โดยปกติแล้วเด็กจะมีอัตราการเจริญเติบโตตามช่วงวัย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตว่าส่วนสูงของลูกเพิ่มขึ้นเป็นไปตามเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อความสูง มีดังนี้
ร่างกายของเด็กจะสูงเร็วที่สุดมีอยู่ 2 ช่วง คือ ตอนแรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปี และช่วงวัยรุ่นอายุเริ่มตั้งแต่ 9 -14 ปี เด็กในสองช่วงนี้จะมีความสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกตัวสูงควรรีบบำรุงให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก
เด็กควรได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ให้จัดสัดส่วนอย่างเหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอต่อวัน เน้นอาหารที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูก อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม เนื้อสัตว์จำพวกปลา ผักผลไม้
การเกิดโรคภัยไข้เจ็บบางชนิดก็ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กเช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของลูก พยายามป้องกันไม่ให้ลูกเจ็บป่วยด้วยการดูแลใส่ใจทั้งเรื่องอาหารการกิน ความเป็นอยู่ ให้ถูกสุขลักษณะเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ
ควรพาลูกเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม และนอนหลับอย่างน้อย 8 - 9 ชั่วโมง สำหรับเด็กเล็กควรนอนหลับ 10 - 13 ชั่วโมงต่อคืน เนื่องจากขณะที่นอนหลับสนิทร่างกายจะผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการเจริญเติบโต และในเด็กวัย 1 ปีขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกหลับยาวในช่วงเวลากลางคืน ควรงดนมมื้อดึกและควรให้นอนแต่หัวค่ำเพื่อให้โกรทฮอร์โมนหลั่งออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มมวลกระดูก เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก ควรเลือกกิจกรรมที่มีแรงกระแทกจากการกระโดด ซึ่งเป็นเหมือนการกระตุ้นข้อต่อกระดูกให้มีการยืดตัวขึ้น เพิ่มความยาวของกระดูกสันหลัง หรือกิจกรรมเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกาย เช่น การเล่นบาสเกตบอล กระโดดเชือก ว่ายน้ำ และควรออกกำลังกายเป็นประจำ ใช้เวลาอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที
เพราะความเครียดก็ส่งผลให้การเติบโตของเด็กหยุดชะงักลงได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นพูดคุยเล่นกับลูก และสร้างรอยยิ้มให้กันและกันอยู่เสมอ การได้รับความอบอุ่นในครอบครัวจะทำให้เด็กมีอารมณ์ดี สุขภาพจิตที่ดี ส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตที่ดีของร่างกายเช่นกัน