วยคำต่อไปนี้ : มาจะกล่าวบทไป เมื่อนั้น บัดนั้น ฯลฯ ดังตัวอย่าง

 

มาจะกล่าวบทไป
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17
เมื่อนั้น
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

น่าสังเกตว่า "มาจะกล่าวบทไป" ใช้เมื่อเริ่มเล่าเรื่อง "เมื่อนั้น" ใช้เมื่อ กล่าวถึงผู้เป็นใหญ่ "บัดนั้น" ใช้เมื่อกล่าวถึงผู้น้อย 

กลอนบทดอกสร้อย 

มักขึ้นต้นด้วยวรรคแรกสี่คำ คำที่สองต้องเป็น "เอ๋ย" คำที่ ๑ กับคำที่ ๓ ซ้ำคำเดียวกัน คำที่ ๔ เป็นคำอื่น ที่มีความหมายรับกัน วรรคสุดท้ายของบทที่ ๒ ต้องลงท้ายด้วยคำ "เอย"

 

เข็มเอ๋ย
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

๙.คำสร้อย 

คำสร้อยเป็นคำที่ใช้เติมลงท้ายวรรคบ้าง ท้ายบาทบ้าง ท้ายบทบ้าง เพื่อความไพเราะ หรือเพื่อทำให้ข้อความสมบูรณ์ ดังตัวอย่าง 

คำสร้อยในโคลงสอง ของลิลิตพระลอ มีดังนี้

 

โคลงสอง
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

คำสร้อยในโคลงสองท้ายบทร่าย มีดังนี้

คำสร้อย
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ลักษณะบังคับ ๙ ประการที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น สรุปเป็นหลักไว้ในตาราง ดังต่อไปนี้

ลักษณะบังคับของร้อยกรอง
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow