‘การศึกษา’ เป็นเสมือนบันไดที่จะนำเราไปสู่โลกแห่งการทำงานอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาซึ่งเทียบกับเข็มทิศนำชีวิตเลยก็ว่าได้ สังเกตได้จากการรับสมัครงานแต่ละองค์กรที่มักจะระบุสายอาชีพหรือคณะที่ต้องการไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นน้อง ๆ ที่อยู่ในวัยศึกษาต่อระดับมหาลัยจึงควรคิดให้รอบคอบก่อนลงสมัคร ปัญหาใหญ่อีกประการคือ ความต้องการของเด็กมักไม่ตรงกับพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง หลายครั้งที่เด็กต้องเลือกคณะศึกษาต่อตามความต้องการของผู้ใหญ่ ซึ่งก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันออกไป หากน้อง ๆ กำลังประสบปัญหานี้อยู่ล่ะก็ลองมาดู 5 สเต็ปที่ควรทำ เมื่อโดนบังคับให้เรียนต่อในคณะที่ไม่ชอบ
แน่นอนว่าการเลือกศึกษาต่อตามคณะนั้น ๆ ต้องวางแผนชีวิตในอนาคตไว้อยู่แล้ว เช่นคณะมนุษยศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่อัดแน่นไปด้วยโปรแกรมภาษาต่างประเทศ หลังจบการศึกษาคุณสามารถทำงานหลายสาขาอาชีพที่จำเป็นต้องใช้ความสามารถด้านภาษา เป็นต้น
คำแนะนำ ให้เล่าถึงความก้าวหน้าในอาชีพ เช่นการยกตัวอย่างอาชีพเด็ด ๆ ที่คิดว่าผู้ปกครองจะเห็นชอบด้วย เทคนิคง่าย ๆ ก่อนจบการศึกษาระดับม.ปลาย ควรหาโอกาสเล่าความฝันในอนาคตให้ผู้ปกครองฟัง เช่น อยากเห็นตัวเองในอนาคตเป็นแบบไหน และในอนาคตจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เป็นต้น ถึงแม้วิธีนี้อาจใช้เวลามากหน่อย (ประมาณ 3 - 6 เดือน ก่อนจบม.ปลาย) แต่รับรองว่าเปอร์เซ็นความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจแน่นอน เพราะพ่อแม่ หรือผู้ปกครองล้วนอยากเห็นลูก ๆ มีความสุขในอนาคตอยู่แล้ว ถ้าพวกท่านเห็นความมุ่งมั่นที่มีมานานล่ะก็ รับรองว่าต้องใจอ่อนแน่นอน
เคล็ดลับนี้ถือเป็นเทคนิคเสริมหลักจากการเจรจารอบแรกไม่เป็นผล สาเหตุอาจเพราะยังไม่ทำให้พ่อแม่ หรือผู้ปกครองเห็นภาพแห่งความสำเร็จ หรือความพยายามมากพอนั่นเอง
คำแนะนำ ให้หาข้อมูลของคณะหรือสาขาที่ต้องการศึกษาแบบจัดเต็ม เช่น จบไปแล้วทำงานสายไหนได้บ้าง ภายในคณะหรือสาขาวิชาสามารถโยกย้ายหน่วยกิตไปสาขาใกล้เคียงสาขาไหนได้อีก เป็นต้น เชื่อเถอะว่า หากหาเอกสารหรือข้อมูลให้พวกท่านพิจารณาอย่างเดียว จะเจอคำถามย้อนกลับมาแน่นอน ตัวอย่างเช่น แล้วถ้าเรียนไม่ไหวล่ะ ต้องเสียเวลาไปฟรี ๆ ใช่มั๊ย เป็นต้น ดังนั้นตั้งรับไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย
หลังจากผ่านด่านคำถามหรือเหตุผลจากพวกท่านมาหลายด่านก็อย่าเพิ่งท้อจนถอดใจไป ให้หาเครื่องมือขยายภาพแห่งความสำเร็จของเราให้กว้างขึ้นอีก เพื่อให้พวกท่านสามารถเข้าใจและจินตนาการความสำเร็จของเราได้อย่างชัดเจน
คำแนะนำ ให้หาเอกสารการรับสมัครงานหรือเปิดจากเว็บไซต์และเน้นให้พวกท่านเห็นถึงจำนวนเงินเดือนที่จะได้ในอนาคต แนะนำให้หาตำแหน่งงานที่มีประสบการณ์เพราะเงินเดือนจะสูงกว่าตำแหน่งสำหรับนักศึกษาจบใหม่ เน้นรายได้ที่เยอะ ๆ เข้าไว้ เทคนิคนี้จะทำให้พ่อแม่ หรือผู้ปกครองต้องกลับไปคิดใหม่แน่นอน เคล็ดลับง่าย ๆ อีกนิด ถ้าพวกท่านเงียบไป ให้ทยอยหาตัวอย่างมาให้พวกท่านรับรู้เรื่อย ๆ เพราะการเงียบก็เหมือนความสำเร็จในการเจรจาอีกขั้นเลยทีเดียว
หากมาถึงขั้นนี้ได้ แสดงว่าต้องลองมาทุกกระบวนเทคนิคแล้ว และก็แสดงว่าพ่อแม่ หรือผู้ปกครองต้องเป็นนักเจรจาต่อรองตัวยงเลยทีเดียว ดังนั้นการถอยมาตั้งหลักจึงเป็นการพักยกที่ดีที่สุด แต่ก็ใช่ว่าจะยอมแพ้หนิ ใช่มั๊ย?
คำแนะนำ หลังจากที่เลิกเซ้าซี้ พวกท่านคงคิดว่าคุณยอมจำนนแน่นอนแล้ว ขั้นต่อไปให้เราปฏิบัติตามที่พวกท่านต้องการ เช่น หากพวกท่านต้องการให้สอบเข้าคณะนี้ หรือคณะนั้นก็ทำตามไป แต่ใครจะรู้ผลลัพท์ล่ะ เราแนะนำให้ลองพยายามเต็มที่ซะก่อน บางครั้งสิ่งที่พวกท่านเลือกอาจเหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่เราอาจมองไม่เห็นของตนเองก็เป็นได้ ปัจจัยที่จะทำให้ทราบว่าเราสามารถก้าวเดินต่อไปได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ข้อสอบนั่นแหละ ถ้าลองทำแล้วเข้าใจหรือไม่รู้สึกกดดันก็อาจแสดงว่าเราเข้ากับสาขาวิชานั้นได้ดี แต่ถ้าไม่ก็แค่ลองทำให้ผ่าน ๆ ไปเท่านั้นเอง แต่อย่าลืมว่าค่าใช้จ่ายในการสอบแต่ละครั้งไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว ถ้าจ่ายไหวก็จัดไป แล้วค่อยหาเวลาไปสอบคณะหรือสาขาวิชาที่เราต้องการจริง ๆ เมื่อผลลัพท์ออกมา คะแนนเท่านั้นแหละที่จะเป็นตัวตัดสิน และยังเป็นไอเท็มชั้นดีที่พวกท่านไม่อาจปฏิเสธได้
หากงัดทุกกลยุทธิ์แล้วพ่อแม่ หรือผู้ปกครองยังไม่ใจอ่อน ก็คงต้องยอมทำตามใจท่านไปสัก 1 เทอม หรือ 1 ปี แล้วล่ะ ถือเป็นการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ไปในตัว ระหว่างนั้นอาจลองทำปริญญาตรีใบที่สองควบคู่ไปด้วยเพื่อไม่ให้เสียเวลา
คำแนะนำ แม้จะไม่ใช่คณะที่เราต้องการ แต่การลองพยายามศึกษาก็ดูไม่เสียหายเท่าไหร่ เพราะถือว่าได้ความรู้เพิ่มเติมไปด้วย หากลองเรียนไปสักพักแล้วไม่ไหวจริง ๆ ถึงตอนนั้นพวกท่านคงไม่บังคับเราแล้วล่ะ ถ้าจะเปลี่ยนไปเรียนคณะที่เราต้องการ แม้จะเสียเวลาไปสักหน่อย แต่การศึกษาไม่มีคำว่าสายเกินไป ดังนั้นทำวันนี้ให้ดีที่สุดก็ดูจะเป็นคติประจำใจที่ไม่มีวันตายจริง ๆ
แม้ 5 สเต็ปที่นำเสนออาจไม่ตรงกับสถานการณ์จริงสักเท่าไหร่นัก แต่เชื่อว่าคงมีเค้าลางบ้างไม่มากก็น้อย หากน้อง ๆ ที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ได้อ่านคงช่วยได้มากทีเดียว ในทางกลับกันหากเป็นคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองได้อ่านคงจะลองจับเข่าคุยกับบุตรหลานดูสักครั้ง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแม้พวกท่านจะเลือกสิ่งที่เราไม่ต้องการมาให้ แต่ทั้งหมดก็เพราะความหวังดีทั้งนั้น หรืออาจเป็นทางเดินที่เหมาะกับเราจริง ๆ ซึ่งเราอาจยังมองไม่เห็นก็เป็นได้ ดังนั้นอย่าเอาอารมณ์หรือทิฐิเป็นหลัก เพราะอนาคตไม่ใช่เรื่องล้อเล่น และเวลาเป็นสิ่งมีค่าที่ไม่ว่าจะมีทรัพย์สินขนาดไหนก็ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้ สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ได้เข้าศึกษาต่อคณะที่ต้องการ และประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ทุกคน
เรื่อง : ขนิษฐา สาสะกุล บริษัท iPrice