เมืองไทย ได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง เนื่องจากมีวัด โบสถ์ วิหาร และเจดีย์ยอดสูงสีทองเรืองรองอยู่มากมาย เช่น พระปฐมเจดีย์ ที่วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม พระบรมธาตุไชยา เจดีย์แบบศรีวิชัย ที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เจดีย์กู่กุด ที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนในทุกเหลี่ยมรายรอบ พระธาตุหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน เจดีย์ศิลปะแบบล้านนาเป็นปูชนียสถานที่กราบไหว้บูชาของชาวลำพูน เจดีย์ทอง ๒ องค์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมบรรพต (เจดีย์ภูเขาทอง) ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร มีสีทองอร่ามยามต้องแสงตะวัน แสดงถึงความรุ่งเรืองของกรุงรัตนโกสินทร์
เจดีย์ที่มีรูปทรงงดงามจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก คือ ปรางค์ประธานวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
พระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และพระอัฐิธาตุของพระสาวก บรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ และอัฐิของบรรพบุรุษที่เป็นปูชนียบุคคล
เจดีย์ จึงเป็นศรีสง่าแห่งเมือง แสดงถึงความร่มเย็นเป็นสุขในดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา และภูมิปัญญาทางศิลปะของไทย เป็นอนุสรณ์เตือนใจ ให้เรารำลึกถึงพระพุทธคุณและคุณงามความดีของบรรพชนผู้ล่วงลับ เกิดจิตสำนึกที่จะปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เพื่อความสงบสุขของสังคมไทยสืบไป
เจดีย์ หรือสถูป นอกจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ หรือพระบรมอัฐิแล้ว ยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน รวมถึงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัยของชนชาติต่างๆ อีกด้วย
ประชาชนในประเทศไทย ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา วัดจึงเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของพุทธศาสนิกชน ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยศิลป์ที่งดงาม เช่น โบสถ์ วิหาร หอระฆัง และเจดีย์ที่มีรูปทรงหลายแบบ สูงตระหง่าน ส่วนยอดแหลมสีทองอร่าม ดูงามจับตาและน่าประทับใจ
รูปแบบการสร้างเจดีย์มีลักษณะ รูปทรง และองค์ประกอบที่หลากหลาย อีกทั้งมีขนาดที่แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของผู้สร้าง เช่น พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีขนาดใหญ่ จนมีคำเปรียบเทียบว่ามีความสูงเท่ากับนกเขาเหิน มีตำนานว่า พญาพานสร้างอุทิศถวายพญากงซึ่งเป็นพระบิดา เพื่อชดใช้กรรมที่ได้กระทำปิตุฆาต
เจดีย์ มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น พระมหาเจดีย์ พระมหาสถูป พระมหาธาตุ พระบรมธาตุ พระธาตุ พระเจดีย์ ตามแต่การประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระอัฐิธาตุ บางครั้งเจดีย์ที่มีรูปทรงแบบ "ปรางค์" ก็เรียกว่า พระปรางค์
รูปทรง และองค์ประกอบที่สำคัญของเจดีย์มีแบบแตกต่างกันตามศิลปะแห่งยุคสมัย และของแต่ละภูมิภาค เช่น เจดีย์แบบทวารวดี ในภาคกลาง เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีส่วนยอดที่เรียกว่า ฉัตรวัลลี คือ ใบฉัตรซ้อนลดหลั่นกันในทรงกรวยสูง เจดีย์แบบหริภุญชัย ที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน มีรูปทรงสี่เหลี่ยมประกอบด้วยชั้นซ้อนลดหลั่นกัน ๕ ชั้น ยอดทรงกรวยเหลี่ยม เจดีย์แบบล้านนา ที่วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอด ส่วนเจดีย์ทรงระฆังแบบเฉพาะของล้านนา เช่น พระธาตุหริภุญชัย ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำพูน ทางภาคเหนือมีเจดีย์แบบต่างๆ จำนวนมาก แสดงถึงความรุ่งเรืองทางศิลปะและพระพุทธศาสนาที่มีมานานกว่า ๑,๐๐๐ ปี
เจดีย์ แบบสุโขทัยที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เป็นเจดีย์ที่มีรูปทรงงดงาม โดยมีการผสมผสานศิลปะแบบขอม ศิลปะพุกาม และศิลปะล้านนา เช่น เจดีย์ประธานทรงปราสาทยอด วัดเจดีย์เจ็ดแถว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มียอดทรงดอกบัวตูม เจดีย์ทรงระฆัง วัดช้างล้อม ที่มีแรงบันดาลใจจากรูปแบบของเจดีย์ในศิลปะลังกา
เจดีย์์แบบก่อนกรุงศรีอยุธยามีลักษณะเจดีย์ทรงปรางค์ เช่น เจดีย์ประธานทรงปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี รูปทรงมีชั้นซ้อนแบบปราสาทขอม ต่อมาในสมัยอยุธยา เจดีย์ทรงปรางค์มีรูปทรงที่เพรียวลงและชั้นซ้อนเรียบง่ายขึ้น เช่น ปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
รูปทรงเจดีย์แบบกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมจากส่วนฐานขึ้นไปเรือนธาตุ และทรงระฆัง ส่วนยอดเป็นทรงกรวยกลม เช่น เจดีย์ศรีสุริโยทัย บริเวณวัดสวนหลวงสบสวรรค์ เจดีย์ประธานวัดภูเขาทอง และสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น เจดีย์ ทรงสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เจดีย์แบบรัตนโกสินทร์มีรูปทรงสืบเนื่องมาจากเจดีย์เพิ่มมุมประเภททรงเครื่องในสมัยอยุธยาตอนปลาย และยังนิยมสืบทอดเจดีย์ทรงปรางค์มาด้วย ดังเช่น ปรางค์ประธาน วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งมีฐานซ้อนลดหลั่นกันเป็นชุด แต่ละฐานซ้อนมีงานปั้นประดับ เป็นศิลปะเชิงช่างแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ต่อมางานสร้างเจดีย์ที่ได้สืบทอดรูปทรงและงานช่างโบราณได้เปลี่ยนไป ลักษณะเจดีย์มีรูปทรงใหม่ๆ แต่ยังคงมีเค้ารูปทรงเดิมอยู่บ้าง เช่น พระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ บนยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
เจดีย์เป็นศาสนสถานที่แสดงถึงศรัทธาของบรรดาพุทธศาสนิกชน และคุณค่าทางศิลปะของชาติ จึงถือเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องยึดถือในความศักดิ์สิทธิ์ ตามประเพณีและพิธีกรรมที่ได้สืบทอดกันต่อมา ควรช่วยกันบำรุงรักษามิให้เสื่อมโทรมลง และพร้อมใจกันบูรณะให้คงความงดงามเป็นที่เคารพบูชาตลอดไป