ในวัยนี้ เบบี๋ใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ทั้ง 5 ของตนในการสำรวจสิ่งแวดล้อม จึงควรเปิดโอกาสให้เบบี๋ได้เล่นหรือทำกิจกรรมโดยใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ทั้ง 5 (Sensory Play) อันได้แก่ การได้ยิน การมองเห็น การได้กลิ่น การลิ้มรส และการสัมผัสต่าง ๆ
การเล่นหรือกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเบบี๋วัยนี้จึงเป็นการเล่นที่ช่วยพัฒนาประสาทสัมผัสต่าง ๆ ของเบบี๋ เช่น โมบายสีสันสดใสสำหรับให้เบบี๋ฝึกมองตาม บริหารกล้ามเนื้อสายตา กรุ๋งกริ๋งสำหรับเขย่าให้เกิดเสียง การได้สูดดมกลิ่นของผักผลไม้ต่าง ๆ ได้เล่นของเล่นที่ใช้กัด ดูด อมได้ (ต้องเน้นความสะอาดและความปลอดภัยเป็นสำคัญ) รวมทั้งได้เล่นได้สัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น สำลีนุ่ม ๆ น้ำอุ่น ๆ ใบไม้กรอบ ๆ ก้อนหินแข็ง ๆ โดยมีผู้ปกครองคอยดูแลและเล่นด้วยอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ การเล่นจ๊ะเอ๋ เล่นหน้าเล่นตา ชวนเบบี๋พูดคุย รวมทั้งการอ่านนิทานภาพให้เบบี๋ฟังก็เป็นกิจกรรมที่เบบี๋ชอบมากและยังช่วยฝึกทักษะด้านภาษาและทักษะทางสังคมของเบบี๋ได้เป็นอย่างดีอีกด้วยค่ะ
เด็กน้อยวัย 1 ปีเริ่มเดินได้แล้ว จึงควรให้เด็กได้เล่นหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก ควรปล่อยให้เด็กได้เดิน ได้เล่นของเล่นที่ลากได้ เช่น รถลาก (อาจทำมาจากใช้วัสดุเหลือใช้ก็ได้นะคะ) ของเล่นที่กด-ดึง-ตอกได้ แท่งไม้ใหญ่ ๆ สำหรับให้เด็กได้ต่อเพื่อส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อและทักษะการคิด เล่นดินน้ำมันแบบไร้สารพิษ เพื่อเด็กจะได้ขยำ ปั้น บี้ กดดินน้ำมันได้ตามใจชอบ (เด็กชอบเล่นปั้นดินน้ำมันมากและการเล่นดินน้ำมันก็ช่วยฝึกการคิดยืดหยุ่น การปรับเปลี่ยนความคิดของเด็กได้เป็นอย่างดี แต่ต้องระวังไม่ให้เด็กนำดินน้ำมันเข้าปากนะคะ)
นอกจากนี้ ควรอ่านและชี้ชวนให้เด็กดูสมุดนิทานภาพเกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เด็กรู้จักและจำได้ ซึ่งการอ่านนิทานให้เด็กฟังบ่อย ๆ จะช่วยเสริมสร้างความผูกพัน ทักษะภาษา และพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กได้อย่างยอดเยี่ยมเชียวค่ะ
ควรปล่อยให้เด็กน้อยวัย 3-5 ปี ได้เล่นอิสระ เล่นกับธรรมชาติ เช่น เล่นน้ำ เล่นดิน เล่นทรายกองโต (การเล่นกับธรรมชาติเป็นเรื่องที่สนุกมาก ๆ สำหรับเด็ก และยังช่วยพัฒนาสมองของเด็ก ๆ ได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วยค่ะ) เด็กจะทำกิจกรรมได้ดีหรือไม่ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้ ได้ฝึกทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ผ่านการเล่นสนุกต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์อยู่เสมอนะคะ เช่น เล่นระบายสีน้ำ ฟังนิทาน ฟังเพลง ร้องเพลง วิ่งเล่น กระโดดโลดเต้น ปีนป่ายเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น ฝึกขี่จักรยาน 3 ล้อ เล่นบอล วาดรูป ฝึกตัดกระดาษด้วยกรรไกรพลาสติก เล่นแท่งไม้ฝึกจับคู่สี
รวมไปถึงการใส่แท่งไม้ในรูปทรงต่าง ๆ ฝึกจับคู่รูปภาพ เล่นสร้างบ้าน ปั้นดินน้ำมัน ต่อบล๊อก เล่นบทบาทสมมติ (การเล่นสมมติเป็นสุดยอดความสนุกของเด็ก ๆ และเป็นการเล่นที่มีงานวิจัยต่าง ๆ รับรองว่าช่วยพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง หรือ EFs-Executive Functions ของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วยค่ะ)
นอกจากนี้ ควรเปิดโอกาสให้เด็กวัย 3-5 ปี ได้เล่นกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน (Peer) เพื่อฝึกทักษะทางสังคมผ่านการเล่นสนุกด้วยนะคะ
ควรส่งเสริมให้เด็กในวัยนี้ได้เล่นกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันให้มากขึ้น เพื่อช่วยส่งเสริมทักษะทางสังคมของเด็ก โดยเด็กจะได้ฝึกได้เรียนรู้กฎกติกามารยาทการอยู่ร่วมกัน การแบ่งปัน การอดทนรอคอย ผลัดกันเล่น ได้พัฒนาการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน
ซึ่งการเล่นที่ควรส่งเสริมในวัยนี้คือ การเล่นอิสระกับเพื่อน เช่น เล่นด้วยกันที่สนามเด็กเล่น หรือจะเล่นเกมที่มีกฎกติกากำหนด เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เล่นด้วยกันเป็นกลุ่ม เช่น เล่นแปะแข็ง เล่นบทบาทสมมติ โดยกำหนดบทบาทว่าใครจะเล่นเป็นอะไร ก็จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ การปรับตัวและการใช้ชีวิตในสังคมกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันได้ดีมากยิ่งขึ้นค่ะ
การเล่นที่เหมาะกับเด็กในวัยนี้คือ การเล่นเกมที่มีกฎกติกากำหนดเพิ่มขึ้น เช่น เล่นบอลด้วยกัน เล่นกีฬาด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการทำตามกฎกติกาการอยู่ร่วมกันในสังคมผ่านการเล่นสนุก และควรให้เด็กได้มีโอกาสได้เล่นหรือทำกิจกรรมที่มีความหลากหลายเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และทักษะชีวิตให้มีมากขึ้น เช่น การไปเข้าแคมป์หรือทำกิจกรรมตามความสนใจของเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี กีฬา งานศิลปะ ร้องเพลง ทำอาหาร ไปค่ายวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
นอกจากนี้ควรให้เด็กได้ฝึกคิดจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ควรจะทำอย่างไร เพื่อฝึกการคิด การตัดสินใจ และทักษะการแก้ปัญหาที่ดีขึ้นด้วยนะคะ
กิจกรรมที่ควรส่งเสริมเด็กในวัยนี้ คือ การออกกำลัง ว่ายน้ำ วิ่ง ขี่จักรยาน เล่นกลางแจ้ง เล่นกีฬา หรือการเล่นสร้างสรรค์อื่น ๆ ตามความสนใจของเด็ก เช่น ศิลปะ ดนตรี งานประดิษฐ์ การอ่านหนังสือ การทำกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อน การเต้น เป็นต้น โดยควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสำรวจความชอบความสนใจ ซึ่งการได้ทำในสิ่งที่หลากหลาย จะช่วยให้เด็กค้นหาความชอบ ความสนใจ และความถนัดของตนเองได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
เด็กเริ่มก้าวเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว จึงควรเปิดโอกาสให้เด็กเล่นดนตรี กีฬา เกม หรือทำงานอดิเรกตามความสนใจ เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ทำอาหาร เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างเป็นระบบระเบียบ มีเหตุมีผล เพื่อพัฒนาการคิดในเชิงนามธรรม และการคิดแบบซับซ้อนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นค่ะ
ครูแป๋ม ฉันทิดา สนิทนราทร เวชมงคลกร
นักจิตวิทยาพัฒนาการ & นักเล่นบำบัด