เรื่อง : วรรณวิสา สุภีโส
จากแชมป์ประเทศไทยรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี และแชมป์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทีมศิษย์กตัญญูก็ผ่านการคัดเลือกเป็นหนึ่งในสามทีมตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลกครั้งนี้ โดยมีโจทย์คือให้หุ่นยนต์ทำภารกิจคัดแยกขยะ ภูมิอธิบายการตีโจทย์ได้มาว่า “เราต้องวิเคราะห์ ถ้าภารกิจคือคัดแยกขยะ เราจะออกแบบหุ่นยนต์ยังไงให้ทำภารกิจสำเร็จได้ โดยมีเกณฑ์บังคับคือใช้ของ Lego Mindstorms กำหนดขนาดที่ 25×25 ซม. ครับ”
“ในการแข่งขันตอนแรกมีเวลาให้ประกอบหุ่นยนต์และซ้อมประมาณชั่วโมงครึ่ง จากนั้นช่วงที่แข่งขันปล่อยหุ่นยนต์ออกมาหนึ่งตัวทำภารกิจไม่เกินสองนาที รอบสองครึ่งชั่วโมง รอบสามสิบห้านาที การทำงานจำลองของมันคือ เก็บขยะมาแล้วเอาไว้ในหุ่นตัวเองก่อน แล้วเอามารีไซเคิลตามถังขยะสี่ถังคือ เขียว แดง น้ำเงิน และเหลือง ต้องเอาไปใส่ให้ถูกจุด ถ้าใส่ถูกหมดจะได้คะแนนเต็ม ซึ่งตอนแข่งขันจริงก็มีพลาดใส่ผิดสี ไม่ลงก็มี เกิดจากความผิดพลาดของโปรแกรม เมคคานิกส์ หรืออุปสรรคในแต่ละพื้นที่ เช่น อากาศเย็น อากาศร้อน ทำให้ล้อแข็งแล้วมันก้าวไม่ออก เพราะอุณหภูมิมีผลต่อการเคลื่อนที่ของมันด้วย และถ้าเราพลาดจุดไหนไปเราจะไม่ได้คะแนนในส่วนนั้น” เกรทเล่าถึงช่วงเวลาในการแข่งขัน
การแบ่งหน้าที่การทำงานนั้น ตั้มจะเป็นคนเขียนโปรแกรม LabVIEW นำไอคอนการทำงานมาต่อกัน เขียนคำสั่งแล้วมาทำเป็นแท็ก รวมทั้งแก้โปรแกรม ภูมิเป็นคนปล่อยหุ่นยนต์ (อัตโนมัติ) และเกรทดูว่าหุ่นยนต์มีความผิดพลาดตรงไหน การทำงานของมันตอบสนองอย่างไร ซึ่งทางทีมเองได้มีการดูแลจากโค้ช สกล ธรรมวงศ์ และ ศุภรัตน์ ธรรมวงศ์ ผู้จัดการทีม เป็นผู้ให้คำแนะนำดูแลทีมเป็นอย่างดี
เกรทเล่าถึงความยากของการแข่งขันว่า “ตอนคัดเลือกจะคัดสามรอบด้วยคะแนนที่ดีที่สุด สมมติรอบแรกเราได้คะแนนเต็มเวลาเท่านี้แล้ว รอบสามพลาด หรือรอบสองดีกว่าก็ได้ เพราะเอาคะแนนดีทีสุดในการปล่อยในสามรอบมาเป็นเกณฑ์ตัดสิน ในการคัด 64 ทีมจาก 81 ทีมค่ะ”