Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Portfolio : น้ำ ปลา นา ข้าว

Posted By Plook Magazine | 15 มี.ค. 60
4,975 Views

  Favorite

 

น้ำ ปลา นา ข้าว

 

ผลงานสุดคูล “น้ำ ปลา นา ข้าว” (Water – Fish – Paddy Field – Rice) คว้า Top Grade Awards คะแนนรวมสูงสุดของการแข่งขันการแกะสลักหิมะน้ำแข็งนานาชาติ ปี 60 ท่ามกลางความหนาวเย็นสุดขั้ว ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งผลงานได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการและผู้เข้าแข่งขันกว่า 57 ทีม 13 ประเทศ ร่วมสร้างสรรค์โดย เก้า-อภิสิทธิ์ ศรชัย แม็ก-กฤษณะ คบสหาย ออย-ธนากร ศักดิ์สิงห์ และ เฟรม-ธนศักดิ์ พิพัฒน์ ปวช. 2 สาขาวิชาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี พร้อมครูผู้ฝึกซ้อมสุรชาติ พละศักดิ์

 

Top Grade Awards


เมื่อทั้งสี่คนได้มารวมทีมกัน ด้วยความสามารถที่หลากหลายจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัดสินใจเข้าแข่งขันแกะสลักหิมะน้ำแข็งในครั้งนี้ ซึ่งในทีมแต่ละคนจะมีความถนัดต่างกัน เก้าจะถนัดเรื่องของลายไทย ลายกนก แม็กถนัดเรื่องความละเอียด อ่อนช้อย ออยเป็นคนขึ้นรูปพวกลายน้ำ ลายปลา ส่วนเฟรมถนัดเรื่องของการร่างภาพโมเดล โดยก่อนการแข่งขันได้มีการฝึกซ้อมเป็นเวลาสองเดือน ด้วยการทำหิมะเทียมขึ้นมาจากทรายสองส่วน ปูนหนึ่งส่วนผสมกัน รวมถึงการเตรียมร่างกายให้พร้อมกับสภาพอากาศด้วยการซ้อมวิ่งหลังจากเลิกเรียนทุกวัน

 

ภาพการทำงาน

 


โจทย์ในการแข่งขันคือ ฟรีสไตล์ เก้าในฐานะหัวหน้าทีมเล่าถึงแรงบันดาลใจของผลงาน “น้ำ ปลา นา ข้าว” ว่า
“ทีมเราได้แรงบันดาลใจจากโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรานำหนึ่งในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกี่ยวกับการพอมีพอกิน การสร้างรายได้ให้ตนเอง พอคิดจากโจทย์แล้วจึงเลือกเรื่องปลานิลนี่แหละมาทำเป็นหัวข้อ จากนั้นออกแบบว่าจะแกะสลักเป็นรูปปลานิลแบบไหน ที่จะโชว์ความเป็นไทยแสดงเอกลักษณ์ของไทยให้โลกได้เห็นครับ”

 

โมเดลขนาดสามเมตร ทางทีมเลือกนำปลานิลแกะสลักผสมกับลวดลายไทย และใช้ชื่อว่า “น้ำ ปลา นา ข้าว” คำกระชับและได้ใจความสมบูรณ์ตามที่ทั้งสี่คนตั้งใจไว้  เก้าอธิบายการทำงานของทีมว่า “โดยหลัก ๆ สี่คนแบ่งหนึ่งคนต่อหนึ่งด้าน ส่วนอาจารย์จะช่วยดูรอบ ๆ ให้ครับ ใช้เวลาทั้งหมดสามวันเต็มในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยวันแรกขึ้นโครงร่างก่อนและตัดหิมะยกขึ้นมาเทิน ส่วนวันที่สองเริ่มแกะสลักตัวปลา รวงข้าว วันที่สามเก็บรายละเอียด เมื่อเข้าสู่วันที่สี่ทางทีมงานจัดการแข่งขันจะให้เคลียร์รอบ ๆ บริเวณของผลงาน เพื่อเตรียมโชว์ต่อไป”
 

ภาพการทำงาน


“อุปสรรคอย่างแรกคือสภาพอากาศ ที่ปรับตัวแทบไม่ทัน ต้องทำผลงานกลางแจ้งแล้วอุณหภูมิ -20 องศา เสื้อผ้าที่เราเตรียมไปบางตัวใช้ได้บางตัวใช้ไม่ได้ ส่วนมากต้องซื้อใหม่ ส่วนปัญหาต่อมาเป็นเรื่องของอาหารการกิน เราไม่ชินกับอาหารที่บ้านเขา รสชาติจะออกมัน ๆ หน่อยครับ” เก้าเล่าถึงอุปสรรคที่เจอในการแข่งขันครั้งนี้
 

บรรยากาศงาน


เก้าเล่าถึงบรรกาศงานวันแข่งขัน "ตื่นเต้นมากเพราะว่า ทุกปีเขาจะมีตำแหน่งที่นั่งที่บอกได้ว่าจะได้รางวัลอะไร ซึ่งเราได้ให้นั่งข้างหน้าสุดเลย ก็ยิ่งดีใจใหญ่เลย พวกทีมอื่นที่นั่งข้างหลัง เขาก็พูดถึงเราดีใจด้วยนะ เราก็ยังไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ พอประกาศรางวัลจะไล่จาก ที่ 3 ที่ 2 ที่ 1 ส่วนรางวัลที่สูงกว่าที่ 1 ก็จะมาประกาศทีหลัง พอเขามาประกาศว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ทุกคนคือขาอ่อน เพราะงานมันระดับนานชาติ ตอนนั้นอธิบายไม่ออกเลย มันดีใจมาก จนเพื่อนร้องไห้กันเลย รางวัลที่ได้กลับมาคือความภาคภูมิใจ เพราะทุกคนทำเต็มที่มาก แล้วผลงานกลายเป็นที่ยอมรับ"
 

เมื่อถามถึงเหตุผลที่ทำให้ผลงานชิ้นนี้ได้คะแนนรวมสูงสุดเก้าบอกว่า “จุดเด่นผลงานคือความละเอียดมาก ๆ เราแกะกันนิ้วต่อนิ้วเลยครับ
ทั้งลวดลายของข้าว น้ำ เกล็ดปลา มีความอ่อนช้อยกว่างานทีมอื่น เพราะเราใส่เอกลักษณ์ความเป็นไทยลงไปครับ”

 

เรื่อง : วรรณวิสา สุภีโส

นิตยสาร plook

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow