Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ชีวิตชนบทไทย

Posted By Plookpedia | 20 เม.ย. 60
44,615 Views

  Favorite
ชีวิตชนบทไทย
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

คนไทยส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ในชนบท แต่ก่อนนี้เราเรียกชนบทว่า บ้านนอก ซึ่งคงจะหมายถึงงานที่อยู่ข้างนอกเมือง หรือนอกเขตชุมชนใหญ่ๆ คนที่อยู่ในชนบทส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ชาวชนบท ทำการเกษตรประเภทต่างๆ ป้อนผลิตผลให้ชาวเมืองมีกินมีใช้ และยังเหลือส่งออกไปขายยังต่างประเทศอีกมาก ทำให้ประเทศไทยได้เงินตราต่างประเทศ มาใช้ลงทุนในการอุตสาหกรรมและอื่นๆ ใน พ.ศ. ๒๕๓๑ คนไทยทั้งสิ้นมีจำนวน ๕๔ ล้านคน มีคนที่อยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ในชนบทถึง ๓๙ ล้านคน ผลิตผลทางการเกษตรของชาวชนบทเหล่านี้ คิดเป็นร้อยละ ๑๖.๙ ของผลิตผลที่ประเทศไทยผลิตได้ทั้งสิ้น ผู้ที่อยู่ในชนบทบางส่วน ได้อพยพเข้ามาในเมือง และช่วยทำงานในด้านอื่นๆ เกือบทุกด้าน ชาวชนบทนี้ เมื่อเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองนานเข้า ก็กลายเป็นชาวเมือง และเลยไม่ได้กลับไปอยู่บ้านเดิมของตน แม้จะมีคนชนบททยอยเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองอยู่ตลอดเวลา แต่ผู้ที่ยังอาศัยอยู่ในชนบท ก็ได้ผลิตผลิตผลทางการเกษตรได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยจึงมีชื่อเสียงว่า เป็นประเทศที่มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีอาหารพอกิน ก็สั่งซื้ออาหารจากประเทศไทย ดังนั้น การที่บ้านเมืองของเราได้มีกินมีใช้ทุกวันนี้ ก็เป็นเพราะคนที่ยังอาศัยอยู่ในชนบท พวกเราทุกคนจึงควรเข้าใจว่า ผู้ที่อยู่ในชนบทเป็นกำลังที่สำคัญที่สุด มีบุญคุณต่อประเทศชาติ และชาวเราอย่างใหญ่หลวง

 

 

 

ชีวิตคนชนบทกับชีวิตคนในเมือง 
คนในชนบทส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร การเกษตรเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับ ดิน น้ำ และอากาศเป็นอย่างมาก ชีวิตคนในชนบท จึงมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ถ้าปีไหน ฝนตกตามฤดูกาล พืชผลก็จะงอกงาม ถ้าปีใดแห้งแล้ง พืชผลก็จะเสียหาย คนชนบทก็จะเดือดร้อน มีข้าวไม่พอกิน ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เพื่อจะมาซื้อข้าวกิน ธรรมชาติเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตที่สำคัญของคนในชนบท ไม่ว่าจะทำอะไร เมื่อไร หรือจะกินอะไร ก็ขึ้นกับธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ชาวนามักจะเริ่มปลูกข้าวในช่วงฤดูฝน โดยการไถและหว่าน หรือปักดำ ในช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคม และจะเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน - มกราคม การทำนาโดยอาศัยน้ำฝนนี้เรียกว่า "การทำนาปี" ส่วนภาคใต้มีฝนตกล่ากว่าในภาคอื่นๆ ชาวนาในภาคใต้ จึงเริ่มการไถ เพื่อเตรียมพื้นที่ และปักดำข้าว ในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน และจะเก็บเกี่ยวในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม

ชีวิตชนบทการทำประมง
ในการทำประมง ชาวบ้านจะทำปลาบางส่วนตากแห้งเพื่อส่งจำหน่าย
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

อาหารการกินของคนชนบท ก็อาศัยทรัพยากรธรรมชาติเป็นสำคัญ ได้แก่ พวกพืชผักท้องถิ่น เช่น กระถิน ยอดมะขาม หน่อไม้ ผักบุ้ง ผักกระเฉด ตำลึง เป็นต้น ซึ่งชาวชนบทไม่ต้องซื้อกิน เหมือนคนในเมือง นอกจากนี้ พวกสัตว์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ก็ใช้เป็นอาหารสำหรับคนชนบทได้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เรียกกันว่า ภาคอีสาน มักกินพวกจิ้งหรีด ตั้กแตน ตัวอ่อนของดักแด้ไหม ส่วนทั่วๆ ไปก็กินปูนา กบ และเขียด ตลอดจนกุ้งฝอยและปลา ที่มากับกระแสน้ำในฤดูน้ำ คนชนบทในภาคอีสานมักจะนำปลาและกุ้งที่จับได้ นำมาทำเป็นปลาร้า และกุ้งแจ่ว เพื่อเก็บไว้กินนานๆ ส่วนคนชนบทที่อยู่ใกล้บริเวณอ่าวไทย เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ก็ได้อาศัยธรรมชาติ คือ น้ำทะเลทำนาเกลือ และทำการประมง การทำมาหากินของคนชนบท จึงขึ้นอยู่กับสภาพธรรมชาติของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งไม่เหมือนกัน

 

พืชผักและผลไม้ต่าง ๆ  ผลิตผลทางการเกษตรของท้องถิ่นชนบท
พืชผักและผลไม้ต่าง ๆ ผลิตผลทางการเกษตรของท้องถิ่นชนบท
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนไทย ฯ เล่มที่ 13
พืชผักและผลไม้ต่าง ๆ ผลิตผลทางการเกษตรของท้องถิ่นชนบท
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนไทย ฯ เล่มที่ 13

 

คนที่อาศัยอยู่ในเมือง ส่วนใหญ่ไม่ทำการเกษตร ชีวิตประจำวันของคนในเมือง จึงไม่ต้องอาศัยธรรมชาติมากเท่ากับคนในชนบท การไม่ต้องพึ่งธรรมชาติ ทำให้คนในเมืองมีวิถีชีวิต ซึ่งมักถือกันว่า เจริญแล้ว คือ จะเลือกทำอะไรก็ได้หลายอย่าง ตัวอย่างเช่น ทำการค้า ทำอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และให้บริการ สิ่งเหล่านี้มิต้องพึ่งปริมาณฝน แต่ขึ้นอยู่กับเงินทุน และเครื่องจักรกลมากกว่า ในพ.ศ. ๒๕๓๐ การดำเนินกิจการต่างๆ นี้ ให้ผลิตผลต่อประเทศดังนี้ การทำการค้าคิดเป็นร้อยละ ๑๑.๗ การทำอุตสาหกรรมร้อยละ ๒๑.๓ การก่อสร้างร้อยละ ๕.๗ และการให้บริการร้อยละ ๑๕.๒ แต่คนในเมืองต้องพึ่งอาหารการกิน ซึ่งเป็นผลิตผลมาจากชนบท การที่คนในเมืองมีเงินไปซื้อเครื่องจักร และเครื่องใช้จากต่างประเทศนั้น ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากเงินที่ขายผลิตผลทางการเกษตร ที่คนชนบทผลิตได้ และวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมประเภทอาหาร จำพวกผักและผลไม้กระป๋อง น้ำมันพืช ก็ใช้วัตถุดิบจากการเกษตรทั้งสิ้น ดังนั้น ความเจริญในเมืองเกือบทั้งหมด ในประเทศของเราจึงมีรากฐานมาจากชนบท

สภาพทั่วไปของชนบทไทย บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของคนชนบทมักอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน คนชนบทที่มีอาชีพ ทางการเพาะปลูกมักจะตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลอง หรือใกล้กับแหล่งน้ำสาธารณะ จำพวกหนอง บึง เพื่อสะดวกในการมีน้ำไว้กินไว้ใช้ในครัวเรือน ใช้ในการเพาะปลูก หรือใช้เป็นทางคมนาคมติดต่อกัน ลักษณะหมู่บ้านของชนบทไทย โดยทั่วๆ ไปมีหลายแบบ แบบที่เห็นกันอยู่มากคือ การตั้งบ้านเรียงรายเป็นหมู่บ้านริมคลอง หรือริมถนน จะเห็นได้มากในชนบท ภาคกลาง อีกแบบหนึ่งก็คือ ครัวเรือน ตั้งอยู่ใกล้กันในละแวกเดียวกันเป็นกลุ่มๆ และล้อมรอบไปด้วยทุ่งนาหรือไร่ หมู่บ้านนี้มีอยู่ทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ

ผู้ที่อยู่ในบ้านในชนบท นอกจากจะประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกๆ แล้ว บางครอบครัวจะมีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ด้วย ลูกๆ ที่แต่งงานไปแล้ว มักจะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆ กับบ้านเรือนของพ่อแม่ ดังนั้น ผู้คนในละแวกบ้านเดียวกัน จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ชีวิตในชนบทจึงเป็นชีวิตที่อบอุ่นด้วยญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกัน ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ทุกๆ หมู่บ้านมักมีวัดหรือสถานที่ทางศาสนาเป็นศูนย์รวมกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้าน และมีบทบาทต่อชีวิตในชนบทส่วนใหญ่อย่างมากจนทุกวันนี้

ครอบครัวชนบทดังที่กล่าวแล้วว่า ส่วนใหญ่จะมีอาชีพทางการเกษตร ลักษณะครอบครัวจะเป็นครอบครัวใหญ่ มีสมาชิกในครอบครัวหลายคน คนชนบทในอดีตนิยมมีลูกหลายคน เพื่อจะได้มีลูกๆ ไว้ช่วยทำนา ทำไร่ เพราะทำคนเดียว หรือสองคนไม่ไหว เด็กๆ จะเติบโตอยู่กับพ่อแม่ และไปโรงเรียนที่มีอยู่ในชนบทนั้นๆ ส่วนใหญ่เด็กชนบทจะเรียนจบชั้นประถม ๖ ซึ่งเป็นชั้นระดับที่เด็กทุกคนต้องเรียนจบระดับนี้ตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อที่เด็กๆ ทุกคนจะได้อ่านหนังสือ เขียนหนังสือได้ และยังมีความรู้อื่นๆ ด้วย เช่น ความรู้เรื่องสุขศึกษา รวมทั้งความรู้ที่จะช่วยตัวเอง และเพื่อนบ้านในการที่จะดำรง ชีวิตอยู่ในสังคมนั้นๆ

เมื่อเด็กๆ จบชั้นประถมศึกษาภาคบังคับแล้ว บางส่วนก็จะมาเรียนต่อในอำเภอหรือเมือง ในชั้นที่สูงขึ้นต่อไป เด็กบางส่วนก็จะอยู่บ้านช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เลี้ยงน้อง หรือช่วยงานเกษตรภายในครอบครัว เมื่อถึงวัยรุ่น หนุ่มสาวบางส่วนก็จะพากันออกไปทำงานนอกเขตที่ตนอยู่ อาจไปทำงานในเมืองใกล้ๆ หรือไปทำงานอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรในเมืองหลวง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม หรือก่อสร้าง เป็นต้น เด็กหนุ่มสาวบางส่วนที่มิได้ย้ายไปทำงานที่อื่น ก็จะช่วยพ่อแม่ทำกิจการอาชีพของพ่อแม่ต่อไป เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ที่อยู่กับพ่อแม่ก็จะรับช่วงที่ดินที่พ่อแม่ทำอยู่มาทำต่อ ส่วนเด็กๆ ที่ได้เข้าไปเรียนต่อในเมือง หรือจังหวัด หรือเมืองหลวง คือ กรุงเทพฯ นั้น ก็อาจจะเรียนจนจบการศึกษาชั้นสูง และส่วนใหญ่จะหางานทำในกรุงเทพฯ เลยไม่ได้กลับไปอยู่ถิ่นฐานเดิมของตน จึงไม่มีโอกาสที่จะนำความรู้ความสามารถกลับไปช่วยทำนุบำรุง และปรับปรุงชนบทเดิม ที่ตนเคยอยู่มา อย่างไรก็ตาม คนชนบทบางส่วน แม้จะมีจำนวนน้อยที่เมื่อเรียนจบแล้ว ได้กลับไปสู่ชนบทบ้านเดิม แต่คนชนบทเหล่านี้ ก็สามารถช่วยพัฒนาชนบท ได้อย่างมาก ซึ่งเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างยิ่ง คนเหล่านี้เป็นคนที่สังคมยกย่อง ตัวอย่างเช่น นายแพทย์กวี ไชยศิริ ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นแพทย์ดีเด่นในชนบทประจำปี ๒๕๒๓ และนายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก แพทย์ดีเด่นประจำปี ๒๕๒๗ เป็นต้น

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags

Content

1
การเปลี่ยนแปลงชีวิตในชนบท
ชนบทได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดเวลา เริ่มจากเมื่อคนในชนบทมีจำนวนมากขึ้น ที่ดินทำกินที่ทำอยู่เดิมก็ไม่พอ จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยการบุกเบิกพื้นที่รกร้างว่างเปล่า หรือที่ป่า ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นที่พื้นที่ราบสูง
2K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow