ไวรัสตับอักเสบ เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งไวรัสที่ทำให้เกิดอาการตับอักเสบก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ทั้งไวรัสตับอักเสบ เอ ไวรัสตับอักเสบ บี ไวรัสตับอักเสบ ซี ไปจนถึงไวรัสตับอักเสบ จี จะกล่าวถึงเฉพาะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิด เอ เท่านั้น ซึ่งคือ โรคไวรัสตับอักเสบ เอ (Viral hepatitis A) หรือชื่อเดิมคือ “Infectious hepatitis”
มาทำความรู้จักโรคไวรัสตับอักเสบชนิด เอ กันค่ะว่า อันตรายแค่ไหน มีวัคซีนไหม และมีวิธีป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ อย่างไรบ้าง
ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลกประมาณ 1.4 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะในประเทศยังไม่พัฒนาและกำลังพัฒนา เพราะยังขาดการสาธารณสุขที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องน้ำดื่มและ น้ำใช้เป็นโรคพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดโรคนี้ใกล้เคียงกัน
เชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Hepatitis A Virus (HAV) เป็นไวรัสที่พบได้บ่อยทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากมักจะพบการระบาดของโรคในพื้นที่ที่มีการสุขภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าในพื้นที่ที่มีการสุขาภิบาลดี ก็พบการระบาดของไวรัสตับอักเสบ เอ ได้เช่นกัน ซึ่งก็คาดว่าการถ่ายทอดโรคมักจะเกิดกับคนในครอบครัวเดียวกัน เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ เอ ในระยะเฉียบพลัน หรืออาจเกิดการระบาดในศูนย์เลี้ยงเด็ก ค่ายทหาร เป็นต้น
ภาวะตับอักเสบ เกิดจากเนื้อเยื่อของตับเกิดการอักเสบ โดยอาจจะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ หรือเนื้อเยื่อของตับถูกทำลายจากสารเคมีและยาบางชนิด ทว่าสาเหตุของภาวะตับอักเสบที่พบได้บ่อยมักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งไวรัสที่เป็นตัวก่อโรคอักเสบก็มีหลายชนิดด้วยกัน แต่ไวรัสที่สำคัญและพบการระบาดค่อนข้างบ่อยที่สุดคือ เชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี
ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคติดต่อได้ง่าย จึงมีการระบาดได้ง่าย โดยสามารถติดต่อได้จากการกิน และ/หรือ ดื่ม อาหารและ/หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อนี้อยู่ ซึ่งเชื้อมักอยู่ในอาหารที่ปรุงไม่สุก สุกๆดิบๆ สด อาหารทะเล โดยเฉพาะหอยลวก ปู ผักสด และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะในน้ำแข็ง สามารถติดต่อได้จากระบบทางเดินอาหาร จากการรับประทานอาหาร ดื่มนม หรือน้ำที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งอย่างน้ำลาย หรืออุจจาระของคนที่มีเชื้อโรคนี้ (ไม่ต่างจากการติดต่อของโรคบิด อหิวาต์ และไทฟอยด์)
ดังนั้นหากกินอาหารร่วมกับผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ โดยไม่ใช้ช้อนกลาง หรือแม้กระทั่งดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้หลอดร่วมกันกับผู้มีเชื้อก็อาจติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ รวมไปถึงการติดเชื้อเพราะรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้เตรียมอาหาร ซึ่งเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ เอ ด้วย
ทั้งนี้หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเข้าสู่กระแสโลหิตแล้วต่อไปยังตับ น้ำดี เข้าสู่ลำไส้ ก่อนเชื้อจะปะปนออกมาทางอุจจาระ หากเชื้อนี้ไปปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม คนที่รับประทานเข้าไปก็จะติดโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ต่อไป
เริ่มจากเป็นไข้ตัวร้อน มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน แน่นบริเวณชายโครงขวา มีอาการท้องร่วง ปัสสาวะสีเข้ม มีอุจาระสีซีด และมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองที่เรียกว่าโรคดีซ่าน อาการเหล่านี้มักจะหายภายใน 2 เดือน (ในบางรายก็ใช้เวลาถึง 6 เดือน) โดยอาการมักแสดงหลังจากผู้ป่วยติดเชื้อไปแล้วประมาณ 28 วัน (ช่วงระหว่าง 15 – 50 วัน) อาการในผู้ใหญ่จะแรงกว่าในเด็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจจะมีอาการเพียงบางอย่าง
ระยะแรก เรียกกันว่า ระยะฟักตัวเป็นระยะที่นับตั้งแต่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการของโรคโดยปกติใช้เวลาประมาณ 28 วัน
ระยะสอง จะเกิดอาการทั่วไปที่เรียกว่า Prodome โดยผู้ป่วยจะมีอาการดังที่กล่าวไปแล้วด้านบนแต่จะยังไม่เป็นดีซ่านหรือตัวเหลืองตาเหลือง
ระยะสาม มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ระยะนี้จะเริ่มหลังจากระยะสองประมาณ 10 วัน หลังจากมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองแล้วก็อาจจะมีไข้อีก 2 – 3 วัน ในช่วงที่มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง จะไม่พบเชื้อในกระแสเลือด แต่สามารถพบในอุจจาระ และยังสามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้อีก 2 – 3 อาทิตย์
ระยะสี่ เป็นระยะฟื้นตัว การฟื้นตัวหลังจากเป็นไวรัสตับอักเสบเอมักจะช้า แต่ส่วนใหญ่ก็หายขาดโดยไม่มีโรคแทรกซ้อน และไม่เป็นโรคเรื้อรัง ในขณะเป็นโรคเมื่อไปหาแพทย์เพื่อตรวจ มักจะพบว่ามีอาการ ตับ ม้ามโต และมีอาการดีซ่าน นอกจากนี้ร้อยละ 10 -15 ก็จะมีอาการกำเริบขึ้นมาอีกครั้งในระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่เกิดอาการตับอักเสบ และอาจเกิดแทรกซ้อนที่สำคัญและอันตรายคือตับวาย ซึ่งพบได้น้อยมาก (ร้อยละ 0.5 เท่านั้น)
โดยส่วนมากแล้วผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบชนิด เอ มักจะมีอาการเล็กน้อยและภูมิต้านทานในร่างกายสามารถรักษาอาการให้หายได้เอง แพทย์จึงอาจทำแค่เพียงประคับประคองอาการของผู้ป่วยไป เช่น ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ลดอาหารมัน ๆ แอลกอฮอล์ และให้ดื่มน้ำหวานเพื่อป้องกันภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมทั้งเฝ้าระวังภาวะเลือดออกและภาวะตับวาย เป็นต้น
1. ควรรักษาสุขอนามัยทั้งของตนเอง ที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว
2. หมั่นล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
3. ควรรับประทานอาหารที่ทำสุกสะอาด ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำที่สะอาด ถ้าไม่แน่ใจให้อุ่นหรือต้มจนน้ำเดือดนานเกิน 1 นาที หรืออุ่นร้อนอาหารและน้ำด้วยไมโครเวฟ
4. ในสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรมีมาตรการเข้มงวดเพื่อลดโอกาสการติดต่อทางอุจจาระสู่ปาก โดยเน้นให้ล้างมือทุกครั้งหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมและก่อนรับประทานอาหาร
5. หอยนางรม หอยกาบ และสัตว์น้ำจำพวกมีเปลือก ก่อนรับประทานควรทำให้สุกด้วยความร้อน ระดับ 85-90 องศาเซลเซียส นาน 4 นาที หรือนึ่งภายใต้ความดัน 90 วินาที
วิธีป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ อีกทางหนึ่งที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ นั่นเอง โดยไวรัสตัวนี้ทำมาจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้วและหมดความสามารถในการก่อโรค เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปจึงเปรียบเสมือนตัวต้านทานไวรัสตับอักเสบ เอ ที่ยังเปี่ยมเชื้อก่อโรคได้
ทั้งนี้ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนตับอักเสบ เอ ได้แก่ ผู้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับรุนแรง เช่น ผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง นอกจากนี้ผู้ที่ทำหน้าที่ประกอบอาหาร ผู้ที่อาศัยในที่แออัด และผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคสูงก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิด เอ จำนวน 2 ครั้ง โดยทิ้งห่างกัน 6-12 เดือน
ส่วนการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ ในเด็ก สามารถให้ได้ในเด็กอายุ 12 เดือนขึ้นไป โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน ทว่าในคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันโรคก่อน หากพบว่ามีภูมิคุ้มกันแล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนก็ได้ แต่หากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน จะฉีดก็ตามสบายเลย อ้อ ! แต่บอกไว้ก่อนนะคะว่าวัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ ยังไม่ได้อยู่ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นผู้ที่ประสงค์จะรับวัคซีนนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง