เรื่อง : วรรณวิสา สุภีโส
จากวิชาเสรีการ์ตูนศึกษาสู่จุดเริ่มต้นในการประกวด ช่อเล่าถึงโจทย์ในการออกแบบคาแรกเตอร์ว่า “ต้องคงคาแรกเตอร์แบบเดิมไว้คือ ตัวแรบบิทเป็นกระต่ายตัวสีส้ม หูตั้งหนึ่งข้าง หูพับหนึ่งข้าง และหางกลม จากนั้นออกแบบตัวแรบบิทในมุมมองของเราภายใต้คอนเซ็ปต์ Digital Lifestyle ทั้งหมด 5 แอคชัน หน้าตรง ด้านข้าง ด้านหลัง เพื่อดูคาแรกเตอร์ของเรา 360 องศา และฟรีสไตล์ 2 แอคชัน ใช้เส้นโค้งมน สื่อถึงความเป็นมิตรเข้าถึงง่าย หูที่พับหนึ่งข้าง ตั้งหนึ่งข้างนั้น มีความหมายถึงความฉลาดในการเลือกเปิดรับสิ่งต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับตนเอง สะท้อนบุคลิกเชิงจิตวิทยาของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ รูปหน้าทรงกลม ลดทอนรายละเอียด เรียบง่าย แต่มีคุณค่า”
แรงบันดาลใจในการออกแบบคาแรกเตอร์แรบบิทของช่อคือ การได้สังเกต สำรวจดูพฤติกรรมการแสดงออกของวัยรุ่นบนบีทีเอสในกรุงเทพฯ ช่อจึงออกแบบฟรีสไตล์ 2 แอคชันเป็นเดินถือโทรศัพท์กับเดินถือคอมพิวเตอร์ ช่ออธิบายลักษณะคาแรกเตอร์เพิ่มเติมว่า “ตัวกระต่ายใส่ฮู้ดเพราะชอบเสื้อฮู้ดเป็นการส่วนตัว จึงใส่ความชอบตัวเองลงไปด้วยค่ะ”
ในส่วนของขั้นตอนการทำงานช่อเล่าว่า “ต้องอ่านเงื่อนไขแล้วคิดตีโจทย์ในมุมมองเรา จดลิสต์เป็นประเด็นออกมา ซึ่งขั้นตอนการคิดว่าจะวาดอะไรประมาณอาทิตย์กว่า พอหลังจากนั้นกลับบ้านมาก็อิมเมจวาดดู พอลองวาดดีไซน์อันไหนดีก็หยิบออกมา แล้วก็เอาไปวาดในโปรแกรม PaintTool SAI ใช้เวลาวันเดียว เพราะเป็นโปรแกรมที่ถนัดเป็นพิเศษค่ะ เป็นคนชอบงานด้านกราฟิก ชอบวาดรูป แต่ที่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์เพราะว่ายาก แต่ศิลปะเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองและแม่เป็นครูสอนศิลปะด้วยค่ะ”
“คนรอบข้างเขาก็บอกว่า ดูมีชีวิตชีวาทั้งสีหน้า ท่าทางต่าง ๆ การถ่ายทอดแนวคิด Digital Lifestyle ผ่านคาแรกเตอร์ แรบบิท แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองที่มีหูโดดเด่น เปรียบเสมือนคนรุ่นใหม่ที่มีความสนุกสนาน เป็นมิตร สามารถปรับตัวให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลได้ จึงฝ่าด่านผลงานที่ส่งเข้าประกวดมากกว่า 500 ผลงาน จาก 32 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้สำเร็จ” ช่อเล่าถึงจุดเด่นของผลงานที่ได้รางวัลชนะเลิศ