คำว่า "สังฆราช" แปลว่า ราชาของสงฆ์ ราชาของหมู่คณะ สมเด็จพระสังฆราช จึงหมายถึง พระมหาเถระผู้เป็นใหญ่สูงสุดในสังฆมณฑล (วงการคณะสงฆ์) และทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งนี้มีที่มาจากคณะสงฆ์ไทยที่นำแบบอย่างมาจากลัทธิลังกาวงศ์นับแต่สมัยกรุงสุโขทัย เมื่อครั้งที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงอัญเชิญพระเถระผู้ใหญ่จากลังกาที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย
เมื่อตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง กระทรวงศึกษาธิการโดยกรมการศาสนาซึ่งมีอธิบดีเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม (องค์กรบริหารกิจการพระพุทธศาสนาสูงสุดของประเทศไทย) จะรวบรวมพระประวัติและผลงานของสมเด็จพระราชาคณะทุกรูป (สมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทยที่รองจากสมเด็จพระสังฆราช) เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนำเสนอคณะรัฐมนตรีจนผ่านการพิจารณาแล้ว นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ให้โปรดทรงพิจารณาวินิจฉัย สถาปนาพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชตามพระราชอัธยาศัย แล้วจึงมีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะทำการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการต่อไป
๑. ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะ
๒. มีศีลสมาจารวัตรเพียงพร้อม ไม่ด่างพร้อย เป็นที่เคารพสักการะของคณะสงฆ์และประชาชน
๓. ได้บำเพ็ญศาสนกิจเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาและราชอาณาจักรเป็นอย่างมาก ทั้งยังสามารถปฏิบัติภารกิจต่อไปได้
แต่เดิมทีไม่ได้กำหนดวันสำหรับทำพิธีสถาปนาขึ้นเป็นพิเศษ โดยถือเอาวันเฉลิมพระชนมพรรษาหรือวันฉัตรมงคลเป็นวันพิธีสถาปนา ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลาที่กำลังจะมีพิธีสถาปนานั้นอยู่ใกล้กับวันพระราชพิธีใด
ต่อมาเมื่อครั้งทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฎฐายี) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชใน พ.ศ. ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร.๙ ทรงดำริว่าตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา จึงสมควรจัดพิธีสถาปนาขึ้นเป็นพิเศษต่างหาก ไม่ถือเอาวันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือวันฉัตรมงคลเป็นวันสถาปนาเหมือนครั้งในอดีต
นับแต่นั้นมาจะทรงมีพระกระแสรับสั่งให้สำนักพระราชวังจัดพิธีการโดยกำหนดวัน เวลา และรายการตามพระราชประเพณีขึ้น ท่ามกลางสังฆมณฑล ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จากนั้นประกอบพิธีเจริญชัยมงคลคาถา และลั่นระฆังทุกวัดทั่วประเทศในช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายน้ำแด่สมเด็จพระสังฆราชด้วยพระมหาสังข์ทักษิณาวรรต (หอยสังข์ที่เวียนไปทางด้านขวา ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูถือเป็นสิ่งมงคล)
และถวายพระสุพรรณบัฏ คือ “ลานทอง” มีลักษณะเป็นแผ่นทองคำบาง ๆ ทำตามอย่างใบลานที่ใช้ในการจดจารหนังสือและพระธรรมคัมภีร์ โดยนำทองคำไปแผ่ให้มีรูปร่างและความยาวเท่า ๆ กับ ใบลานและจารตัวอักษรเป็นพระนามเต็ม ชื่อพระอารามที่สถิต และข้อความอีกเล็กน้อย พร้อมถวายพระตราตำแหน่ง พัดยศ และเครื่องประกอบสมณศักดิ์ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตามโบราณราชประเพณี
ในอดีตสมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจหน้าที่ในการปกคองคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัยและระเบียบแบบแผนในฐานะที่เป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่สุดของคณะสงฆ์เท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายใด ๆ เกี่ยวกับคณะสงฆ์มารองรับ
ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ อำนาจหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าจึงกลายเป็นอำนาจสูงสุดเด็ดขาด ไม่ขึ้นกับองค์พระมหากษัตริย์ หรือฝ่ายบ้านเมืองอีก ซึ่งตามกฎหมายสมเด็จพระสังฆราชในฐานะสกลมหาสังฆปริณายกนั้น จะทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยพระองค์เองได้ และในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ย่อมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารคณะสงฆ์และกิจการพระศาสนาทั้งหมด