เรื่อง : วรรณวิสา สุภีโส
เตาชีวมวลไฮบริด ช่วยลดมลภาวะของโลก โดยใช้เวลาในการสร้างผลงานราวสองปีต่อยอดจากรุ่นพี่ จัมโบ้เล่าถึงคอนเซ็ปต์ผลงานว่า “การเปลี่ยนจากเศษที่เหลือจากการเกษตรมาใช้ประโยชน์ แถวหนองคายจะมีการทำเกษตรเป็นส่วนมาก เดินไปไหนมาไหนจะเจอเศษกิ่งไม้ ใบหญ้า ที่เขาตัดแล้วทิ้งไว้ ก็เลยมาถาม อ.สิทธิไชย สิงห์มหาไชย ว่าจะทำอย่างไรให้ของพวกนี้ไม่ไร้ประโยชน์ ทำให้คิดถึงเตาชีวมวลเพราะในชีวมวลมันมีพลังงานจากที่มันยังอยู่บนต้น ทำการสังเคราะห์ด้วยแสงแล้วเก็บพลังงานไว้ โดยวิธีการทำงานของมัน ขั้นแรกนำชีวมวลมาใส่ในเตา การเผาจะเป็นการเผาในที่อับเพื่อที่จะได้ควัน ให้มีออกซิเจนเข้าไปเพื่อให้การเผาสมบูรณ์ที่สุด พอการเผาสมบูรณ์มันก็จะเป็นแก๊ส เหมือนกับแก๊สแอลพีจีเลยครับ”
ในส่วนของขั้นตอนการทำเตานั้นจัมโบ้อธิบายว่า “การประกอบตัวเตาขนาดใกล้เคียงแก๊สปิกนิก แต่จะสูงขึ้นมานิดหนึ่ง แล้วเพิ่มแท่งเหล็กขึ้นมาเพื่อเก็บชีวมวล ใช้เหล็กที่มีการทนความร้อนได้สูง ซึ่งตัวแรกใช้เหล็กที่อยู่ในกาต้มน้ำร้อนประกอบเข้ามา แล้วมีเทอร์โมอิเล็กทริกส์ อยู่ในนั้นสี่ตัวเพื่อแปลงพลังงานความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้า ตัวฐานใช้เหมือนตัวแก๊สแอลพีจี ให้มีหน้าตาที่สวยงามคล้ายกับเตาแอลพีจีมากที่สุด จุดเด่นคือ ความเป็นไฮบริดเพราะว่าใช้พลังงานจากตัวมันเอง เมื่อได้ความร้อนจากการเผาชีวมวลแล้วจะแปรความร้อนด้วยเทอร์โมอิเล็กทริกส์ เพื่อส่งไปเลี้ยงพัดลมที่มีออกซิเจน อีกจุดคือแปลงพลังงานไฟฟ้าเข้าไปที่บูสเตอร์
เพื่อแปลงพลังงานห้าโวลต์ ใช้ชาร์ตแบตเตอรี่สำรองหรือโทรศัพท์ได้ อัตราการเผาไหม้แกลบอยู่ได้สามสิบนาที แต่เชื้อเพลิงอัดเม็ดจะได้อยู่ที่สามชั่วโมงต่อหนึ่งกิโลกรัม เพราะว่าข้างในมีออกซิเจนน้อย ถ้าเผาในที่ที่มีออกซิเจนน้อยจะทำให้การเผาช้าลงได้จำนวนแก๊สที่เยอะเหมือนเดิม”
ความยากของการทำผลงานชิ้นนี้สำหรับจัมโบ้ คือการทำอย่างไรให้เตาชีวมวลเข้าไปอยู่ในชุมชนแล้วคนในชุมชนได้ใช้ จัมโบ้เล่าถึงบรรยากาศในงานที่ไปประกวดว่า “ผมเป็นเด็กบ้านนอก พูดภาษาอีสานแล้วต้องไปพูดภาษาอังกฤษนำเสนองาน มันรวมทุกอย่างทั้งความตื่นเต้น ความกดดัน พอพูดได้แต่ไม่เก่งมากต้องท่องเอา อาจารย์ช่วยก็เลยผ่านไปได้ ก่อนไปมีเวลาเตรียมตัวอยู่สองสามเดือนเกือบจะเตรียมตัวไม่ทันเหมือนกันครับ แต่ภูมิใจแล้วก็ดีใจ เพราะว่าทีมงานทุกคนทุ่มเท คนอื่นปิดเทอมแต่ผมไม่ได้ปิดเทอม ต้องมาทำเตา มาแก้ไขปัญหาให้ผลงานออกมาสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งรางวัลที่ได้รับคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป”
“การลดมลภาวะต่าง ๆ ให้กับโลก เป็นประโยชน์ต่อสังคมเพราะเศษชีวมวลถ้าไม่เผาปล่อยทิ้งไว้มันก็จะเกิดแก๊สลอยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศโลก ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกิดภาวะโลกร้อน ที่นี่ถ้านำมาเข้ากระบวนการ
ก็จะลดปัญหาได้” คือข้อดีหลัก ๆ ของเตาชีวมวลที่จัมโบ้ยกขึ้นมา
แต่ถึงจะได้รางวัลมาแล้วยังมีสิ่งที่อยากพัฒนาต่อไปอีกจัมโบ้บอกว่า “อยากพัฒนาเรื่องหน้าตาของเตา พัฒนาเอาเตาไปใช้ในชุมชนเพราะว่ารางวัลไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เราคาดหวังแค่ว่าให้เตาชีวมวลไฮบริดของเราได้เข้าไปใช้ในชุมชน จริง ๆ ไม่ใช่แค่เอามาตั้งโชว์”