Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สรุปจิตวิทยาการดูแลเด็กวัย 0-12 ปี

Posted By ฉันทิดา สนิทนราทร | 20 ก.พ. 60
60,583 Views

  Favorite

            วันนี้ครูแป๋มขอนำเสนอจิตวิทยาการดูแลเด็กวัย 0-12 ปี ตามแนวทางของอีริค อีริคสัน (Erik Erikson) ผู้เป็นนักจิตวิทยาที่คิดทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพของเด็ก และค้นพบว่าเด็กตามช่วงวัยต่าง ๆ นั้นมีการพัฒนาบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งหากผู้เลี้ยงดูมีความเข้าใจพัฒนาการบุคลิกภาพของเด็กได้อย่างถูกต้อง ก็จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสม มีความสุข เกิดการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า พัฒนาการทางบุคลิกภาพของเด็กวัย 0-12 ปีนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

 

ภาพ ShutterStock

 

วัย 0-2 ปี เป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนาความไว้วางใจ
(Sense of Trust VS. Sense of Mistrust)

เมื่อเด็กวัยนี้ได้รับความรัก ความอบอุ่น อาหาร การดูแลเอาใจใส่ที่เหมาะสม เพียงพอ และสม่ำเสมอ เช่น เมื่อหิว ก็มีคนให้นม เมื่อร้องโยเยไม่สบายตัว ก็มีคนมาอุ้ม มาดูแล เมื่อร้องไห้ ก็มีคนคอยปลอบโยน เมื่อขับถ่ายออกมา ก็มีคนดูคอยดูแลทำความสะอาดให้ เด็กก็จะเกิดความเชื่อมั่น ไว้วางใจในตัวคนที่ดูแล และไว้วางใจต่อสภาพแวดล้อมของตน รู้สึกว่าโลกนี้ปลอดภัย สามารถไว้วางใจได้ เกิดความมั่นคงทางใจ ทำให้เด็กมีอารมณ์ดี และมีการปรับตัวที่ดี

แต่ถ้าเด็กในช่วงวัยนี้ไม่ได้รับความรักและการดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอเพียงพอ เด็กจะรู้สึกว้าเหว่ ไม่ไว้วางใจคน ไม่วางใจโลก รู้สึกว่าโลกนี้ไม่ปลอดภัย ทำให้เด็กหวาดระแวง ขี้กลัว รู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ ซึ่งความรู้สึกไม่ไว้ใจ ไม่มั่นคงทางจิตใจนี้ หากไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กในวัยต่อ ๆ มา และทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องการไว้วางใจในที่สุดค่ะ

 

วัย 2-3 ปี เป็นช่วงเวลาของการพัฒนาความเป็นอิสระ ความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเอง
(Sense of Autonomy VS. Sense of Doubt and Shame)

ในช่วงวัยนี้ เด็กจะมีพัฒนาการทางกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น สามารถควบคุมเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น และควบคุมการขับถ่ายของตนได้ดีขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีอิสระที่จะทำในสิ่งที่ต้องการได้ ซึ่งหากเด็กวัยนี้ได้รับอิสระในการสำรวจสิ่งแวดล้อม มีอิสระในการเลือก คิด ตัดสินใจ เช่น การเล่นอิสระที่เด็กเลือกเล่นเอง การฝึกทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ก็จะทำให้เด็กรู้สึกมีอิสระ มีความมั่นใจในความสามารถของตนเอง รู้สึกเป็นตัวของตัวเอง สามารถควบคุมตนเองได้ รู้สึกภาคภูมิใจในความสามารถของตนเอง

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุน ให้โอกาส ให้อิสระแก่เด็กในการทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองภายใต้การดูแลของผู้ปกครองด้วยความรักความเอาใจใส่ อย่างไม่บีบบังคับหรือจู้จี้กับเด็กมากเกินไป  แต่ถ้าหากเด็กไม่ได้รับการสนับสนุนความเป็นอิสระนี้ หรือถูกบังคับควบคุมอย่างเข้มงวดมากเกินไป เด็กก็จะรู้สึกละอาย คับข้องใจ จนอาจมีพฤติกรรมถดถอยเหมือนเบบี๋เล็ก ๆ อีกครั้ง เกิดความสงสัย อับอาย ไม่แน่ใจในความสามารถของตน มีพฤติกรรมยอมตามผู้อื่นเรื่อยไป กลายเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตนเองในที่สุด

 

 

วัย 3-5 ปี เป็นวัยแห่งการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
(Sense of Initiative VS. Sense of Guilt)

เด็กในวัยนี้จะพยายามแสดงความสามารถใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งถ้าเด็กได้รับการส่งเสริมให้มีอิสระและความมั่นใจ ด้วยการให้เด็กได้คิดริเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น แต่งตัวเอง ติดกระดุมเสื้อเอง ส่งเสริมให้เด็กได้เล่น ได้ประดิษฐ์ ได้ฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ได้ริเริ่มสร้างสรรค์การเล่นด้วยตนเอง ก็จะช่วยพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็ก เป็นการฝึกให้เด็กมีความคิดริเริ่ม เป็นผู้นำในการตัดสินใจต่าง ๆ แม้จะพบกับปัญหาหรือความล้มเหลว เด็กก็จะตั้งต้นใหม่ได้เร็ว เพราะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะแก้ไขปัญหา

แต่หากเด็กไม่ได้รับการส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ หรือถูกตำหนิ บังคับ ควบคุมมากจนเกินไป เด็กก็จะเกิดความรู้สึกผิด ไม่กล้าทำอะไรด้วยตนเอง เพราะกลัวทำผิดซ้ำอีก ทำให้เด็กขาดความเป็นผู้นำ ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำสิ่งใหม่ ๆ แสดงความสามารถใหม่ ๆ ออกมาอย่างน่าเสียดายค่ะ

 

วัย 6-12 ปี เป็นช่วงวัยของการพัฒนาความอุตสาหะพยายาม
(Sense of Industry VS. Sense of Inferiority)

ในวัยนี้ หากเด็กได้รับการสนับสนุนให้พยายามทำสิ่งต่าง ๆ จนสำเร็จลุล่วง เช่น ล้างจาน ทำการบ้าน ต่อตัวต่อได้สำเร็จ เด็กก็จะมีความภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกดีต่อตนเอง รวมทั้งเป็นการบ่มเพาะให้เด็กเกิดความพากเพียร ไม่ท้อถอยต่อความยากลำบากหรืออุปสรรคต่าง ๆ ด้วยค่ะ แต่ถ้าเด็กในวัยนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีความเพียรพยายาม ไม่ได้รับกำลังใจ หรือให้ทำงานที่ยากเกินไป เด็กก็จะเกิดความรู้สึกด้อยต่อตนเอง รู้สึกว่าตนเองไม่เก่งพอ หรือไม่ดีพอค่ะ

 

จะเห็นได้ว่า หากมีความเข้าใจในพัฒนาการทางบุคลิกภาพของเด็กแล้ว เราก็จะสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการตามวัยของเด็กได้ดีขึ้น ช่วยพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของเด็กได้มากขึ้น ซึ่งคนที่จะช่วยส่งเสริมได้ดีที่สุด และมีความสำคัญต่อเด็กมากที่สุด ก็คือ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กนั่นเองค่ะ การที่ผู้ปกครองมีความเข้าใจในตัวเด็ก ให้ความรักความเอาใจใส่ ให้การสนับสนุนเด็ก และให้อิสระแก่เด็กอย่างเหมาะสม จึงสามารถช่วยพัฒนาเด็กได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียวค่ะ

 

 

ครูแป๋ม ฉันทิดา สนิทนราทร เวชมงคลกร

นักจิตวิทยาพัฒนาการ & นักเล่นบำบัด

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ฉันทิดา สนิทนราทร
  • 0 Followers
  • Follow