Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

portfolio : เพราะบ้านของเธอ...คือบ้านของฉัน

Posted By Plook Magazine | 27 ต.ค. 58
3,731 Views

  Favorite

 

 

งานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
งานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม


ปัญหาแหล่งปะการังเสื่อมโทรมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย เช่นเดียวกับบริเวณแหลมแสมสาร สัตหีบ จังหวัดชลบุรี บ้านเกิดของ มาม่า-สิทธิพงศ์ ท่าพิมาย ต่อ-เกียรติศักดิ์ พระโพธิ์ และ ออมสิน-ญาณวร ชื่นชม นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนพลูตาหลวงวิทยา อ.สัตหีบ

ทั้งสามร่วมมือกันหาวิธีฟื้นฟูและขยายพันธุ์ปะการัง ด้วยความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำประโยชน์ให้กับท้องทะเลท้องถิ่น



ด้วยคำแนะนำอย่างใกล้ชิดของ อ.ดำรงค์ สุภาษิต อ.สุนันท์ พุทธภูมิ ในฐานะครูที่ปรึกษา ตลอดจน อ.มณเฑียร ส่งเสริม นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ไอเดียเล็ก ๆ ของเด็กในชุมนุมวิทยาศาสตร์ทางทะเลจึงต่อยอดเป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “การพัฒนาอุปกรณ์เรือนแหวน 2 สำหรับการขยายพันธุ์ปะการังเขากวาง (Acropora sp.) แบบย้ายปลูก” จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ระดับมัธยมศึกษา ในการประกวดงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ระดับโรงเรียน ประจำปี 2558 จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
 

 

งานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
งานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม


“ตอนที่เราเข้าชุมนุมวิทยาศาสตร์ทางทะเลใหม่ ๆ ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับแนวปะการัง และได้รับข้อมูลเรื่องความเสื่อมโทรมแนวปะการัง ทำให้พวกผมเกิดแรงบันดาลใจ รวมตัวเป็นกลุ่มทำงานวิจัย เราคิดกันว่าจะทำยังไงให้ปะการังขยายพันธุ์ได้มากที่สุด” ต่อเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น

ออมสินเปิดเผยว่าทั้งสามคนต้องเรียนดำน้ำแบบผิวน้ำ (skin diving) และดำน้ำลึก (scuba) เพื่อออกไปศึกษาแนวปะการังรอบ ๆ ว่าบริเวณใดมีแนวปะการังบ้าง มีสภาพสมบูรณ์แค่ไหน และบริเวณใดเป็นพื้นที่ว่าง ซึ่งจะกลายเป็นพื้นที่ทดลองต่อไป “และก็ไปเจอปัญหาในทะเลว่าทำไมเราไม่ปลูกปะการังแบบใหม่ ทำไมปลูกแต่แบบเดิม ๆ ที่มีอัตราการรอดชีวิตต่ำ เลยเกิดเป็นงานวิจัยขึ้นมาครับ”

 

 

งานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
งานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม


 

วัตถุประสงค์ของงานวิจัยจึงเป็นไปเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ยึดเกาะให้มีความเหมาะสมในการย้ายปลูกปะการังเขากวาง ด้วยกิ่งพันธุ์ปะการังขนาดความยาว 2 เซนติเมตร และศึกษาความสัมพันธ์ของสมบัติทางกายภาพของน้ำทะเลกับอัตราการรอดชีวิตของปะการังที่ขยายพันธุ์ ซึ่งอุปกรณ์เรือนแหวน 2 ได้พัฒนาและแก้ไขจุดบกพร่องจากอุปกรณ์ตอหมุด 94 และเรือนแหวน 1 เป็นวิธีขยายพันธุ์ปะการังแบบย้ายปลูก ช่วยให้อัตราการรอดชีวิตของกิ่งพันธุ์ปะการังสูงขึ้น

ถึงแม้ว่างานวิจัยครั้งนี้จะสามารถเพิ่มจำนวนกิ่งพันธุ์ปะการังได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าเราไม่ช่วยกันดูแลรักษาปะการังก็อาจสูญพันธุ์ในที่สุด

“ถ้าปะการังเสื่อมโทรม ปัญหานี้มีปัจจัยที่เห็นได้ชัดคือมนุษย์ วิธีป้องกันก็คือรณรงค์ไม่จับปลาในแนวปะการัง ห้ามระเบิดปลา ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้บ้านของเรา สำหรับนักท่องเที่ยว ถ้าไปดูแนวปะการังก็อย่าไปจับไปเหยียบ ดูได้แต่ตาเฉย ๆ และเวลาไปเที่ยวทะเลตรงที่เราไปเหยียบอาจไม่มีแนวปะการัง แต่ถ้าทิ้งขยะลงไป ขยะเหล่านี้ก็จะลอยไปตามแนวกระแสคลื่นส่งผลต่อปะการังได้ครับ” มาม่าทิ้งท้าย

 

 

เรื่อง : กัลยาณี แนวเล็ก

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow