Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลักษณะของชนบทยากจน

Posted By Plookpedia | 20 เม.ย. 60
1,448 Views

  Favorite

ลักษณะของชนบทยากจน
ลักษณะความยากจนของชนบทในแต่ละภาค ก็มีความแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศ และปัญหาของการประกอบอาชีพ ในแต่ละพื้นที่ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเพาะปลูก ซึ่งจะแยกลักษณะของปัญหาความยากจนในแต่ละภาคได้ดังนี้ 

ก. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
ปัญหาพื้นฐานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานก็คือ การเพาะปลูกได้เพียงฤดูเดียว คือ ฤดูฝน พื้นที่ชนบทส่วนนี้ ต้องพึ่งธรรมชาติเป็นสำคัญ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นที่ดอน ยากแก่การทำระบบชลประทาน การเก็บกักน้ำทำได้ยาก เนื่องจากดินส่วนใหญ่เป็นดินทราย ดังนั้นการเพาะปลูกจึงทำได้เฉพาะข้าวนาปี ซึ่งคิดพื้นที่ในภาคอีสานทั้งหมด ที่ปลูกข้าวนาปีมีถึงร้อยละ ๘๕ ในพ.ศ.๒๕๒๒ มีพื้นที่บางส่วนทำการปลูกพืชไร่ครั้งเดียว เช่น ปอ ข้าวโพด ส่วนฤดูแล้ง คนชนบทเหล่านี้ จะเก็บผัก หาปลา จับสัตว์ ตัดฟืน เลี้ยงสัตว์ ซ่อมบ้าน ฯลฯ บางส่วนก็จะเข้ามาหางานทำ โดยการรับจ้างในตัวเมือง หรือจังหวัดอื่นๆ หรือมาหางานทำในกรุงเทพฯ พอถึงฤดูทำนา ก็จะกลับบ้าน เพื่อช่วยครอบครัวทำนา บางคนไม่อยากกลับ ก็จะส่งเงินไปให้ทางครอบครัวจ้างคนมาช่วยทำงานแทน

สภาพบ้านของชาวชนบทโดยทั่วไป
จาก หนังสือสารานุกรมสำหรับเยาวชนไทย ฯ เล่ม 13

 

ข้าวที่ชาวนาในภาคอีสานปลูกเป็นส่วนใหญ่ จะเป็นข้าวเหนียว ทั้งนี้เพราะชาวอีสานนิยมบริโภคข้าวเหนียว กับอาหารประเภทน้ำพริก ปลาร้า ส้มตำ ซุบหน่อไม้ ฯลฯ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้าน ผลิตผลของข้าวนาปีในภาคอีสานนี้ ก็ยังต่ำมาก คือ ผลิตได้เพียงไร่ละ ๒๐-๒๕ ถัง ที่ผลิตผลของข้าวได้ต่ำเช่นนี้ เนื่องมาจากคุณภาพของดินไม่เหมาะสม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ในบางแห่งมีปัญหาเรื่องดินเค็ม ดินเป็นทราย หรือดินที่มีหิน และดินลูกรัง บางแห่งดินเค็มถึงขนาดบนผิวดินจะปรากฎคราบของเกลืออย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทำให้ผลิตผลของข้าวในที่นาที่เป็นดินเค็มเฉลี่ยได้เพียง ๑๒-๑๕ ถังต่อไร่เท่านั้น

การเลี้ยงสัตว์ อาชีพหนึ่งของชาวชนบท
จาก หนังสือสารานุกรมสำหรับเยาวชนไทย ฯ เล่ม 13

 

ด้วยเหตุนี้ แม้ชาวนาในแต่ละครัวเรือนของภาคอีสานจะมีที่ดินของตนเอง และมีที่ดินถือครอง เพื่อการทำนาเฉลี่ยถัง ๑๔ ไร่ต่อครัวเรือน ซึ่งสูงกว่าภาคอื่นๆ แต่ปัญหาต่างๆ ดังกล่าว ทำให้ผลิตผลของข้าว ที่ชาวนาผลิตได้ไม่มากนัก และในบางกรณี ก็พอเพียงที่จะกินภายในครัวเรือนในแต่ละปีเท่านั้น โดยแต่ละครัวเรือนจะมีสมาชิก หรือคนในบ้านเฉลี่ย ๖ คน ซึ่งถ้าปีใด ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ปีนั้นคนชนบทบางส่วนในภาคอีสานนี้ ก็ต้องอดข้าว หรือต้องอพยพไปที่อื่น เพื่อยังชีวิตไว้

ข. ภาคเหนือ 
คนชนบทในภาคเหนือที่ยากจน มักจะบุกรุกเขตป่าไม้ เพื่อเป็นที่ทำกิน ในปีแรกๆ พื้นที่เหล่านั้นยังอุดมสมบูรณ์ ก็ให้ผลิตผลข้าว หรือพืชไร่สูงพอสมควร แต่ในเมื่อใช้ที่ดินนั้นเพาะปลูกไปนานปีเข้า โดยไม่ได้ทำนุบำรุงดินให้มีธาตุอาหาร ที่ดินนั้นก็เสื่อมคุณภาพ ผลิตผลก็จะต่ำลงมาก เช่น ข้าวไร่จากเดิม ๓๐ ถังต่อไร่ อาจเหลือเพียง ๒๐ ถังต่อไร่ พันธุ์ข้าวที่ใช้ยังเป็นพันธุ์เดิม นอกจากนี้ พืชไร่ที่นิยมปลูก คือ ข้าวโพด ก็มีลักษณะเดียวกันกับข้าวไร่ ซึ่งเป็นการเพาะปลูกเพียงฤดูเดียวคือ ฤดูฝน ส่วนฤดูแล้ง ขาดน้ำ ในการเพาะปลูก เนื่องจากที่ดินเป็นหินดินดาน และดินทราย ไม่เก็บความชุ่มชื้น และคุณภาพของหน้าดินเสื่อมเร็วกว่าปกติ เมื่อถูกฝนชะล้างผิวหน้าดิน คนชนบทยากจนในภาคเหนือนี้ มีทั้งคนไทย และคนไทยภูเขา สำหรับในเขตที่สูง มีปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย คือ การย้ายที่ทำการเกษตรไปเรื่อยๆ ซึ่งมีอยู่มากเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งในเขตนี้

ชาวเขาหรือคนไทยภูเขา เป็นชาวชนบท ที่มักทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นปัญหาสำคัญ ในการพัฒนาประเทศ ในเขตชนบทยากจนในภาคเหนือนี้ มีคนจำนวนมากที่ไม่มีที่ดินทำกิน คนเหล่านี้มีรายได้หลักจากการประกอบอาชีพ ด้วยการนำทรัพยากรธรรมชาติในป่ามาขาย เช่น หาของป่า หาน้ำผึ้ง เก็บใบตอง ไม้ไผ่ หน่อไม้ ฯลฯ บางพวกก็รับจ้างทำงานในไร่นาตลอดทั้งปี บางพวกก็ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น เช่นเดียวกับคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จาก หนังสือสารานุกรมสำหรับเยาวชนไทย ฯ เล่ม 13

 

ค. ภาคใต้ 
คนชนบทส่วนใหญ่ในภาคใต้มักประกอบอาชีพทำสวนยาง ยางพาราเป็นพืชที่เหมาะสมกับลักษณะภูมิอากาศของภาคใต้ คือ ฝนตกชุ่มชื้นเกือบตลอดปี โดยปกติการทำสวนยางให้รายได้ค่อนข้างสูง แต่ก็มีชาวสวนยางบางส่วนที่ยากจน เนื่องจากมีสวนยางขนาดเล็กคือ ต่ำกว่า ๑๑ ไร่ต่อครัวเรือน และเป็นยางพันธุ์เก่า ที่ให้ผลิตผลต่ำเพียง ๓๐ - ๖๐ กิโลกรัมต่อไร่ ดังนั้นชาวสวนยางประเภทนี้ เมื่อว่างจากงานในสวนของตน ก็ต้องรับจ้างทำงานในสวนยางของผู้อื่น เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว เนื่องจากการดำรงชีวิตในภาคใต้นี้เงินมีส่วนสำคัญ เพราะข้าวปลาอาหารเป็นสิ่งที่ต้องซื้อหาทั้งสิ้น ไม่สามารถปลูกได้พอกินเช่นในภาคอื่นๆ

การทำนาในภาคใต้ก็ทำกันน้อย ชาวนาภาคใต้ที่มีฐานะยากจน ส่วนใหญ่ทำนาครั้งเดียว โดยอาศัยน้ำฝน โดยทั่วไปจะมีเนื้อที่ทำนาน้อย เฉลี่ยเพียง ๙ ไร่ต่อครัวเรือน และผลิตผลของข้าวเฉลี่ยได้เพียง ๒๗ ถังต่อไร่ เนื่องจากพื้นที่ทำนาข้าวบางส่วนของภาคใต้มีปัญหา คือ เป็นดินเค็มฝาด มีความกระด้างสูง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๘ แสนไร่ อยู่ในจังหวัดปัตตานี สตูล ยะลา และนราธิวาส นอกจากนี้ ในบริเวณที่ราบลุ่มชายฝั่ง ที่ใช้เป็นที่ทำการเพาะปลูกยังประสบปัญหา น้ำท่วม เนื่องจากลมมรสุม และน้ำทะเลหนุน

การทำสวนยาง อาชีพสำคัญอาชีพหนึ่งของชาวชนบทในภาคใต้
จาก หนังสือสารานุกรมสำหรับเยาวชนไทย ฯ เล่ม 13

 

ง. ภาคกลาง 
คนยากจนจริง ๆ ในภาคกลาง ซึ่งมีความยากจนใกล้เคียงกับคนยากจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น มีจำนวนไม่มากนัก และกระจัดกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ คนเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ไม่มีที่ดินของตนเอง และไม่สามารถเช่าที่ดินทำกินได้ อย่างไรก็ดีในกรณีที่ไม่มีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ โอกาสในการหางานรับจ้างของคนในภูมิภาคนี้ ก็ยังดีกว่าในภาคอื่นๆ จะมีเพียงบางพื้นที่ในภาคกลางเท่านั้น ที่มีปัญหาความยากจนจำนวนมาก คล้ายคลึงกับปัญหาที่พบในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow