เรื่อง : วรรณวิสา สุภีโส
จุดเริ่มต้นของความสำเร็จนี้ เกิดจากการได้เรียนรู้และทดลองทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่วัยเยาว์ ริชชี่เริ่มคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ตั้งแต่เรียนอยู่ ม.ต้น จากการทำตู้ทิ้งขยะแลกเงิน แนวคิดคือการเอาขวดน้ำใส่เข้าไปในเครื่องแล้วทอนเงินออกมา แต่นวัตกรรมที่คนทั่วโลกรู้จักซึ่งทำในช่วง ม.ปลาย ก็คือแผ่นหลังคาเปลี่ยนสีได้ เมื่อโดนความร้อน แสงแดด หรือว่าไฟฟ้า ปัจจุบันสามารถทำให้โปร่งแสงและผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วย ริชชี่เล่าว่า “เริ่มต้นการประกวดเป็นการบริหารธุรกิจเล็ก ๆ โดยผมเอาโครงงานวิทยาศาสตร์มาทำเป็นธุรกิจ ตอนนั้นผมได้ที่ 4 จากทั้งหมด 110 โครงงาน ซึ่งเป็นเด็กมหา’ลัยทั้งหมด ผมเป็นคนเดียวที่อยู่ชั้น ม.5 ก็ทำเต็มที่ครับ”
ส่วนนวัตกรรมล่าสุด Beernova ริชชี่ให้รายละเอียดถึงนวัตกรรมแบตเตอรี่เพื่ออนาคตว่า
“มีความหนาอยู่ที่ 0.5 ซม. ชาร์ตเร็ว ไร้สาย ความจุ 26,800 มิลลิแอมป์ ซึ่งทางนาซาให้ความสนใจ แถมให้ความรู้ในเรื่องของการชาร์ตแบบไร้สาย และให้โอกาสผมศึกษาต่อต่างประเทศเป็นระยะเวลา 3 เดือนครับ”
ปัจจุบันริชชี่ชายหนุ่มวัย 18 ปี มี 36 โครงงาน และยังเป็นเจ้าของบริษัท ริชชี่ (2016) จำกัด 4 บริษัท ที่มีทั้งในไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ ผลิตนวัตกรรมต่าง ๆ ทั้งหลังคาเปลี่ยนสีได้ วัสดุทดแทนไม้จากกากเบียร์ และแบตเตอรี่สำรองไร้สาย เพื่อส่งออกต่างประเทศ โดยนำเงินรางวัลจากการประกวดต่าง ๆ เหล่านี้มาเป็นทุนในการก่อตั้งบริษัท ซึ่งได้ผลการตอบรับที่ดี ส่วนหนึ่งมาจากกำลังใจและได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
“การประกวดให้ประสบการณ์ครับ ทั้งคำแนะนำ คำติชมของคณะกรรมการจากหลาย ๆ การแข่งขัน ที่จะสามารถปรับปรุงโครงงานของเราให้ติดอันดับโลกได้ สิ่งที่ผมต้องการที่สุดในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ทั้งหมดคือ ดังระดับโลก และเป็นนวัตกรรมในนามของคนไทย ให้ทั้งโลกรู้ว่านวัตกรรมของคนไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลกครับ”
ไม่เพียงแต่ล่ารางวัลเท่านั้น ริชชี่ยังแนะนำเทคนิคเรื่องการเรียนและแบ่งเวลาว่า “ผมทำงานหนักกว่าคนอื่นสามถึงสี่เท่า ทั้งธุรกิจ เรียน และงานประกวด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการแบ่งเวลา ทุก ๆ อย่างที่ผมทำถ้าเราแบ่งเวลาได้อย่างพอดี มันก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพราะทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน”