Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

5 วิธีเเก้ปัญหาเด็กติดมือถือ อย่างได้ผล !

Posted By Plook Parenting | 25 ต.ค. 65
25,277 Views

  Favorite

ปัจจุบันเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารเข้ามามีบทบาทในการชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น โดยเฉพาะมือถือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตและไอแพด ที่พ่อแม่ยุคใหม่หวังที่จะใช้เป็นเครื่องเล่นหรือใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ให้ลูก ซึ่งเด็ก ๆ ส่วนใหญ่ในวัย 2-6 ปี ชื่นชอบมาก เพราะสามารถให้ความเพลิดเพลินด้วยสีสัน แสงสีที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งนักพัฒนาการเด็กและผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตและไอแพด ทำให้พัฒนาการต่าง ๆ ของเด็กล่าช้า !

 

 

โดยเฉพาะ พัฒนาการด้านภาษา และมีโอกาสเสี่ยงเป็นออทิสติกเทียม สมาธิสั้น เพราะเด็กส่วนใหญ่จะถูกปล่อยให้นั่งเล่นคนเดียวเป็นเวลานานทำให้ขาดทักษะการสื่อสารกับผู้อื่นจึงพูดช้า

ส่วนแสงสีที่ปล่อยออกมาจากจอภาพอาจส่งผลเสียต่อสายตา สมอง และ รบกวนการนอนหลับของเด็ก การที่เด็กไม่ได้รับการกระตุ้น พัฒนาการด้านอื่น ๆ อย่างเหมาะสม อาจทำให้การเรียนรู้ช้ากว่าเด็กทั่วไปอีกด้วย เด็กบางคนได้รับการเลี้ยงดูด้วยสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตและไอแพดมาตั้งแต่ยังเล็กจนทำให้เกิด “อาการติด”  ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตว่าลูกมีอาการติดเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้หรือไม่ ดังนี้

 

ภาพ : Shutterstock

 

อาการ

- เมื่อตื่นขึ้นมามักถามถึงมือถือ แท็บเล็ตและไอแพดเป็นสิ่งแรกก่อนทำอย่างอื่น หรือถามถึงบ่อย ๆ ตลอดวัน

- ใช้เวลาเล่นมือถือ แท็บเล็ตและไอแพดเป็นเวลานาน

- ไม่สนใจคนรอบข้าง แม้แต่พ่อแม่เพราะมัวสนใจแต่จะเล่นมือถือ แท็บเล็ตและไอแพดเท่านั้น

- เลิกทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อยากแต่จะเล่นแต่มือถือ แท็บเล็ตและไอแพดเท่านั้น

- แยกตัวจากสังคมในขณะที่เล่นมือถือ แท็บเล็ตและไอแพด

- มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือไม่ชอบใจหากถูกควบคุมหรือห้ามไม่ให้เล่นมือถือ แท็บเล็ตและไอแพด เช่น ร้องไห้ กรีดร้อง กระทืบเท้า ลงไปนอนกลิ้งบนพื้น โมโหรุนแรง ทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น หรืออาการต่อต้านแบบอื่น ๆ

- เมื่อต้องไปทำธุระหรือกิจกรรมอื่น ๆ จะกระวนกระวายใจ เพราะต้องการกลับมาเล่นมือถือ แท็บเล็ตและไอแพด

 

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการเหล่านี้ควรรีบช่วยเหลือและปรับพฤติการติดมือถือ แท็บเล็ตและไอแพด ของลูกอย่างเร่งด่วน เพราะนอกจากจะทำให้ลูกมีปัญหาด้านพัฒนาการแล้ว อาการติดเครื่องมือสื่อสารอาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน จนทำให้ขาดความสุขและขาดการเจริญเติบโตตามวัยที่เหมาะสม

 

วิธีการ

1. หากลูกติดมาก ๆ อาจเริ่มต้นด้วยการจำกัดเวลาเล่น โดยทำข้อตกลงว่าในแต่ละวันลูกจะเล่นได้ช่วงไหนบ้าง ซึ่งต้องทำตามอย่างเคร่งครัด แต่ถ้าลูกมีอาการหงุดหงิดก้าวร้าว คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทน ไม่ดุด่าหรือลงโทษ แต่ให้เหตุผลด้วยน้ำเสียงจริงจัง จะทำให้ลูกค่อย ๆ ลดเวลาการอยู่หน้าจอลงได้

2. เมื่อลูกเริ่มเล่นเป็นเวลามากขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจลองเอาเทคโนโลยีทุกสิ่งออกให้ห่างจากลูก โดยไม่หยิบมาให้เห็นเลย ซึ่งในตอนแรกลูกอาจจะร้องไห้งอแงขอเล่น คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใจแข็ง แล้วหากิจกรรมอื่นให้ทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น วาดรูประบายสี ช่วยคุณยายทำขนม หรือจะเปลี่ยนไปเล่นเกมกระดานที่ช่วยเสริมการเรียนรู้ ที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมเหล่านั้นด้วย

3. หากิจกรรมอื่นทดแทนที่ใกล้เคียงกับเกมที่ลูกเคยเล่น เช่น หากลูกชอบเล่นเกมปลูกผัก ก็อาจจะพาลูกไปปลูกผักจริง ๆ แล้วพูดถึงประโยชน์จากการปลูกผัก ที่สามารถกินได้จริง ๆ ซึ่งต่างจากในเกม จะทำให้ลูกได้เพิ่มประสบการณ์ด้านอื่น ๆ และยังเป็นการฝึกทักษะความเชื่อมโยงอีกด้วย

4. คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยให้กำลังใจและชื่นชมเวลาที่ลูกทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการเล่นมือถือ แท็บเล็ตและไอแพด เพื่อให้เขาเกิดความมั่นใจและอยากที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น

5. คุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัวต้องเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูก โดยไม่เล่นมือถือ แท็บเล็ตและไอแพดต่าง ๆ ให้ลูกเห็นเพราะเขาจะทำตาม แต่หากจำเป็นต้องใช้งานควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าต้องใช้เพื่อทำงาน หรือเพื่อสื่อสารเรื่องสำคัญและเมื่อใช้เสร็จต้องรีบเก็บทันที เพื่อปลูกฝังความเข้าใจให้ลูกว่าเทคโนโลยีมีไว้สำหรับใช้งานเท่านั้น

 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กให้ได้ผล ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ ซึ่งผู้ใหญ่ก็ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยเช่นกัน การมีตัวอย่างที่ดี มีสิ่งแวดล้อมในครอบครัวที่ดี มีเวลาคุณภาพระหว่างกัน และได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมตามวัย เด็กก็สามารถเติบโตมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย มีพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจที่สมบูรณ์ได้ โดยไม่ต้องพึ่งมือถือ แท็บเล็ตและไอแพดมาใช้เลี้ยงดูแม้แต่น้อย

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow