เรื่อง : วรรณวิสา สุภีโส
จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมการกักเก็บน้ำโดยเลียนแบบสับปะรดสี ซึ่งสับปะรดสีไม่ใช่ผลไม้แต่เป็นพืชไม้ประดับ มีลักษณะแผ่นใบแข็งโค้ง กลีบหนางอ เจริญเติบโตช้า ดูแลง่าย ทนแล้งได้ดี ที่สำคัญมีหลุมกักเก็บน้ำ ฝ้ายอธิบายถึงจุดเริ่มต้นว่า “ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง จึงคิดที่จะแก้ปัญหาโดยสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จนเห็นสับปะรดสีที่ปลูกไว้ที่บ้านไม่ได้รดน้ำ มันอยู่ได้ไม่ตาย ส่วนพืชรอบ ๆ ตายหมด พอสังเกตดี ๆ มีน้ำขังอยู่ตรงกลาง เลยสนใจว่าเอ๊ะ ทำไมมีน้ำอยู่ เก็บน้ำได้ยังไง จึงศึกษาโครงสร้างของสับปะรดสีเพื่อเลียนแบบโครงสร้างมาทำเป็นนวัตกรรมกักเก็บน้ำในอากาศ และเพิ่มความชื้นในดินค่ะ”
ขวัญอธิบายวิธีการประดิษฐ์และข้อดีของโมเดลจากแผ่นอะลูมิเนียมว่า “ตัดให้เหมือนต้นสับปะรดสี ประกอบเป็นโมเดลเว้นช่องตรงกลางไว้เพื่อเป็นหลุมกักเก็บน้ำ จากนั้นนำไปปักบนดินรอบต้นพืชเพื่อเพิ่มความชื้น สังเกตได้ว่ามีน้ำมาเกาะบนโมเดลเพราะอากาศเย็นกว่ารอบนอกจึงมีหยดน้ำ และไหลตามรางใบลงสู่พื้นดินค่ะ”
จากการศึกษานวัตกรรมดังกล่าวช่วยแก้ปัญหาในเรื่องภัยแล้ง ลดการขาดรายได้เพราะผลผลิตทางการเกษตรต่ำ พอใช้อุปกรณ์นี้จะทำให้ดินชุ่มชื้น พืชก็สามารถเจริญเติบโตได้ ผลผลิตก็มากขึ้นกว่าช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมาอีกด้วย
ตูนเล่าเสริมว่า “เวลาทั้งหมด 8 เดือน ในการประดิษฐ์ผลงานชิ้นนี้ ทีมของเราวางแผนร่วมกันเสมอ เวลามีปัญหาจะระดมสมองกันเพื่อหาทางออกค่ะ ถ้าเกิดข้อขัดแย้งขึ้น ในทีมจะต้องหาเหตุผลมาสนับสนุนตัวเอง ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุดคือการเลือกหัวข้อ การหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ โชคดีที่มี อ.สุวารี พงศ์ธีระวรรณ และ อ.เฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ให้คำแนะนำ สอนให้คิดเป็นระบบแบบกางปลาคู่กับหมวกหกใบ ทำให้เราเลือกเรื่องที่ดีได้ค่ะ”
“ความภูมิใจที่สุดในชีวิต ในการเดินทางไปประเทศสวีเดนครั้งนี้พวกเราได้รับการดูแลอย่างดีเลยตื่นเต้นมาก พอถึงวันประกาศผลใครจะไปคิดว่าเด็กธรรมดาอย่างพวกเราจะไปยืนบนเวทีโลกได้ เมื่อได้ยินว่า ‘Junior Water Prize Thailand’ รู้สึกดีใจมากที่ได้นำรางวัลมาฝากคนไทยค่ะ” คือความในใจจากทั้งสามคน