Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประติมากรรมประดับพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ (ตอนที่ ๒)

Posted By Plookpedia | 28 ก.พ. 60
12,394 Views

  Favorite

ความหมายของประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ

ประติมากรรมสัตว์หิมพานต์

สัตว์หิมพานต์เป็นสัตว์ที่มีลักษณะพิเศษ อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากเรื่องราวในคัมภีร์ทั้งหลาย โดยได้รับอิทธิพลทั้งจากศาสนาพราหมณ์ ฮินดูและพุทธปะปนกัน สัตว์น้อยใหญ่ในป่าแห่งนี้ ล้วนแล้วแต่มีอิทธิฤทธิ์แกร่งกล้า และยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ของสัตว์ ๔ เท้า สัตว์ ๒ เท้า และสัตว์ประเภทปลา    

 

Pinterest
จิตรกรรมฝาผนังที่มีรูปสัตว์หิมพานต์ในวัดสุทัศนเทพวรารามจาก, Pinterest

 

Pinterest
ภาพสัตว์หิมพานต์จาก, Pinterest

 

สัตว์หิมพานต์ มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ การสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ เพื่อถวายพระเพลิงตามแบบแผนโบราณราชประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น ในอดีตมีการผูกหุ่นเป็นรูปสัตว์หิมพานต์ขนาดใหญ่ยืนอยู่บนแท่น มีล้อเลื่อนสำหรับจูงลากเข้าขบวนแห่พระบรมศพและพระศพไปยังพระเมรุมาศ บนหลังสัตว์ทุกตัวจะมีบุษบกสำหรับวางผ้าไตรอัญเชิญไปใช้ในพระราชพิธี  เมื่อขบวนเคลื่อนเข้าสู่มณฑลพระเมรุแล้วจึงตั้งรูปสัตว์หิมพานต์ทั้งหลายให้เรียงรายล้อมรอบพระเมรุมาศ เปรียบเสมือนสัตว์หิมพานต์ที่อาศัยอยู่ ณ เชิงเขาพระสุเมรุนั่นเอง ปัจจุบันมีการสร้างรูปสัตว์หิมพานต์ประดับไว้รายรอบพระเมรุมาศแทนการเข้าขบวนแห่ เพื่อลดขั้นตอนของการประกอบพิธีกรรมให้กระชับมากยิ่งขึ้น

 

http://www.matichon.co.th/news/388106
ภาพกระบวนอัญเชิญพระบรมศพไปสู่พระเมรุมาศ จาก, http://www.matichon.co.th/news/388106

 

http://www.matichon.co.th/news/388106
สัตว์หิมพานต์ในริ้วกระบวนมีจำนวน ๙ คู่ ตามลำดับ คือ อินทรี แรด เสือ สิงห์ กิเลน สิงโต ราชสีห์ คชสีห์ และกินรี จาก, http://www.matichon.co.th/news/388106

ภาพวาดบันทึกเหตุการณ์พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเพทราชา เขียนขึ้นในสมัยอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๔๗ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารสยามสมาคม ฉบับที่ ๑๐๔ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ (The Journal of the Siam Society. Volume 104, 2016)

•สัตว์มงคลประจำทิศ 

ในป่าหิมพานต์แถวแถวสระอโนดาต สายน้ำจากสระอโนดาตจะไหลออกจากปากสัตว์มงคลทั้งสี่ทิศ ไหลเวียนขวา ๓ รอบ ก่อนไหลลงสู่มหานทีสีทันดร (ทะเลที่ล้อมรอบจักรวาล) ไปหล่อเลี้ยงยังดินแดนต่าง ๆ และโลกมนุษย์ประติมากรรมประดับทางขึ้นบันไดชั้นล่างสุดหรือลานพื้นอุตราวรรต คือ ช้าง ม้า โค สิงห์ ที่อาศัยอยู่

•สัตว์ประดับชั้นชาลาที่ ๑

 ประติมากรรมเฝ้าบันไดในชั้นชาลาที่ ๑ เป็นสัตว์หิมพานต์ประเภทสิงห์ ดูสง่างามและน่าเกรงขาม ประกอบไปด้วยราชสีห์และคชสีห์ยืนคู่กันด้านละ ๑ คู่ ทั้ง ๔ ทิศ ของพระเมรุมาศ

•ราชสีห์ เป็นสัตว์ที่มีพลังกำลังสูง มีอยู่ด้วยกัน ๔ ชนิด คือ 

              •บัณฑราชสีห์  มีผิวกายสีเหลืองและ เป็นสัตว์กินเนื้อ บัณฑุราชสีห์จัดได้ว่าเป็นสัตว์นักล่าขนาดใหญ่สัตว์ ที่ถูกล่า มีตั้งแต่สัตว์ประเภทกวาง ควาย ช้าง หรือแม้แต่มนุษย์

            •กาฬสีหะ  เป็นราชสีห์ที่กินพืชเป็นอาหารเท่านั้น  มีกายดำสนิท และใหญ่ราวโคหนุ่ม มีเสียงคำราม อันทรงพลัง

            •กรสรราชสีห์  เป็นสัตว์ทรงพลัง กายเป็นสิงห์ มีขนแผงคอ ริมฝีปาก ขนหาง และเล็บเป็น สีแดงดั่งผ้ารัตนกัมพล เป็นนักล่าชั้นเยี่ยมและกินสัตว์ใหญ่น้่อยเป็นอาหาร

            •ติณสีหะ ติณสีหะมีกายสีแดง เป็นราชสีห์อีกชนิดที่กินแต่พืชเป็นอาหาร ลักษณะเด่นอีกอย่างของ ติณสีหะคือมีเท้าเป็นกีบแบบม้า

•คชสีห์ เป็นสิงห์ผสม คือ สัตว์ประสมที่มีลักษณะของราชสีห์กับช้าง

โดยมีกายเป็นสิงห์และมีหัวเป็นช้าง มีพละกำลังเทียบเท่าช้างกับสิงห์รวมกันและมีความน่าเกรงขาม อดีตในราชสำนักตั้งแต่สมัยอยุธยาได้นำตรารูปสัตว์หิมพานต์มาใช้เป็นสัญลักษณ์ตราประจำตำแหน่งของเสนาบดีและหมวดงานตกทอดมาถึงยุครัตนโกสินทร์ ในคติไทยนั้นถือว่าช้างเป็นสัตว์ประจำชาติใช้ในราชสงคราม ดังนั้นตราคชสีห์จึงสอดคล้องกับข้าราชการที่ออกสงคราม ซึ่งหมายถึงทหารนั่นเอง ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ตราคชสีห์ เป็นตราสัญลักษณ์ของสมุหกลาโหม บังคับหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งปวงเป็นสัญลักษณ์ของทหารหาญผู้รักษาราชบัลลังก์ และผู้ปกป้องผืนแผ่นดิน

 
http://www.matichon.co.th/news/442959
ประติมากรรมต้นแบบรูปคชสีห์ประดับพระเมรุมาศ จาก, http://www.matichon.co.th/news/442959

•สัตว์ประดับราวบันได

บนพระเมรุมาศนี้จะมีทั้งบันไดนาคหนึ่งเศียร  นาคสามเศียรรูปแบบมกร นาคมีเศียรทรงเครื่องสวมยอดมงกุฎ และนาคจำแลงเป็นมนุษย์ มีใบหน้าเหมือนคน แต่ตัวเป็นนาค  

•นาค หรือ พญานาค

มีลักษณะเป็นงูใหญ่มีหงอน เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ และยังเป็นสัญลักษณ์ของบันไดสายรุ้งสู่สวรรค์ เราจึงมักพบประติมากรรมนาคในรูปแบบของบันไดตามศาสนสถาน  เป็นความหมายการเดินทางไปสู่แดนสวรรค์นั่นเอง นาคนั้นมีรูปลักษณ์หลายแบบ โดยนาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว แต่ยิ่งอยู่ในตระกูลที่สูง จำนวนเศียรที่มากขึ้น สามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียรและเก้าเศียร นาคจำพวกนี้จะสืบเชื้อสายมาจากอนันตนาคราช ผู้เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์อยู่ ณ เกษียรสมุทร

•มกรคายนาค

มกรเป็นสัตว์หิมพานต์ ลักษณะจะผสมกันระหว่างจระเข้กับพญานาค กล่าวคือ มีลำตัวยาวเหยียดคล้าย กับพญานาค แต่มีขายื่นออกมาจากลำตัว และส่วนหัวที่คายพญานาคออกมานั้นเป็นปากจระเข้ คนโบราณจึงมักนำไปเฝ้าอยู่ตามเชิงบันไดวัด มกรมีหน้าที่เฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ให้คนขึ้นไปรบกวนทวยเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนสวรรค์  อาทิ พระธาตุ โบสถ์ วิหาร ที่สื่อว่าเป็นเขาพระสุเมรุ ตามคติจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ มกรคายนาคบนพระเมรุมาศนี้จะประกอบด้วยหัวสัตว์ ๕ ชนิดคือ ช้าง จระเข้ กวาง สิงห์ งูหรือมังกร

•ครุฑ    

ครุฑ เป็นพญานกที่มีรูปครึ่งมนุษย์ ครึ่งนกอินทรี เป็นสัตว์หิมพานต์ที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เมื่อคนไทยได้ผนวกเอาความเชื่อ ความศรัทธาในพญาครุฑเข้ากับสถาบันกษัตริย์ ตามคติเทวราชาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่ว่าพระมหากษัตริย์คือพระนารายณ์จุติลงมาเป็นสมมติเทพ เพื่อปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข โดยมีพญาครุฑเป็นพระพาหนะคอยติดตามไปทุกหนแห่ง พญาครุฑจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล ฯลฯ เราจึงมักพบเห็นพญาครุฑอยู่ในทุกที่ ที่องค์กษัตริย์ทรงประทับอยู่ โดยพระเมรุมาศนั้นจะพบประติมากรรมครุฑอยู่รายรอบ และโคมหัวเสาที่ประดับอยู่ทั้งหมด จะเปลี่ยนจาก “เสาหงส์” ตามธรรมเนียมเดิม มาเป็น “ครุฑ” ซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์แทน

•ครุฑยุดนาค

ประติมากรรมรูปครุฑที่ประดับรอบท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธานในท่าทางการจับนาคจากทางหัวและทางหางนี้ที่ได้รับการขนานนามว่า “ครุฑยุดนาค” เป็นลักษณะท่าทางที่นิยมพบเห็นกันตามภาพจิตรกรรมฝาผนังและลวดลายประดับสถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา การที่ครุฑคอยโฉบจับนาคขึ้นมากิน ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ฮินดูได้กล่าวไว้ว่าเป็นเหตุสืบเนื่องจากความขัดแย้งแต่เดิมทีที่มารดาของพญานาคใช้เล่ห์เพห์ทุบายทำให้มารดาของพญาครุฑต้องตกเป็นทาสรับใช้แก่ตนยาวนานถึง ๕๐๐ ปี หลังจากพ่ายแพ้สัญญาเมื่อครั้งแข่งกันทายสีขนม้าทรงของพระอาทิตย์ นับแต่นั้นมาครุฑกับนาคจึงเป็นศัตรูกันมาโดยตลอด

 

ประติมากรรมเทพเทวดา

ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่

เป็นเทวดาผู้ยิ่งใหญ่ ๔ องค์ อาศัยอยู่บนสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิก สวรรค์ชั้นแรกที่อยู่เหนือโลกมนุษย์ขึ้นไป ๔๖,๐๐๐ โยชน์ ทำหน้าที่รักษาทุกข์ บำรุงสุขแก่มนุษย์โลกทั้ง ๔ ทิศ และคอยป้องกันภยันอันตรายที่จะเกิดแก่มนุษย์โลกทั้งหลาย  ประกอบด้วย

 

•ท้าวกุเวร ( ท้าวเวสสุวรรณ ) ผู้เป็นใหญ่ด้านทิศเหนือ มียักษ์เป็นบริวาร

•ท้าววิรุฬหก ผู้เป็นใหญ่ด้านทิศใต้ มีกุมภัณฑ์เป็นบริวาร

•ท้าวธตรฎฐ์ ผู้เป็นใหญ่ด้านทิศตะวันออก  มีคนธรรพ์เป็นบริวาร

•ท้าววิรูปักษ์  ผู้เป็นใหญ่ด้านทิศตะวันตก มีนาคเป็นบริวาร

 

http://www.horonumber.com/blog-2123
ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ http://www.horonumber.com/blog-2123

เทวดา 

การสร้างพระเมรุมาศ จะสร้างรูปเทวดาประดับด้วยทั้งที่เป็นรูปปั้นและรูปเขียนตามคติความเชื่อในเรื่องไตรภูมิประกอบยอดเขาพระสุเมรุว่าเป็นที่สถิตของเทวราชและทวยเทพซึ่งเป็นดินแดนสวรรค์ ปรากฏมีทั้งเทวดายืนรอบพระเมรุมาศ โดยเป็นเทวดาถือพุ่มโลหะ (เครื่องบูชาหรือสักการะ ) ๔ องค์  และเทวดาเชิญฉัตร ๗ ชั้น (เครื่องสูงประกอบพระอิสริยยศ) ๘ องค์ และเทวดานั่งรอบพระเมรุ โดยเป็นเทวดาเชิญฉัตรและบังแทรก(เครื่องสูงอย่างหนึ่งสําหรับใช้ในริ้วขบวนพิธีแห่) ๕๖ องค์ เทวดารอบ ๆ เขาพระสุเมรุมีเทวดายืนเชิญฉัตรเครื่องสูง เทวดานั่งถือ บังแทรก เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเทวดาที่อาศัยอยู่รายรอบเขาพระสุเมรุมาส่งเสด็จสู่ สวรรค์ในครั้งนั้นด้วย

เทพชุมนุม

เทพชุมนุมเป็นเหตุการณ์ตอนที่เหล่าเทพยดาทั่วทั้งจักรวาลมารวมตัวกันในวาระสำคัญต่าง ๆ ภาพของเทพชุมนุมมักปรากฏอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังอันเป็นเรื่องราวที่นิยมเขียนตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลายต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งบนพระเมรุมาศนี้จะพบประติมากรรมรูปเทพชุมนุมประดับอยู่รอบฐานท้องไม้พระเมรุมาศ

เทพพนม ประดับรอบท้องไม้พระเมรุมาศ

เทพพนม คือ เทวดาที่นั่งหรือยืนประนมมืออยู่ เพื่อเคารพสักการะองค์กษัตริย์อันเปรียบเป็นสมมติเทพที่กำลังเสด็จสู่แดนสวรรค์นั่นเอง  

มหาเทพ ๔ องค์

พระศิวะ พระวิษณุ พระพระพรหม พระอินทร์ มหาเทพทั้ง ๔ แม้ตามคัมภีร์จะกล่าวถึงที่ประทับของแต่ละองค์ว่าอยู่คนละแห่งกัน แต่เมื่อกษัตริย์ทรงสวรรคต มาเฝ้ารับเสด็จบริเวณทางขึ้นพระจิตกาธาน (แท่นถวายพระเพลิงพระบรมศพบนพระเมรุมาศ)   

พระอินทร์

ในความเชื่อสมัยก่อนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระอินทร์เป็นมหาเทพที่ยิ่งใหญ่เหนือบรรดาเทพทั้งปวง มีหน้าที่ปกป้องดูแลโลก และทรงเป็นแม่ทัพในการทำสงครามระหว่างเทวดากับอสูรในหลายครั้ง แม้ปัจจุบันจะถูกลดบทบาทลงแล้วก็ตาม ส่วนในทางศาสนาพุทธนั้นเชื่อว่าพระอินทร์ คือ ราชาแห่งเทพทั้งปวง ที่สถิตย์ในสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ณ เขาพระสุเมร เป็นผู้รักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่ยืนยงถึง ๕,๐๐๐ ปี และยังสามารถดลบันดาลสั่งฟ้าสั่งฝนได่้

พระศิวะ

หรือ พระอิศวร เป็นหนึ่งในสามของมหาเทพตรีมูรติ เป็นเทพแห่งการทำลายสิ่งชั่วร้าย และบันดาลให้เกิดสิ่งดีงามอันเป็นสิริมงคล ทรงประทับอยู่ ณ เขาไกรลาส บนโลกมนุษย์

พระนารายณ์

หรือ พระนารายณ์ เป็นหนึ่งในสามของมหาเทพตรีมูรติ ที่คอยคุ้มครอง ป้องกัน และรักษาโลกทั้ง 3 ไว้ ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  พระนารายณ์ หรือ พระวิษณุมหาเทพ นั้น ทรงประทับหลับสนิทบนขนดของพระยาอนันตนาคราช ณ เกษียรสมุทร คือทะเลน้ำนม บ้างก็ว่าทรงไสยาสน์อยู่ ณ สะดือทะเล   

พระพรหม

เป็นหนึ่งในสามของมหาเทพตรีมูรติ เป็นเทพเจ้าผู้สร้าง ผู้ลิขิตความเป็นไปของทุกสรรพสิ่ง เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์ทุกคน ส่วนในทางศาสนาพุทธนั้น พระพรหมอยู่ในพรหมโลก ซึ่งมี 16 ชั้น แต่เป็นที่ประทับของพรหมประเภทต่าง ๆ ที่มีแต่จิต หรือมีรูปด้วย 

พระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์  หมายถึง ผู้ที่บำเพ็ญบารมี เพื่อการตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือจะตรัสรู้เป็น พระพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือจะตรัสรู้เป็น พุทธสาวกอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนยอดของพระเมรุมาศจะเป็นประติมากรรม มีรายรอบ โดยผู้สร้างยึดคติตามคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง  

 

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow